การจัดตั้ง ‘ครม.อุ๊งอิ๊ง 1’ โดยการเขี่ยพรรคพลังประชารัฐ ในขั้วของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่เลือกเก็บกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยตั้งคนนอกในสายของผู้กองเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี
รวมถึงดึงพรรคประชาธิปัตย์ของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เข้าร่วม ท่ามกลางเสียงค้านจากกลุ่มผู้อาวุโสที่นำโดยนายชวน หลีกภัย
เกมนี้ของพรรคเพื่อไทยเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วจะมีผลดี-ผลร้าย มากน้อยกว่ากันอย่างไร?
สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง
อย่าไปพูดก่อนว่าพรรคประชาธิปัตย์แตกเป็นสองขั้ว เพราะเป็นสองขั้วทางความคิด นายชวน หลีกภัย ก็พูดมาตลอดว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่การจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ก็แล้วแต่มติพรรค ตัวเขาเคารพมติพรรค
ดังนั้น จะไปพูดว่าพรรคประชาธิปัตย์แบ่งเป็นสองขั้วเหมือนกับพรรคพลังประชารัฐไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยมีผลเสียอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุดมการณ์ของพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยมาหลายครั้ง สู้กันจนถึงเลือดถึงเนื้อ แต่มารวมกันแบบนี้เหมือนประชาชนถูกหลอกให้จริงจัง แต่พอถึงเวลาเขาก็ซูเอี๋ยมารวมกันได้
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในสายตาตนที่ดูการเมืองมาเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง เป็นพรรคที่อภิปรายเก่ง เป็นพรรคที่มีความกล้าหาญแต่บรรยากาศแบบนั้นไม่มีแล้ว วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ติดการเป็นรัฐบาล แต่เป็นรัฐบาลมาหลายหนก็ไม่ได้สร้างความประทับใจที่คนจดจำ
ฉะนั้นอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ก็เก่งแล้วเพราะบรรยากาศการเมืองปัจจุบันไม่ส่งเสริมพรรคประชาธิปัตย์เลย
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยไม่เอาพรรคพลังประชารัฐกลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่เลือกให้กำนัลกลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยมองว่าพรรคพลังประชารัฐอยู่ร่วมรัฐบาล แต่ก็แทงอยู่ข้างหลังตลอดเวลา
อย่างที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยพูดไว้ว่า 40 สว.มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ ในการยื่นร้องเรียนตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นการลบรอยแค้นกัน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ ของพล.อ.ประวิตร คงยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ และน่าจะเริ่มแล้วคือนำกฎระเบียบต่างๆ มาชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยขาดความซื่อสัตย์ให้เห็นได้เป็นประจักษ์ในการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนอนาคตจะมีสส.กลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ ไปยกมือให้รัฐบาลหรือไม่นั้น ไม่ทราบได้ แต่เมื่อพรรคพลัง ประชารัฐต้องมาเป็นฝ่ายค้าน เพื่อศักดิ์ศรีก็ควรเล่นเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพในการตรวจสอบรัฐบาล หากไปเป็นฝ่ายรอเสียบจะดูไม่มีศักดิ์ศรี
ส่วนการโยงถึงประเด็นจริยธรรมจนอาจนำมาสู่การยื่นร้องนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตีความ เป็นห่วงแทนพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน เพราะการตีความส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาทางพรรคเพื่อไทย นานๆ ถึงจะมีสักครั้ง
ส่วนการเข้ามาทำงานของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องรีบแสดงผลงานทันที ทำให้ประชาชนได้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนไม่มีเวลาที่จะทำ
สติธร ธนานิธิโชติ
ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยสถาบันพระปกเกล้า
ผลดีของการเขี่ยพรรคพลังประชารัฐและดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมงานเป็นการแสดงภาวะผู้นำของพรรคเพื่อไทยว่าไม่ต้องเกรงใจใคร ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย หรือการจัดตั้งรัฐบาลและมีปัญหาที่เคยมีก็แยกทางกัน
แสดงให้เห็นว่าวันนี้เพื่อไทยมีอำนาจพอสมควรในการตั้งรัฐบาลรอบนี้ โดยไม่ต้องกลัวคนบ้านป่ารอยต่อฯ มาทำอะไรอีก
ส่วนการดึงพรรคประชาธิปัตย์ที่ภายในแบ่งเป็น 2 กลุ่มเช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐมาร่วม คิดว่าบรรยากาศในพรรคประชาธิปัตย์ไม่เท่าพรรคพลังประชารัฐ ระดับผู้นำในพรรคอาจแบ่งขั้วคล้ายกัน แต่จำนวนสส. 2 กลุ่ม 21 ต่อ 4 จึงไม่เท่ากับพลังประชารัฐที่แบ่งสส.เป็น 20 ต่อ 20 พลังภายในที่แตกแยกจึงต่างกัน
ดังนั้นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะก่อปัญหากับรัฐบาลน่าจะยากกว่าพรรคพลังประชารัฐ เพราะเสียงแตกไปแค่ 4 คน และจังหวะการดึงพรรคประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมรอบนี้ก็เหมือนเป็นทางออก
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เตะไปทั้งพรรค เพราะสส.อีกครึ่งอยากมาอยู่รัฐบาลและเพื่อไทยก็โอเคกับกลุ่มนี้ ตัวเลขสส.พรรคประชาธิปัตย์กับสส.ที่แยกมาจากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อบวกกับสส.ที่มีอยู่แล้วจะเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าจึงไม่สะเทือนเสถียรภาพรัฐบาล
อีกทั้งก่อนตั้งรัฐบาลรอบแรกที่มีข่าวคนในพรรคประชาธิปัตย์ไปคุยไว้จะได้ร่วมรัฐบาล แต่ถ้าเข้ามาจังหวะนั้นเสียงรัฐบาลเยอะเกินไป การจัดสรรโควตารัฐมนตรีลำบาก รอบนี้ถือโอกาสทำตามที่เคยคุยไว้ก็วินวินไปอีกแบบ
ในส่วนพรรคพลังประชารัฐ การเลือกกลุ่มร.อ.ธรรมนัสหากชั่งน้ำหนักผลดีผลร้ายกลุ่มนี้อย่างไรก็พร้อมรับใช้รัฐบาล ไม่ว่าจะทะเลาะกันแบบเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยภายในพรรค
เมื่อมาเป็นแบบนี้ยิ่งทำให้เห็นว่ากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส มีสส.ในมือกี่คน และเป็นการพิสูจน์ความจงรักภักดีรวมถึงพละกำลังที่จะมาหนุนเสริม ตรงนี้พรรคเพื่อไทยแฮปปี้ไม่ได้มีปัญหา และไม่ต้องกังวลกับการเลือกกลุ่มร.อ.ธรรมนัส
แต่หากถึงฤดูกาลเลือกตั้งแล้วกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส ย้ายกลับมาอยู่เพื่อไทยอาจมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน แต่ถ้าเลือกไปอยู่พรรคกล้าธรรมก็จบ เป็นการแข่งกันโดยไม่ต้องแย่งเป็นตัวแทนพรรค และเป็นปัญหาที่เพื่อไทยต้องไปบริหารจัดการเอง
ส่วนที่คาดการณ์กลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ อาจมีงูเห่ายกมือโหวตให้เพื่อไทยในอนาคตนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้และเป็นธรรมชาตินักการเมือง ใครก็อยากร่วมรัฐบาล
แต่ก็ต้องมีสปิริตในทางการเมือง เลือกอยู่กับลุงเพราะเคยอุ้มชูกันมา บุญคุณจึงต้องทดแทน แต่ถ้าอยู่แล้วอดอยากปากแห้งก็อาจแปรเปลี่ยนใจ บุญคุณทดแทนพอแล้วขอไปทำมาหากินต่อ
ในขณะที่อายุของพลังประชารัฐขึ้นอยู่กับพล.อ. ประวิตร ถ้ายังแข็งแรงก็อาจสู้ต่อและต้องดูว่ามีพลังดึงดูดคนให้มาร่วมงานได้อย่างไร
ช่วง 3 ปี ของอายุรัฐบาล อาจสร้างความหงุดหงิดกวนใจให้กับพรรคเพื่อไทยได้เป็นระยะ แต่มีอิทธิฤทธิ์แค่ไหนก็ยังใช้ไม่ได้หมดเพราะเป็นช่วงที่พรรคเพื่อไทยได้ไฟเขียวเดินหน้าพิสูจน์ผลงานว่าจะทำตามที่คุยไว้ได้หรือไม่
และเมื่อถึงช่วงของการวัดผลงานเครื่องมือของพล.อ.ประวิตร อาจแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ แต่ถ้าท้อแท้และยอมถอยก็จบ
ส่วนประเด็นจริยธรรมที่มีการพูดขึ้นมานั้นคงไม่ขนาดนั้น วันนี้มีแค่สส.ครึ่งเดียวของพลังประชารัฐที่ผิดหวัง ที่เหลือแฮปปี้หมด โอกาสจะไปเตะตัดขากันในช่วงที่ทุกคนแฮปปี้เกิดขึ้นยาก
ส่วนอายุรัฐบาลจะอยู่ได้จนครบวาระหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับว่าปีแรกทำงานผ่านหรือไม่ วัดผลกันปีเดียวถ้าผ่านก็อยู่ถึง 3 ปี ถ้าไม่ผ่านก็ต้องดูปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงต่อไป
พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
การที่พรรคเพื่อไทยดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลก็ไม่ต่างกับก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยคือต้องการเป็นรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าจะทำให้พรรคถูกครหาไม่รักษาหลักการ
การเลือกดึงเฉพาะบางกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกเป็น 2 ขั้วมาร่วมรัฐบาล แน่นอนว่าจะกระทบการทำงานของรัฐบาล ที่สำคัญคือเกียรติศักดิ์ศรีของพรรคการเมือง และจุดยืนทางการเมือง
ต้องยอมรับว่าเมื่อกลับเข้ามามีอำนาจพรรคเพื่อไทยไม่แตะต้องผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเดิม รวมถึงกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลัง และยังมีประเด็นที่อีกฝ่ายตามเล่นงานได้อยู่
ในขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงส่งคนไปฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ซึ่งคิดว่าคงจะมีเรื่องมาให้เล่นงานกันได้ตลอด แต่ไม่ได้หมายถึงความ ถูกต้องชอบธรรมที่จะไปยื่นร้อง เพราะตอนนี้ความชอบธรรมไม่เหลือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่พร้อมจะเอาตัวรอดอย่างเดียว
ที่สำคัญเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลประโยชน์ของ พล.อ.ประวิตรอย่างเดียว แต่เป็นพวกพ้องที่ปีกหลุดออกมาด้วย
และอย่าลืมว่ามีสัญญาณค่อนข้างชัดเจนมาตั้งแต่กรณีการหลุดจากตำแหน่งของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มองได้ว่ากลุ่มที่เคยให้การช่วยเหลือนายทักษิณวันนี้ดูเหมือนดีลจะจบลงแล้ว
จากนี้ไปรัฐบาลที่นำโดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นเป้าหมายที่กลุ่มอำนาจเดิมจะเล่นงานต่อไป ก็คงขึ้นอยู่กับว่านายทักษิณจะเอาอะไรไปแลก