ไอลอว์ ร้อง กมธ.มั่นคง ตรวจสอบ ‘เพกาซัสสปายแวร์’ หลังเคยยื่นในสภาชุดที่แล้วแต่เรื่องเงียบ “โรม” จ่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม-เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 17 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา กลุ่มไอลอว์ นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และเหยื่อที่เคยถูกหน่วยงานของรัฐไทยใช้ เพกาซัสสปายแวร์ (Pegasus Spyware) เจาะระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีละเมิดสิทธิประชาชน
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ในปี 2565 ไอลอว์พบว่า มีประชาชนไทย ทั้งนักศึกษา นักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักการเมืองรวม 35 คน ถูกเจาะระบบโทรศัพท์มือถือเพื่อขโมยข้อมูลโดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า เพกาซัสสปายแวร์ ซึ่งเป็นอาวุธไซเบอร์ที่ผลิตโดยบริษัท เอ็นเอสโอ จากประเทศอิสราเอล และมีขึ้นเพื่อขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น
ซึ่งยังมีรายงานจาก CitizenLab ถึงการตรวจสอบความเชื่อมโยงบนโลกอินเทอร์เน็ตว่า มีหน่วยงานของไทยชื่อว่า ISOC หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับบริษัท เอ็นเอสโอ
เพกาซัสสปายแวร์ เป็นอาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงออกแบบมาเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและการค้ามนุษย์ มีความสามารถในการเจาะและล้วงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือโดยเจ้าของเครื่องไม่รู้ตัว เมื่อถูกเพกาซัสแฝงตัวเข้ามาในเครื่องแล้ว ข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์จะถูกเข้าถึงได้โดยผู้ควบคุมสปายแวร์ และโทรศัพท์จะถูกควบคุมกลายเป็นเครื่องดักฟังหรือเครื่องติดตามตัวได้
การใช้งานต่อประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นร้ายแรง รัฐบาลหลายประเทศบนโลกถูกประชาชนฟ้องร้องฐานใช้งานสปายแวร์นี้เพื่อขโมยข้อมูล ละเมิดความเป็นส่วนตัว
สำหรับในประเทศไทย มีคดีที่ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐไทยรวมทั้งกอ.รมน. ต่อศาลปกครองแล้ว และยังอยู่ระหว่างรอคำสั่ง รับฟ้องจากศาล ส่วนคดีที่นักกิจกรรมไทยยื่นฟ้องบริษัท เอ็นเอสโอ จากอิสราเอลเป็นคดีแพ่ง ศาลแพ่งนัดสืบพยานวันที่ 3-6 และ 10 ก.ย. 2567
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ในปี 2565 ไอลอว์เคยยื่นหนังสือให้กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบข้อมูล และเคยตรวจพบเอกสารการซื้อขายเทคโนโลยีคล้ายเพกาซัสสปายแวร์ของกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดมาแล้ว แต่หลังจากมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่การตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรหยุดชะงักลง
ขณะที่การใช้เทคโนโลยีสอดแนมประชาชนยังไม่หมดไป ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อของสปายแวร์นี้จึงยื่นเรื่องเพื่อขอให้กมธ.ความมั่นคงฯ ทำงานเพื่อสืบสวนหาความจริงต่อว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐไทยยังคงใช้งานสปายแวร์นี้อยู่หรือไม่ ใช้กับผู้ใด ใช้เพื่อสืบสวนหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใด และเป็นการกระทำที่มีกฎหมายใดรองรับหรือไม่
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้สำคัญ ซึ่งเคยมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาฯชุดที่แล้ว เบื้องต้นจะนำเรื่องมาบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในกมธ. รวมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล แต่หากเรื่องนี้ไม่สามารถคลี่คลายได้โดยเร็วคงต้องคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว เครื่องมือทางการทหารเช่นนี้ไม่ควรที่จะถูกใช้กับ นักการเมือง นักกิจกรรมที่ต่อสู้ด้านประชาธิปไตย