กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย (พท.) เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยยก 6 พฤติการณ์ที่เข้าข่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลาย

มีความเห็นจากนักวิชาการ ดังนี้

นายมุนินทร์ พงศาปาน
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากคำร้องของนายธีรยุทธ หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อาจนำไปสู่การเปิดช่องฟ้องร้องต่อในชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เหมือนกับกรณีพรรคก้าวไกลที่โดนยุบพรรค ซึ่งเริ่มต้นจากการวินิจฉัยตามมาตรา 49 ก่อน

อย่างที่ทราบกันว่า คำวินิจฉัยที่ผ่านมาค่อนข้างกว้าง จนกระทั่งเกิดความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนขอบเขตการกระทำว่าการล้มล้างการปกครองเป็นอย่างไรกันแน่

ฉะนั้นบรรทัดฐานหรือตัวอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ของพรรคก้าวไกล รวมทั้งกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ทำให้การตีความมาตรา 49 ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน เป็นช่องที่ทำให้มีผู้ร้องมาตราเหล่านี้เรื่อยๆ

หากดูจากข้อสรุปของสื่อในกรณีที่นายธีรยุทธ ยื่นร้องต่อศาล นายธีรยุทธระบุว่านายทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่ร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนของนายทักษิณ รวมทั้งการครอบงำพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล หรือการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ก็ดี

หรือแม้กระทั่งการระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 ซึ่งเราต้องถามต่อว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร เพราะยังมีความสับสนในการร้อง เช่น การระบุว่านายทักษิณครอบงำพรรคเพื่อไทย

มองว่าการครอบงำพรรคเป็นการนำมาซึ่งอำนาจรัฐ ไม่ใช่การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง เพราะการล้มล้างการปกครองต้องเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ให้มีอยู่

หรือต้องการให้มีการปกครองอย่างอื่นเข้ามา แต่ข้อเท็จจริงเป็นการกระทำของนายทักษิณให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง

แม้ขณะนี้นายธีรยุทธจะยังไม่ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย แต่อาจนำคำวินิจฉัยไปดำเนินการภายหลังต่อในชั้น กกต. เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา 28 และ 92

อย่างไรก็ตาม ดูตามข้อกฎหมายมองว่ายังไม่เป็นการครอบงำพรรคเพราะต้องเป็นการกระทำที่ชัดเจนและมีหลักฐานด้วย

ขณะเดียวกัน จะไปมองเพียงฝ่ายนายทักษิณอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูฝั่งของพรรคเพื่อไทยด้วยว่ายอมให้ตนเองเป็นหุ่นเชิด หรือการขาดความเป็นอิสระของการทำหน้าที่ของ สส.หรือไม่ หรือเป็นเครื่องมือของนายทักษิณมากน้อยแค่ไหน และต้องมีความชัดเจน ฉะนั้นจะไปยุบพรรคด้วยเหตุนี้ คิดว่าไม่ได้

ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่าเป็นพฤติกรรมจากการร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคก้าวไกลเดิม ซึ่งมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วพรรคการเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด หากตรงไหนมองว่าทำไม่ได้ผิดขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถไปฟ้องต่อศาลได้

ประเด็นการยุบพรรคการเมือง จริงๆ แล้วไม่ควรเกิดขึ้นเลย เพราะตามหลักสากลจะต้องเป็นการล้มล้างการปกครอง ที่หมายถึงการใช้กำลัง การใช้ความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อนำไปสู่การปกครองอื่น แต่ประเทศไทยมีเหตุให้นำไปสู่การยุบพรรคมากกว่านั้น

หากจะใช้เหตุต่างๆ ควรใช้ด้วยความเคร่งครัด และต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นหนา มีความชัดเจนจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำเพียง 2-3 การกระทำ แล้วต้องสั่งยุบพรรค

สุดท้ายแล้วไม่ว่าองค์ประกอบจะไม่มีความชัดเจนอย่างไร แต่หากเป็นคำวินิจฉัยที่กว้างมาก ขาดความชัดเจน จะเป็นการเปิดช่องให้ใครมายื่นก็ได้

นอกจากนั้นในแต่ละครั้งที่มีการฟ้องร้องทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลถูกสั่นคลอน ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง

จากแนวทางวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีไว้ในคดีก่อนๆ คงหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้บางคดีที่เรามองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เช่น กรณีของนายเศรษฐา และพรรคก้าวไกล

เราคงอยู่กับความไม่แน่นอนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในระบบการเมืองและระบบกฎหมายของประเทศไทย

นายยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การที่นายธีรยุทธไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สำคัญ ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลยหรือ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องไปยื่นต่ออัยการสูงสุด หรือหากยื่นแล้ว ยังสามารถร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้

การยื่นคำร้องก็ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมือง เมื่อดูทั้ง 6 พฤติการณ์ที่ร้อง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่วิจารณ์ในสังคมอยู่แล้ว บางเรื่องแทบจะไม่มีสาระอะไรเลย

เรื่องที่มีน้ำหนักที่สุดอาจเป็นเรื่องที่นายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แต่เรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งรายงานไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการกันอยู่แล้ว ฉะนั้นการร้องครั้งนี้เป็นการร้องผิดที่หรือเปล่า

ส่วนอีก 5 ข้อพฤติการณ์ที่ร้องมาไม่มีสาระอะไรเลย เช่น ข้อ 2 มีความใกล้ชิดสมเด็จฮุนเซน ยังไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานว่ากระทำแล้วกระทบต่อประโยชน์ของชาติ และเป็นส่วนของนายทักษิณ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย

ข้อ 3 พรรคเพื่อไทยร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน (ปชน.) ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองที่เป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่บัญญัติตามมาตรา 256 สส. สว. จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร มีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ จะโยงไปยังการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร ที่สำคัญการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่สำเร็จด้วย

ข้อ 4 การคุยกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า คนร้องไปรู้ได้อย่างไรว่าบรรดาผู้ใหญ่คุยเรื่องอะไรกัน การที่บอกว่าครอบงำพรรคจะต้องมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน และมีหลักฐานที่ชัดเจน การเข้าไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้าอาจไปแค่กินข้าวกันก็ได้ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่มีหลักฐานอะไรที่ชัดเจน

ข้อ 5 ที่มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล มองไม่เห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองตรงไหน แต่เป็นกระบวนการปกติตามรัฐสภา

ส่วนข้อ 6 การที่พรรคเพื่อไทยนำวิสัยทัศน์ของนายทักษิณไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยทั่วไปแล้ว หากใครแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ แล้วใครนำไปใช้เป็นนโยบาย กลายเป็นว่าบุคคลที่แสดงวิสัยทัศน์เป็นบุคคลที่ครอบงำพรรคการเมืองแล้วหรือ จึงมองว่าไม่มีสาระอะไร

วัตถุประสงค์ของการร้องจึงเป็นเป้าหมายในเรื่องการเมืองมากกว่า คงไม่ได้หวังผลให้มีผลทางกฎหมาย แต่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ หรือให้เกิดปัญหาต่อการบริหารมากกว่า

แม้คำร้องเหล่านี้จะดูไม่มีสาระ แต่หลายๆ เรื่องที่ไม่มีสาระกลับถูกยกให้มีสาระเสมอ ดังนั้น การที่คำร้องเหล่านี้จะสัมฤทธิผลได้ต้องมีทั้งผู้ส่งและผู้รับ คือ ผู้ร้องและผู้พิจารณาต้องไปในทิศทางเดียวกัน องค์กรที่เกี่ยวข้องจึงควรใช้วิจารณญาณหากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ

20 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง นำกฎหมายมาใช้ในการเมือง ที่บางคนเรียกว่า ‘นิติสงคราม’ มองว่าควรยุติได้แล้ว เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่สร้างสรรค์ แต่การตรวจสอบเรื่องทุจริต หรือการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ หรือละเมิดประชาชน ต้องทำอย่างเข้มข้นต่อไป

ส่วนคำร้องครั้งนี้จะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่นั้น หากเปรียบเทียบกับพรรคก้าวไกล ในขณะนั้นพรรคก้าวไกลมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 และนำไปใช้หาเสียงเลือกตั้ง และมีผู้คนในพรรคบางส่วนที่ไปประกันตัวผู้ต้องหาในคดี 112 ตรงนี้ต่างกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีลักษณะดำเนินการใดๆ ที่กระทบต่อมาตรา 112 จึงเป็นคนละกรณีกัน

หากถึงขั้นเลวร้ายนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย มองว่าสถานการณ์การเมืองเกิดความวุ่นวายพอสมควร อาจต้องมีสส.ย้ายพรรค

แต่ในแง่ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ คงไม่มีผลกระทบอะไร เพราะเพิ่งมาดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐบาลก็ไปได้ต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน