รมต.สุชาติ ชี้แจง 4 มาตรการ แก้ปัญหาราคามันสำปะหลัง ได้ผล ย้ำ พาณิชย์ เดินหน้าขยายตลาดส่งออกมัน เผย เกษตรกรมั่นใจราคาดีขึ้น
วันที่ 31 ม.ค. 2568 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ให้มาตอบกระทู้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาของ นายบุญแก้ว สมวงศ์ สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับประเด็นมันสำปะหลัง
โดยตนได้ชี้แจงว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ปัญหาราคามันสำปะหลัง ด้วยเหตุเนื่องจากปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งออกมากในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2568 ประกอบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในปี 2567 ลดลงเหลือเพียง 6.46 ล้านตัน
กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 67/68 จำนวน 4 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 368.90 ล้านบาท ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 เพื่อดึงอุปทานในช่วงออกสู่ตลาดมาก สร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนการผลิต ดังนี้
1.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง วงเงิน 300 ล้านบาท เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด โดยจะชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ 4% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก 60 -180 วัน ระยะเวลาเก็บสต็อก 1 ม.ค. – 30 พ.ย. 68 ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 พ.ค. 68 ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 98 ราย ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ
2.ชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร รวบรวมมันสำปะหลัง วงเงิน 17.50 ล้านบาท เป้าหมาย 2 แสนตัน ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อรับซื้อมันสำปะหลังในอัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี (สถาบันเกษตรกร 1% รัฐบาลชดเชยให้ ธ.ก.ส. 3.50%) เริ่มจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่ 17 ธ.ค. 67- 31 พ.ค. 68
3.สนับสนุนการแปรรูปหัวมันสำปะหลังเป็นมันเส้น วงเงิน 10 ล้านบาท โดยสนับสนุนเครื่องสับมันขนาดเล็ก เป้าหมาย 650 เครื่อง เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท ให้กลุ่มเกษตรกรนำไปแปรรูปเป็นมันเส้นได้ด้วยตนเอง และจำหน่ายแก่ผู้ซื้อโดยตรง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากหัวมันสดเป็นมันเส้นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น (หัวมันสดราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม มันเส้น 5.50 บาทต่อกิโลกรัม
4.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 67/68 วงเงิน 41.40 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ระบบน้ำหยด วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมาย 3,000 ราย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ย MRR (6.975%) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้ดำเนินการขยายตลาดส่งออกโดยในช่วงต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมาได้มีการลงนามการลงนามสัญญาซื้อขาย (Purchasing Order) และบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าของประเทศจีนแล้วรวมทั้งสิ้น 980,000 ตัน (คิดเป็นหัวมันสด 3.96 ล้านตัน) มูลค่ารวม 8,083 ล้านบาท
ในส่วนของการเพิ่มการใช้ภายในประเทศ กรมการค้าภายในเจรจาร่วมกับหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผลักดันให้ภาคปศุสัตว์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้มันเส้นในการเลี้ยงสัตว์และสูตรอาหารสัตว์มากขึ้น
โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศแทนการนำเข้าที่ขณะนี้ราคาอยู่ในระดับที่สามารถปรับเพิ่มสูตรผสมมันสำปะหลังเข้าไปได้ โดยตั้งเป้ารับซื้อ 1 ล้านตัน คิดเป็น 2.5 ล้านตันหัวมันสด
ขณะนี้พบว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ ได้มีการใช้มันเส้นมาผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.2567 ถึง 15% และจะเพิ่มขึ้นอีก 15% ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2568 นี้ จากผู้ผลิตมันเส้นสะอาดกว่า 40 รายทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของสมาคมผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังเพิ่มช่องทางการตลาดโดยเปิดจุดรับซื้อเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการรับซื้อในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขายผลผลิตในราคาต่ำกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากผลผลิตออกกระจุกตัวและผู้ประกอบการมีไม่เพียงพอรองรับผลผลิต ได้ดำเนินโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าพืชไร่
โดยการดึงผู้ผลิตจากนอกพื้นที่เข้ามารับซื้อ สนับสนุนค่าบริหารจัดการในอัตราไม่เกินตันละ 500 บาท ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าไปรับซื้อที่เป้าหมายรวมทั่วประเทศ 2 แสนตัน โดยเกษตรกรในพื้นที่จะได้รับราคานำตลาดส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในเดือนม.ค. – ก.พ. 2568
การดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2568 ถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการเปิดจุดรับซื้อใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ แต่มีผู้ประกอบการโรงงานผู้ผลิตรับซื้อน้อยราย จึงได้ประสานผู้ประกอบการจาก จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมันเส้นและแป้งมันที่สำคัญ เข้าไปช่วยเปิดจุดรับซื้อจำนวน 8 จุด ในพื้นที่ 4 อำเภอ (ไทรโยค 4 จุด อำเภอเมือง 2 จุด บ่อพลอย 1 จุด ด่านมะขามเตี้ย 1 จุด)
ใน จ.กาญจนบุรี เกษตรกรมาขายผลผลิตแล้ว 150 ราย ผลผลิต 800 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการเปิดจุดเพิ่มเติมในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร
ผลจากการดำเนินการปรากฏว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าขายนอกโครงการ ที่เชื้อแป้ง 25% ในราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาตลาดทั่วไปอยู่ที่ราคา 1.60-1.70 บาทต่อกิโลกรัม
“จากการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งการผลักดันส่งออก เพิ่มการใช้ภายในประเทศและเพิ่มการแข่งขันรับซื้อในพื้นที่ที่มีปัญหาทางด้านราคาส่งผลให้ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรจำหน่ายได้ไม่ลดต่ำลงไป
โดยราคามันเส้นเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ณ วันที่ 28 ม.ค. 2568 ราคา 5.50-5.95 บาทต่อกิโลกรัม สูงขึ้นจากเดือนธ.ค. 2567 ที่ 5.40-5.60 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 4%) ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหัวมันสดที่เกษตรกรจำหน่ายได้มีแนวโน้มที่จะขยับสูงขึ้นในอนาคต และสุดท้ายต้องขอขอบคุณ ท่านสมาชิกที่มีความห่วงใยปัญหาของประชาชน” นายสุชาติ กล่าว