คนดีขับ 90

ใบตองแห้ง

“ผมจะจ่ายไปเรื่อยๆ 500 บาท 500 บาทแล้วก็ 500 บาท ทุกครั้งไป เพราะถนนโล่ง ถนนกว้าง ถนนดี รถผมก็สภาพดี ผมคาดเข็มขัดนิรภัยเรียบร้อย ผมปลอดภัยแน่นอน ประกอบกับผมมีธุระเร่งด่วน ระยะทางอีกยาวไกล ไม่ใช่ช่วงเทศกาล 90 ก.ม. ต่อ ช.ม. ผมคง ไปไม่ทัน ขอบคุณที่ใส่ใจส่งให้ถึงบ้าน ยินดีครับ!!”

หลายวันก่อน พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม รอง ผกก.ป. สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ “สารวัตรเอก” ขวัญใจชาวบ้านค้านคำสั่ง คสช.ห้ามนั่งท้ายกระบะ โพสต์ภาพใบสั่งขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด ที่ส่งมาถึงบ้าน พร้อมคอมเมนต์ที่คนเห็นด้วยล้นหลาม

90 ก.ม. ต่อ ช.ม. ใช้บนทางหลวงได้จริงหรือ ให้ขับ 80-90 ตามกันไป มีหวังหลับในชนท้ายกันสันตะโร (ยกเว้นเทศกาล ขับได้ 40-50 ก็บุญโข)

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จำกัดความเร็วรถส่วนบุคคลในเขตเทศบาลไม่เกิน 80 ก.ม.ต่อ ช.ม. นอกเขต 90 ก.ม. ต่อ ช.ม. มอเตอร์เวย์ 120 ก.ม.ต่อ ช.ม. เพียงแต่ตำรวจ “อนุโลม” ให้ขับบนทางหลวงสายหลัก 110-115 ก.ม.ต่อ ช.ม.

“อนุโลม” ซึ่งไม่มีอะไรแน่นอน เพราะบางคนขับแค่ 100 เศษๆ ก็โดนใบสั่ง อดีตผู้การทางหลวงเคยให้สัมภาษณ์ว่า ยังจำกัด 90 เพียงตั้งเครื่องตรวจจับ 110-120 เพื่อป้องกัน ความผิดพลาดและลดการโต้เถียงกับประชาชน

การบังคับใช้กฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นเกินความจำเป็น ฝืนความเป็นจริง แถมกติกาบังคับใช้ไม่แน่ไม่นอน ประชาชน ก็เดือดร้อนสิครับ ในทางกลับกันก็เกิดความไม่ยุติธรรม บางคนขับ 105 โดนใบสั่ง แต่บางคน 140-150 ยังลอยนวล เพราะเป็นช่วงไม่มีกล้อง

ความไม่แน่นอนยังเห็นคาตาบนทางด่วน ติดป้ายไฟ 80 ชาวบ้านสงสัย ห้ามขับเกิน 80 หรือห้ามต่ำกว่า 80 เพราะถ้ารถ ไม่ติด ไม่มีต่ำกว่า 80 ซักคัน

ว่าตามความเป็นจริงที่ปฏิบัติมาหลายสิบปี คนใช้รถกับตำรวจก็อยู่กันแบบอนุโลม คือรู้ว่าไม่ควรขับเกิน 115-120 แต่ถ้าถนนโล่งถนนดีแอบเหยียบ 130-140 (อย่าให้จับได้ก็แล้วกัน) จนคนใช้รถเยอะขึ้นๆ รถรุ่นใหม่เร็วขึ้นแรงขึ้น คนนิสัยทรามก็เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน เกิดอุบัติเหตุสะเทือนใจบ่อยครั้ง ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ก็เข้ามาจัดระเบียบ รณรงค์ กวดขัน ถือเป็นภารกิจสำคัญ อันยิ่งยวดขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปีใหม่ สงกรานต์ กลายเป็นเทศกาล “ห้ามตาย”

คือถ้าปีไหนตัวเลขคนตายพุ่ง ก็กลายเป็นภาครัฐที่ รับผิดชอบ “เสียหน้า” และจะต้องไล่เบี้ยไล่จี้หามาตรการ เข้มงวดยิ่งๆ ขึ้นไป

พูดอย่างนี้ไม่ใช่แอนตี้ มีหลายเรื่องที่ได้ผล เช่นเมาขับ จับขังจนเข็ดไปเยอะ แต่บางเรื่องเช่น “ขับช้า” ถ้าแค่รณรงค์ไม่ว่ากัน แต่ถ้าถึงขั้นเกิน 90 แล้วโดนจับ อย่างที่หลายคนโดน ก็ฝืนความเป็นจริง เกินจำเป็น และลักลั่นในความยุติธรรม

“ขับช้า” นี่คนส่วนใหญ่อยากให้เติมว่า “ชิดซ้าย” ด้วยนะ เพราะบนทางหลวงทางด่วนไปดูเถอะ ขับช้าตามกันอยู่เลนขวา อยากเร็วกว่าต้องแซงซ้าย

ไม่ใช่ตะแบงว่าขับเร็วไม่อันตราย คนขับรถเป็นรู้ว่าขึ้นกับสภาพถนน ถ้ามีรถมีคนมีมอเตอร์ไซค์ขวักไขว่ แค่ 90 ก็อันตราย ถ้าทางด่วนดึกๆ รถโล่งไฟสว่าง 140 ก็ไม่อันตราย แต่วันก่อนตอนเย็นรถเป็นแพ เห็นคาตา ไม่รู้เดนนรกมาจากไหน 140 แซะซ้ายปาดขวาเหมือนเล่นเกมคอมพิวเตอร์ (แล้วรอดไป)

คือคนขับเร็วนิสัยเลวมีแน่ แต่คนขับเร็วขับดีมีเยอะไป บังคับใช้กฎหมายทีไร คนส่วนใหญ่ที่เป็นฝ่ายหลังเดือดร้อนทุกที ไม่ใช่แค่เรื่องขับรถ แต่ประเทศนี้ แทบทุกเรื่องที่บังคับใช้กฎหมาย คนเลวหาช่องได้เสมอ

สังเกตไหม การรณรงค์อะไรก็ตาม เหล้า บุหรี่ ความปลอดภัย “คนดี” ที่ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ และส่วนใหญ่ขับรถไม่เป็น หรือขับช้า กลับเสียงดังกว่าคนทั่วไป โดยอาศัยความเป็น “ผู้หวังดี”

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนหนึ่งก็ชอบให้ออกกฎเข้มงวดไว้ก่อน เพื่อผลักให้ประชาชนต้องปฏิบัติ เช่นห้ามนั่งท้ายกระบะ หรือห้ามโน่นห้ามนี่จนไม่อยากเล่นสงกรานต์ จะได้ลดภาระ รับผิดชอบ

เรื่องความเร็วยังดีนะ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติคิดจะ แก้กฎหมายเพิ่มเป็น 105-110 มีคนไปโหวตผ่านศูนย์โซเชียล มีเดียเชียร์ท่วมท้น 85% (ส่วนใหญ่อยากได้มากกว่าด้วยซ้ำ) แต่ยังไม่รู้จะถูกต่อต้านไหม เพราะอย่าลืม ผู้หวังดีที่เป็นเสียงข้างน้อยเสียงดังกว่าเสมอ

กฎหมายจราจรเหมือนเรื่องเล็ก แต่ก็เป็นภาพสะท้อนระบบกฎหมาย มีหลายข้อห้ามข้อบังคับที่ ไม่สอดคล้องความจริง หวังดี แต่ปฏิบัติไม่ได้ เป็นช่องให้ฉ้อฉล ลักลั่น แล้วก็ทำให้คนไม่เคารพกฎหมาย

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน