“นายกฯ”มอบหมายหน่วยที่เกี่ยวข้องหาทางออกโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ จ.เชียงใหม่ “ชี้”เห็นใจทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ แนะทุกฝ่ายร่วมพูดคุยแก้ปัญหา ด้านโฆษกรัฐบาล ปฏิเสธ รัฐบาล-คสช.ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ ระบุแนวคิดโครงการเกิดขึ้นหลายปีแล้ว

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 สั่งยกเลิกโครงการ พร้อมทั้งคืนพื้นที่และฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณดังกบ่าว ว่า รัฐบาลเห็นใจและเข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่คนในชุมชนรู้สึกหวงแหนและมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และขณะนี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลังในฐานะที่ดูแลที่ราชพัสดุ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลป่าไม้ ตลอดจนกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยรวม รวมทั้งฝ่ายกฎหมายของ คสช.ไปพูดคุยหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับฝ่ายตุลาการ และส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาตัดสินใจต่อไป

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า เรื่องนี้มีแนวคิดเริ่มต้นมาหลายปีแล้ว และรัฐบาล คสช. ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่เพิ่งมาก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างในช่วงนี้ โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาและจะพยายามปรับพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม ทุกฝ่ายจึงต้องหันหน้าพูดคุยกัน ผู้รับเหมาก็น่าเห็นใจเพราะต้องทำตามสัญญาก่อสร้าง” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างบ้านพักตุลาการนี้ เดิมเป็นของกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้สถานที่เพื่อฝึกกำลังพล ต่อมาในปี 2500 กรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. 394/2500 จำนวน 23,787 ไร่ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้ไปขอขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์กับกรมธนารักษ์ ในปี 2540 สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน และกองทัพบกได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ 143 ไร่ได้ในปี 2547 โดยกองทัพได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตามแปลงที่ดินนั้นให้กรมธนารักษ์ จากนั้นในปี 2549 กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว และต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ จากนั้นในปี 2556 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับงบประมาณ จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน