พริษฐ์ ยัน แก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำ 2 เส้นทางคู่ขนาน จัดทำรธน.ฉบับใหม่-แก้รายมาตรา ชง 7 แพ็กเกจ เผย พรรคประชาชน ยินดีพักแก้จริยธรรม
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงจุดยืนของพรรคในการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คู่ขนานกับยื่นร่างแก้ไขเป็นรายมาตราว่า พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า 2 เส้นทางแบบคู่ขนาน คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อีกเส้นทางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
แต่เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อทำให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
ที่ผ่านมาพรรคประชาชนได้นำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามาโดยตลอด โดยแบ่งชุดประเด็นออกเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่ แพ็กเกจที่ 1 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ประกอบด้วย 1.1 ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับ คสช.
1.2 ทลายเกราะคุ้มกันประกาศและคำสั่ง คสช. ด้วยการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ
1.3 ป้องกันการรัฐประหารด้วยการเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร เช่น คุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจจากประชาชน
เพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันทางการเมืองในการร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร และเพิ่มราคาสำหรับผู้ก่อการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร
กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องผู้ก่อการรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ ทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอด ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่ในอนาคต
แพ็กเกจที่ 2 ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ประกอบด้วย 2.1) ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เสนอให้แยกกลไกตรวจสอบเรื่องจริยธรรมออกมาจากกลไกตรวจสอบเรื่องการทุจริต ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร และกำหนดให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตนเอง รวมถึงยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีจริยธรรม
2.2 ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน จำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองตายยาก โดยการทบทวนฐานความผิดและอัตราโทษให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วน
แพ็กเกจที่ 3 เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต ประกอบด้วย 3.1 ป้องกันการสมคบคิดกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. โดยตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนตามข้อร้องเรียนหรือไม่ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นแค่ทางผ่านในการส่งทุกเรื่องร้องเรียนไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
3.2 เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมืองแบบช่องทางเร่งด่วน (Fast-track) เสนอเพิ่มอำนาจให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อร้องเรียนนักการเมืองที่กระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ โดย ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและไต่สวนให้เสร็จภายใน 180 วัน
3.3 ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่างโปร่งใส (Open Data) 3.4 เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้เปิดโปงการทุจริต
แพ็กเกจที่ 4 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ประกอบด้วย 4.1 สิทธิการศึกษา ขยายสิทธิเรียนฟรีที่ถูกรับประกันในรัฐธรรมนูญจาก 12 ปี เป็นอย่างน้อย 15 ปี โดยครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
4.2 สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยกระดับสิทธิของประชาชนในการดำรงชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน
4.3 สิทธิความเสมอภาคทางเพศ เสนอให้รัฐธรรมนูญรับประกันความเสมอภาคทางเพศภายใต้ความหลากหลายทางเพศ โดยปรับข้อความจาก “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มาเป็น “บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศใด มีสิทธิเท่าเทียมกัน”
4.4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ยกระดับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับสิทธิการประกันตัว หากไม่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าจะหลบหนี และยกระดับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงทนายความที่รัฐจัดหาให้ 4.5 เสรีภาพในการแสดงออก
4.6 เงื่อนไขการจำกัดสิทธิ ปรับเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนให้สอดคล้องกับหลักสากล และตัดเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” หรือ “ความสงบเรียบร้อย” ที่อาจถูกตีความเกินขอบเขต
แพ็กเกจที่ 5 ปฏิรูปกองทัพ ประกอบด้วย 5.1 ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร 5.2 จำกัดขอบเขตอำนาจศาลทหาร โดยกำหนดให้อำนาจศาลทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีการประกาศสงคราม
แพ็กเกจที่ 6 ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา ประกอบด้วย 6.1 ยกระดับกลไกกรรมาธิการ ปลดล็อกอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลภายนอกมาชี้แจง เพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่กำลังพิจารณาศึกษา
6.2 ปรับนิยามฝ่ายค้าน ปลดล็อกความเป็นไปได้ที่ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ จะมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
6.3 เพิ่มอำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างการเงิน ปลดล็อกให้สส.เสนอร่างกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ โดยไม่ต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
แพ็กเกจที่ 7 ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 7.1 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ
รวมถึงกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการทำประชามติก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาชนเข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น ระบบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา หรือมาตรฐานทางจริยธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง
ดังนั้น ในฐานะนักการเมือง พรรคประชาชนยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกประเด็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบระบบการเมืองในภาพรวมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
ยืนยันว่าการแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่ได้เป็นการแก้เพื่อตัวเอง แต่เป็นไปเพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้มาตรฐานจริยธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง กระทบต่อทั้งเสถียรภาพและความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของระบบการเมือง และส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ถึงแม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ณ เวลานี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่อยากให้ร่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่นๆ
หากพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่พรรคประชาชนยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา คู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างแก้ไขเหล่านี้จะถูกมองว่าสุดโต่งหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าแพ็กเกจเหล่านี้ ไม่มีเรื่องใดสุดโต่ง และเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรนมนูญฉบับนี้
เมื่อถามว่ามองว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาลมีความล่าช้าหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนอยากให้รัฐบาลชี้แจงโรดแม็ปให้ชัดว่า การจัดทำประชามติ 3 ครั้ง วางกรอบเวลาไว้อย่างไร มองว่าถึงแม้หากทําตามกรอบเวลาอย่างรวดเร็วที่สุด ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ทันการเลือกตั้งในปี 70
ฉะนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมาคุยถึงการเดินคู่ขนาน คือ การแก้ไขรายมาตรา และยืนยันว่าปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะการมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ไม่ได้ทำให้เราไปแก้ไขปัญหาอย่างอื่นไม่ได้
เมื่อถามว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้จะส่งผลอย่างไร เพราะรัฐบาลเคยบอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องให้ประชาชนตัดสินผ่านคูหาเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายอะไรไว้ ก็ถือเป็นสัญญาประชาคมกับประชาชน หากรัฐบาลไม่สามารถรักษาสัญญา ประชาชนก็สามารถลงโทษผ่านการเลือกตั้งได้