โรม ชวนจับตา 29 ม.ค.นี้ กฟภ.ถกตัดไฟส่งเมียนมาหรือไม่ สมช.ขอเข้าประชุมด้วย เหตุกระทบความมั่นคง ตั้งอนุกมธ.ศึกษาปัญหาค้ามนุษย์-คอลเซ็นเตอร์ กรอบ 90 วัน เสนอแนวทางต่อสภา-รัฐบาล

เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมการแก้ไขปัญหาการฟอกเงินการใช้บัญชีม้า และการซื้อขายไฟฟ้าบริเวณชายแดนแม่สายว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยได้รับแจ้งด้วยวาจาว่า มอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุม

ทางมหาดไทยไม่ได้ส่งตัวแทน เนื่องจากติดภารกิจลงพื้นที่จ.สงขลา ซึ่งตนอยู่ระหว่างติดตามไปที่มหาดไทย ว่าติดภารกิจอะไร เพราะไม่มีใครเป็นตัวแทนกระทรวงมาชี้แจงต่อกมธ.

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญคือ มีการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ประมาณ 17 จุด หลายจุดอยู่ที่เมียนมา และอาจสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการยาเสพติดหรือไม่ โดย 2 จุดสำคัญที่มีการพิจารณาและให้น้ำหนัก อยู่ในพื้นที่ทางแม่สอด ขายไฟไปยังเมียวดี และพื้นที่แม่สาย จ.เชียงราย ไปยังท่าขี้เหล็ก ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติด ที่มีการจับกุมและอยู่ระหว่างดำเนินคดีของกระบวนการยุติธรรม

จุดแรกฝั่งแม่สอด เราได้ข้อมูลสำคัญว่า บริษัทคู่สัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคือ บริษัท SMTY โดยพันตรี ติ่งวิน เป็นระดับแกนนำของกองกำลัง BGF หรือ KNA และเข้าใจว่า พันโท หม่อง ชิตตู เป็นแกนนำคนสำคัญ ซึ่งกองกำลังกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่เมียวดี หมายความว่า เราจะเห็นข้อต่อสำคัญว่า บริษัท SMTY มีความเกี่ยวโยงกับกองกำลังที่ดูแลในพื้นที่เมียวดี

ดังนั้น แทบไม่ต่างกับการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำสัญญาขายไฟให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยตรง และจุดที่สองคือ ทางแม่สาย ผ่านไปยังท่าขี้เหล็ก วันนี้มีการเปลี่ยนคู่สัญญา ปรากฏว่ามีบริษัทใหม่เข้ามาทำหน้าที่ชื่อ แอสตร้าอิเล็คทริค จดทะเบียนในปี 2566 แต่มีความน่าสงสัย เพราะทุนจดทะเบียนมีแค่ 1 ล้านบาท และคีย์แมนของบริษัทนี้เป็นสุภาพสตรี อายุค่อนข้างน้อย ไม่แน่ใจว่ามีเบื้องหลังหรือประสบการณ์อย่างไร ในการเข้ามาทำสัญญากับการไฟฟ้า เบื้องต้นยังไม่มีการเซ็นสัญญา

แต่การไฟฟ้าได้ตอบคำถามกับกมธ.ว่ามีการคัดเลือกคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บอกว่า ทางการไฟฟ้าท่าขี้เหล็กเสนอมา เขาก็เอามาพิจารณาเบื้องต้น จึงดูค่อนข้างแปลกประหลาดว่าทำไมการไฟฟ้าต้องไปยอมรับตามที่ทางท่าขี้เหล็กเสนอมา แทนที่จะใช้อำนาจของเราตรวจสอบก่อน ซึ่งตามหลัก KYC ควรจะต้องดูเบื้องหลังของคู่สัญญา ที่มาทำสัญญาขายไฟฟ้าด้วย จึงต้องสงสัยว่ามีการขายไฟฟ้าให้กับนอร์มินีของกลุ่มที่เป็นเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กมธ.พยายามถามหลายครั้ง แต่การไฟฟ้าไม่มีข้อมูลชี้แจงว่าจะตัดไฟเลย เท่าที่ตนทราบจะมีการประชุมในวันที่ 29 ม.ค.นี้ โดยมี 3 แนวทางคือ 1.การไฟฟ้าอาจคงสภาพการขายไฟแบบนี้ต่อไป โดยไม่ได้สนใจว่าไฟนี้จะตกไปอยู่ในมือของใครบ้าง 2.ต่อขยายสัญญาบางส่วน (ปัจจุบันสัญญาสัมปทานของ SMTY กำลังจะหมดลง) 3.การตัดไฟ ทำให้ไฟฟ้าไม่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมืออาชญากรข้ามชาติ

3 แนวทางนี้ เป็นไปได้หมด การไฟฟ้าไม่สามารถให้ข้อมูลกับกรรมาธิการได้ว่า ผลที่ออกมาจากจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอการประชุมบอร์ด และคนที่มีอำนาจตัดสินใจในบอร์ด ก็ไม่ได้มาประชุมด้วยในวันนี้ ทำให้ไม่สามารถทราบได้

นายรังสิมันต์กล่าวว่า การไฟฟ้าพยายามบอกว่าไม่มีศักยภาพดูเรื่องความมั่นคง เพราะดูแค่เรื่องไฟ ไม่รู้ว่าไฟของเขาจะตกไปในมืออาชญากรหรือไม่ ก็จำเป็นต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นคนช่วยชี้แนะ ดังนั้น สมช.จึงแจ้งด้วยวาจากับการไฟฟ้าว่าจะขอเข้าประชุมด้วย เพราะสิ่งที่มีการดำเนินการอยู่ตอนนี้ ค่อนข้างกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งกมธ.ความมั่นคง ก็จะทำหนังสือสนับสนุน สมช. ไปยังการไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ การไฟฟ้าไม่อยากตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ขอลองฟังจากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทำให้ไม่สามารถตัดไฟก่อนได้ แต่กมธ.อยากให้การไฟฟ้ารับฟังข่าวสารที่เมียนมาแถลงว่า ที่สแกมเมอร์ตั้งกันอยู่ได้ เกิดจากการที่ประเทศไทยขายไฟให้ การไฟฟ้าต้องเอาข้อมูลส่วนนี้ไปพิจารณาด้วย และคาดหวังว่าวันที่ 29 ม.ค. จะมีข่าวดีในเรื่องนี้ และนำไปสู่การตัดไฟ เพื่อทำให้ขบวนการอาชญากรข้ามชาติ มีความอ่อนแอมากขึ้น

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ต้องมีการหารือปัญหาท่าข้าม ที่ข้ามไปยังเมียวดี โดย สมช. แจ้งว่า จ.ตาก มี 59 ท่าข้าม ซึ่งอาจมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนลดจำนวนท่าข้ามเหล่านี้ เนื่องจากไม่สามารถดูแลปัญหาความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยวันที่ 31 ม.ค. สมช.จะมีการประชุม ก็คาดหวังว่าจะนำไปสู่การปรับลดแก้ปัญหาท่าข้าม

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้วในการประชุมสภามีผู้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งได้ข้อสรุปในสภาว่าจะส่งเรื่องมาที่กมธ.มั่นคงฯ ซึ่งกมธ.จะตั้งอนุกมธ.ขึ้นมา มีนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน เป็นประธานอนุกมธ. ชุดดังกล่าว มีกรอบศึกษาภายใน 90 วัน

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่คนไทย แต่คนทั่วโลก การท่องเที่ยวของไทยก็เสียหาย ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่เราต้องจัดการอย่างจริงจัง ทางกมธ.ทำเองไม่ได้ เราไม่มีอำนาจสั่งการ แต่หวังว่าครม.โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่คุมการไฟฟ้า อยากให้ใช้โอกาสนี้เร่งรัดเพื่อดำเนินการ” นายรังสิมันต์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน