มติสภาท่วมท้น 348 เสียง แย้งแก้เกณฑ์ประชามติ ของวุฒิสภา ตั้งกมธ.ร่วมกัน 28 คน ขณะที่ ภท.อภิปรายหนุนสว. ด้าน พท.-ปชน.ค้านเกณ์ข้างมาก 2ชั้น

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 9 ต.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนให้สภาฯ พิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137 โดยสส.ต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับสว.หรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภามีการแก้ไขหลักเกณฑ์ประชามติรัฐธรรมนูญ

นายภราดร แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯว่า หากสภาฯเห็นชอบด้วยกับวุฒิสภา ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 ต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นชอบให้แต่ละสภาตั้งบุคคลประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ร่วมกัน เพื่อพิจารณา และเสนอรายงานต่อสภาทั้งสอง เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรา81 หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งไว้ก่อน มาตรา 137 (3)

ทั้งนี้ มีสส.ที่อภิปรายแสดงความเห็นทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาชน (ปชน.) เห็นแย้งกับบทบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไข ในประเด็นเกณฑ์การผ่านประชามติ ซึ่งกำหนดให้การทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกิดความยุ่งยากต่อการใช้บังคับและงบประมาณ

และยังเห็นว่าแม้สส.ไม่เห็นชอบกับที่วุฒิสภาแก้ไข ก็สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาในชั้นของกมธ.ร่วมกัน เพื่อให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ทันใช้บังคับตามไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก ในเดือนก.พ.68

ขณะที่ สส.ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายเห็นต่างออกไป โดยเห็นด้วยกับการแก้ไขเกณฑ์ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญของ สว. เพราะการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ หากไม่เซ็ตอะไรไว้ จะใช้สิทธิอะไรอ้างว่าสมควรแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผู้คนออกมาใช้สิทธิถึง 29 ล้านคน มีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน

นนพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนสนับสนุนสภาฯ ให้ยืนยันหลักการที่รับไปแล้ว ส่วน สว. จะรับหลักการหรือไม่ไปเจรจากันเอง คิดว่าทำได้ หากไม่ทำจะเสียหาย ต่อให้มีใบสั่งมา ไม่เชื่อว่าจะรอดตาประชาชนได้ พรรคที่กลับไปกลับมาจะเสียหาย ขาดความศรัทธาจากประชาชน

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากกำหนดเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง2 ชั้น เท่ากับว่าจะนับรวมผู้ลงมติไม่เห็นชอบกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิรวมกันปิดประตูตอกฝาโลงแก้รัฐธรรมนูญ หากจะเปิดประตู ต้องทำประชามติอย่างเดียวกันกับประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ตั้งเกณฑ์ใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4

ต่อมาเวลา 16.05 น. หลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมลงมติ ไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไข 348 เสียง เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จำนวน 28 คน สัดส่วนกมธ.สส. 14 คน สว. 14 คน

สำหรับรายชื่อ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…… ในส่วนของ สส.มีจำนวน 14 คน ได้แก่

พรรคประชาชน (ปชน.) 4 คน คือ 1.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายปกป้อง จันวิทย์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4.นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนไอลอว์

พรรคเพื่อไทย (พท.) 4 คน ได้แก่ 1.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ และ 4.นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 2 คน ได้แก่ 1.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และ 2.นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์

นอกจากนี้ ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

ส่วนรายชื่อ สว.อีก 14 คน คาดว่าจะได้รายชื่อในการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 15 ต.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน