“ปริญญา” ชี้ ควรเปิดโอกาสให้ “เพื่อไทย” ชี้แจงก่อน เหตุ กกต. รับคำร้องยุบพรรค พท. มอง
การตีความ “ชี้นำ” กว้างเกินไป

20 ต.ค. 67 – ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ที่เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม

จากเหตุ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมือง ยินยอมให้ นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่า คำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง เย็นวันนั้น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เรียกพรรคร่วมรัฐบาลประชุมกันที่บ้านจันทร์สองหล้า เข้าใจว่า เพื่อให้รวดเร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า นายกฯ คนต่อไปจะเป็นใคร เพื่อไม่ให้เกิดการพลิกขึ้น แต่ปัญหาคือ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.) ในมาตรา 28 ไม่เคยมีมาก่อน

คำถามคือ การที่ นายทักษิณ เรียกประชุมนั้น จะถือเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำหรือไม่ กกต. รับคำร้องแล้ว ข้อต่อไปต้องดูว่า กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับตอนที่ยื่นพรรคก้าวไกล หรือจะใช้มาตรา 93 ที่ต้องมีการไต่สวนเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงก่อน โดยหลักที่ควรจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อน ในการต่อสู้ต้องสู้ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ถูกครอบงำ ควบคุม หรือชี้นำ

“คำว่า ควบคุม ครอบงำ อาจจะพิสูจน์ง่าย แต่ ชี้นำ คำมันกว้าง อยู่ที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า ที่ นายทักษิณ เชิญมาประชุมเข้าข่ายเป็นการชี้นำหรือไม่ หากเข้าข่ายการเมืองก็ต้องดูต่อไปว่า ถึงขนาดที่ทำให้พรรคการเมือง สมาชิกพรรค กับสมาชิกพรรค ขาดอิสระเลยหรือไม่ หากใช่ก็จะกลายเป็นปัญหา” รศ.ดร.ปริญญา กล่าว

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ต้องรอฟังกันต่อไปว่า กกต. รับคำร้องแล้ว จะมีคำสั่งให้พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ มาชี้แจงเมื่อไหร่

ส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

รศ.ดร.ปริญญา ระบุหากมีการพิจารณาก่อน จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักในคดีที่ กกต.หรือไม่ นั้นว่า การใช้กฎหมายคนละช่องทาง เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามรัฐมาตรา 49 ที่ระบุแค่ว่า ให้หยุดการกระทำ
ไม่ได้ขอให้ไปยุบพรรค ซึ่งคำร้องมุ่งไปที่ นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ส่วนคำร้องที่ กกต. ไม่ได้ร้อง นายทักษิณ เพราะไม่ใช่สมาชิกพรรค ต้องดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการต่ออย่างไร หากวินิจฉัยว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจริง ทาง กกต. จะต้องทำคำร้องใหม่ในการยุบพรรค ไม่สามารถทราบได้ว่า คำร้องไหนจะพิจารณาตัดสินก่อนและหลัง

“หากเป็นเรื่องของการถูกร้องในเรื่องการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องรอฟังว่า ศาลฯ จะกำหนดขั้นตอนในการไต่สวนอย่างไร และในส่วนของ กกต. ในชั้นคำร้องยุบพรรค ให้เราฟังก่อนว่า กกต. จะยื่นตรง หรือไต่สวนก่อน ส่วนตัวเชื่อว่า ต้องไต่สวนก่อน เพื่อให้มีข้อเท็จจริงมากกว่านี้” รศ. ดร. ปริญญา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน