ปชน.จี้ถามค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทมีจริงหรือไม่-ปรับเมื่อไหร่ ‘พิพัฒน์’ ยันตั้งใจปรับ 1 ต.ค.เหตุเกิดปัญหาประชุมไตรภาคีล่ม ยอมรับเป็นเทคนิค เชื่อนายจ้างไม่อยากปรับ เพราะสภาวะเศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 26 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) ถาม รมว.แรงงาน
เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ ที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 รมว.แรงงาน ประกาศว่าจะมีการปรับค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศ เป็น 400 บาทต่อวันแน่นอน ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ก็เทผู้ใช้แรงงานอย่างน้อย 4 ครั้ง เพราะการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างล่ม ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ทุกคนก็รู้ว่าจะมีการประชุมเพื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
นายเซีย กล่าวต่อว่า ผู้ใช้แรงงานฝากผมมาว่านี่เป็นการเมืองเล่นละครตบตากันใช่หรือไม่ เล่นละครเพื่อบ่ายเบี่ยง การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช่หรือไม่การประชุมจึงล่มแล้วล่มอีก ขอถามจากใจว่ารัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นที่จะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทจริงๆ หรือไม่ และปรับขึ้นเมื่อไหร่ และกลุ่มเอสเอ็มอีจะมีการปรับหรือไม่
ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า ยืนยันว่าตนมีความตั้งใจปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.67 แต่ตนเชื่อว่า ผู้ใช้แรงงานคงทราบดีว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาลตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน ที่กำหนดไว้ในนนโยบายว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทในปี 2570 ซึ่งตนยึดถือมาตลอด แม้จะเปลี่ยนนายกฯ เป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้จะไม่ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ในนโยบาย แต่ตนถือว่าสิ่งที่รับโจทย์มาจากรัฐบาลนายเศรษฐา
ตนมั่นใจและพร้อมเดินหน้าต่อไป และการประชุมไตรภาคีเพื่อพิจารณาเรื่องค่าจ้าง หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 เราก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ฉะนั้น วันที่ 16 ก.ย. ทุกคนก็ทราบว่าฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 คน และวันที่ 20 ก.ย. มีการประชุมอีกครั้ง หากผู้เข้าประชุมครบ 2 ใน 3 เราสามารถโหวตได้ทันที แต่ก็ไม่สามารถประชุมได้
ถือเป็นเรื่องที่นอกเหนือสิ่งที่ตนกำกับหรือบังคับได้ เพราะรมว.แรงงาน ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงและเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ และการที่ตนให้สัมภาษณ์ เป็นการให้นโยบาย ไม่ใช่การแทรกแซง
การที่มีผู้มาประชุมไม่ครบในวันที่ 20 ก.ย. หากจะพูดว่าเป็นเทคนิคก็ได้เพราะ หากมีการประชุม เชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะหมดได้ แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้น ฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน ฝ่ายรัฐบาลถ้ามีครบ นอกเหนือจากตัวแทนธปท.ไม่เข้าประชุม
ขอถามสมาชิกว่าถ้ามีการประชุมในวันนั้น ผู้ที่จะเสียหายคือกลุ่มใด แน่นอนฝ่ายนายจ้างก็ไม่อยากขึ้นค่าแรง เพราะสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้พวกเราทุกคนทราบ สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างคือดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริงนอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ
“ผมคิดว่าในรัฐบาลมีหลายฝ่ายที่พยายามจะเจรจากับทางธปท.ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือฝ่ายนายจ้าง ซึ่งตลอดเวลา ธปท.อ้างว่า หนี้สินครัวเรือนเราสูงมาก ผมไม่เถียง แต่ถามว่าวันนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของภาครัฐ มีปล่อยกู้ให้ใครได้บ้าง เต็นท์รถมือสองทยอยปิดตัวเองตลอดเวลา และการยึดรถมีการยึดมาจนล้นลานจอดรถ” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ ชี้แจงอีกว่า การที่เราปรับไซส์แรงงาน 200 คน แรงงานไทยได้ประโยชน์ประมาณ 1.7 ล้านคน แรงงานต่างด้าว 5.4 แสนคน ฝ่ายนายจ้างก็จะได้รับผลกระทบ ฝ่ายนายจ้างจะได้รับผลกระทบต่อคนประมาณ 72.78 บาท กระทบค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว หากถามว่าเราพักภาระตรงนี้ไปให้กับเอสเอ็มอีหรือไม่
ถ้าเอสเอ็มอีล้ม ความรับผิดชอบก็อยู่ที่กระทรวงแรงงาน เพราะประกาศแบบปูพรม แต่ถ้าเราประกาศ ไซส์ L ไปก่อน หลังจากนั้นมากู้เอสเอ็มอี เมื่อสถานะของเอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่าปีนี้เอสเอ็มอีจะไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยทางกระทรวงมีนโยบายว่าในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องปี 2568 เราจะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะเอสเอ็มอีอีกครั้งหนึ่ง ตามที่อนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้กับทางกระทรวง
“ผมมีความมุ่งมั่นก้าวแรกให้จบไปให้ได้ก่อนคือ ค่าแรงขั้นต่ำของเดือน ต.ค.นี้ให้จบที่ 400 บาท เมื่อเราประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทจบแล้ว ผมจะขอชี้แจงให้ทราบว่าเราจะมีไทม์ไลน์ที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนอกเหนือจากนี้อีกเมื่อไหร่ เพราะถ้าจะพูดว่ามีไทม์ไลน์ 1,2,3,4,5 แล้วผมไม่ดูถึงสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกาศไปก็เป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จจริงก็อาจไม่ถึง 600 บาทก็ได้ แต่ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ชาวแรงงานต้องอยู่ให้ได้” รมว.แรงงาน กล่าว