‘ศิริกัญญา’ อัด งบปี 68 ตัดงบที่ไม่ควรตัด แนะ ปรับลดงบประมาณลง เหตุมีแนวโน้มจัดเก็บรายได้ไม่ตามเป้า ชงหั่นงบ 2 แสนล้าน รองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท โดยเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรา
โดยมาตรา 4 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า สำหรับกระทรวงที่ถูกตัดงบสูงสุด คือ 1.รัฐวิสาหกิจ ถูกตัดลดงบลงครึ่งหนึ่งจากที่ขอมา
ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถูกตัดงบประมาณทั้งหมด เนื่องจาก ธกส.ของบประมาณมา 2 ส่วนคือส่วนที่อยู่ในแผนชำระหนี้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้ถูกตัด แต่ที่ถูกตัดคือส่วนที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์
2.กระทรวงอุตสาหกรรม ถูกปรับลดงบประมาณลงเกือบ 7% โดยที่ถูกตัดไปคือโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟ 3.กระทรวงการคลัง 4.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการตั้งงบซ้ำซ้อน คือ เซลล์บรอดแคสต์ ที่จะช่วยเตือนภัย กมธ.จึงตัดไป 200 ล้านบาท เนื่องจากไปซ้ำซ้อนกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย 5.กระทรวงพลังงาน 6.สำนักนายกรัฐมนตรี และ 7.กระทรวงกลาโหม รวมแล้วได้มา 4 หมื่นกว่าล้าน
อย่างไรก็ตาม งบประมาณในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ควรตัดก็ไปตัด โดยเป็นงบที่ต้องใช้ในการชำระหนี้ให้กับธนาคารของรัฐที่ดำเนินนโยบายให้กับรัฐบาล ตามมาตรา 18
ขณะที่บางโครงการที่สมควรถูกตัด เพราะไม่มีเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนกลับไม่ตัด เช่น โครงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ถกกันในห้องอนุกมธ.ว่า ใช้งบประมาณทำคอนเทนต์สำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่ราคาสูงเกินจริง
ยืนยันว่าเราควรต้องมีการปรับลดงบประมาณในปี 2568 ลง เนื่องจากเราไม่ได้มีความสามารถหรือกำลังมากพอที่จะใช้จ่ายมากถึง 3.75 ล้านล้านบาท เนื่องจากงบประมาณและประมาณการรายได้ในปี 2568 ถูกประมาณการไว้ในเดือนธ.ค. 2566 ที่ตอนนั้นมีการตั้งงบประมาณไว้ 3.60 ล้านล้านบาท และบอกว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ 2.88 ล้านล้านบาท
ซึ่งตอนที่ประมาณการรายได้ไว้เท่านี้ เพราะเราคิดว่าเศรษฐกิจจะโต 3.2% และจะโตถึง 3.6% แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนมามาก คือ เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง และบอกว่าเศรษฐกิจจะโตเพียงแค่ 2.5% ในเดือนพ.ค. 2567 ที่ตั้งงบขาดดุลสูงเกือบชนเพดาน ขาดเพียงแค่ 5 พันล้านบาท หนี้สาธารณะสูงขึ้นเกือบ 66% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4%
แม้เหตุการณ์จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่งบประมาณของปี 2568 ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเลย โดยเฉพาะประมาณการรายได้ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ฉะนั้น จึงสมควรที่จะปรับลดงบประมาณลง
ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรพสามิต ในปี 2567 ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดเก็บรายได้ได้ประมาณ 5.98 แสนล้านบาท แต่เก็บจริงได้ไม่น่าเกิน 5.30 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการปรับลดภาษีน้ำมันเพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ และในปี 2568 ก็ตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่าจะจัดเก็บรายได้ถึง 6.09 แสนล้านบาท เพราะนโยบายอุดหนุนภาษี EV ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างใด จากการที่เราไม่สามารถจัดเก็บภาษีของบุหรี่ได้ตามเป้า ด้วยเหตุผลดังกล่าว ตนจึงขอปรับลดงบประมาณอีกราว 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 3.55 ล้านล้านบาทเศษ เนื่องจากเพื่อความระมัดระวังและรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต