สนธิญา ยื่นเพิ่ม ขอศาลรธน. วินิจฉัย ปมรัฐบาลแจกเงินหมื่นไม่ตรงปกกับนโยบายพรรคเพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้ง พร้อมให้ ‘แพทองธาร’ หยุดปฏิบัติหน้าที่
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นำเอกสารเพิ่มเติมเข้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากครั้งที่เคยยื่นไว้เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ที่รัฐบาลดำเนินโครงการแจกเงิน 10,000 บาทแตกต่างจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 โดยมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การแจกและกลุ่มบุคคล
ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการการเลือกตั้งสส.2561 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ หากศาลรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัย ขอให้สั่งให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
นายสนธิญา กล่าวว่า เอกสารเพิ่มเติมที่นำมายื่นต่อศาลในวันนี้ เป็นหลักฐานที่ทำให้ศาลเห็นว่า นโยบายดิจิทัล10,000 บาท รัฐบาลไม่ได้ทำแม้แต่ประการเดียว การทำที่ผ่านมาทำในรูปแบบของการแจกเงินโดยใช้รูปแบบเดียวกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ซึ่งขณะนั้นการแจกเงินทำเพราะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นกลับคืนขึ้นมาแล้วนักท่องเที่ยว 31 ล้านคน
ตนจึงไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินในโครงการดังกล่าว ที่สำคัญ กลุ่มคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าจะได้รับเงินตามนโยบายดิจิทัล 10,000 บาทนั้น วันนี้คนกลุ่มนี้ผิดหวังไปแล้ว 40 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมาย 56 ล้านคน และการแจกของรัฐบาลไม่ตรงปก จึงขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 พ.ร.ป.ว่าด้วยการการเลือกตั้งสส. 2561
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังไม่ชัดเจนว่าประเด็นนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐบาลแจกเงินหมื่นและแจกให้เฉพาะผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่นโยบายที่หาเสียงไว้คือ จะแจกเป็นเงินดิจิทัล ผ่านระบบสื่อสารออนไลน์และให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร เขากำลังพยายามสืบเสาะหาเอกสาร แต่มันจะเกินระยะเวลา60 วันที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ร้องเสียโอกาสยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีหนังสือแจ้งกลับมาให้ตน ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเลย
นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้กกต. ระบุว่าได้สอบถามพรรคเพื่อไทยไปแล้วและเห็นว่าพรรคเพื่อไทยทำถูกต้อง แต่ตนอยากถามกลับว่ากรณี น.ส.แพทองธาร ออกมายืนยันว่าจะทำดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปแล้วทำไม่ได้ กกต.จะรับผิดชอบอย่างไร หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคเพื่อไทยกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ต้องรับผิดชอบด้วย ไม่เช่นนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ละพรรคก็จะแข่งกันประกาศนโยบายที่พอถึงเวลาแล้ว ทำให้เป็นจริงไม่ได้ สุดท้ายประชาชนก็เบื่อหน่ายการเมือง เพราะนักการเมืองโกหก
“ผมไปดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าช่วงอายุของคนที่มากที่สุดในขณะนี้คือ 20-45 ปี มีเกือบ 35 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้ให้เขาเลย ไม่รวมคนอายุ 16-24 ปีซึ่งมี 7 ล้านคน ถ้ารวมคนกลุ่มนี้แล้ว จะอยู่ที่ 37-40 ล้านคน คนกลุ่มนี้ไม่ได้เงินตามที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยประกาศ เท่ากับหลอกเขา ถามว่าคนเหล่านี้ได้เลือกพรรคเพื่อไทยไปแล้วทำอย่างไร คนที่ได้เงินไปแล้ว ผมแสดงความยินดีด้วยแต่คนที่ไม่ได้ รัฐหรือพรรคเพื่อไทยจะชดเชยอย่างไร”
สำหรับเอกสารที่นำมายื่นวันนี้เป็นคำร้อง 4 ฉบับที่เคยยื่นต่อกกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 เพื่อให้ตรวจสอบนโยบายหาเสียงดังกล่าว รวมถึงหนังสือตอบกลับจากผู้ตรวจการแผ่นดินที่นายสนธิญา มองว่าทำให้ตนเองสามารถมาใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้