แกนนำรัฐบาลตบเท้า ขึ้นตึกไทย ประชุมนายกฯอิ๊งค์ ถกปมเอ็มโอยู44 ‘อนุทิน’ เผยต้องเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จับมือพัฒนาพื้นที่ทางทะเลร่วมกัน ชี้เจรจาจนกว่าจะยุติ ย้ำไม่เกี่ยวเกาะกูด

เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 4 พ.ย.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ทยอยเดินทางขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ห้องสีเขียว ร่วมกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่องรมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมฯ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา เข้าร่วม เพื่อติดตามการทำงาน ปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 15.20 น. นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์หลังหารือพรรคร่วมรัฐบาล ว่า วันนี้หารือถึง MOU 44 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มาชี้แจงในทางเทคนิค และเล่าให้ฟังว่าต้องตั้งคณะกรรมการให้พรรคร่วมรัฐบาลฟัง เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละครั้งคณะกรรมการจะสิ้นสุดลงไปด้วย โดยรัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามาจึงอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการ MOU 44 ยังมีผลอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้รับรายงานหลังจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พูดคุยกับผวจ.ตราด ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หลังเกิดกระแสในเรื่องนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า อ.เกาะกูด เป็นของไทย และไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่จะทำให้เกิดความสงสัยและไม่มั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของแผ่นดินอื่น ขอย้ำว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย

ส่วนที่มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาจะเพราะเหตุผลอะไรไม่ทราบ และ MOU 44 ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเกาะกูด แต่เป็นการลงนามทำข้อตกลงหาวิธีพัฒนาพลังงานในอ่าวไทยในพื้นที่ทางทะเล ไม่ได้พูดถึงพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา กรอบมีอยู่เท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องการแบ่งเขตแดน ต้องรีมูฟ ยกเรื่องเกาะกูดและเขตแดนออกไปเพราะไม่เกี่ยวกัน เรื่องนี้เป็นพื้นที่ทางทะเล

เมื่อถามว่าแต่มีการพูดถึงทรัพยากรใต้ทะเล นายอนุทิน กล่าวว่า กัมพูชาลากมาเส้นหนึ่ง ไทยลากไปเส้นหนึ่ง จึงเป็นที่มาที่ต้องมี MOU ต้องมีคณะกรรมการของทั้งสองประเทศ เพื่อไปเจรจาหาข้อยุติ ทำให้เส้นที่ต่างคนต่างลากเห็นตรงกันทั้งสองฝ่าย ถ้ายังไม่เห็นตรงกัน ต้องเจรจากันต่อไป เขาตีเส้นมาปี 2515 เราตี 2516 แต่เขาตีเฉียงมาทางประเทศไทยเยอะ

“โดยที่เราตีลงไปทางด้านล่าง เมื่อไม่เท่ากันจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อน จึงต้องมาคุย โดยกำหนดกรอบว่าจะหาบทสรุปอย่างไรในพื้นที่ทับซ้อน แต่ตอนนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ ต้องคุยกันต่อไป ทุกอย่างต้องเจรจา ไม่ใช่เรากำหนดเพียงฝ่ายเดียว ถ้าเจรจารอบหนึ่งไม่ได้ก็ต้องเจรจารอบ 2, 3, 4 ไปเรื่อยๆ ในระหว่างเจรจา จะต้องมาคุยว่าจะพัฒนาร่วมกันได้ไหม โดยคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ สุดท้ายต้องจบที่การเจรจา จนกว่าจะได้ข้อตกลง”นายอนุทิน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน