มท. ยัน รัฐบาล ประเมินผลกระทบแล้ว ตัดไฟ 5 จุด สั่งทุกจังหวัดไม่สนับสนุนผู้ทำผิดกฎหมาย ปูด กาญจนบุรี ขอใช้ไฟเพิ่ม เสี่ยงเป็นฐานผลิตยาเสพติด
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม (ปธ.)
สอบถามนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ถึงมาตรการรับมือ หลังที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติตัดไฟ ตัดน้ำมัน และตัดสัญญาณโทรคมนาคม ที่ประเทศไทยส่งไปยังประเทศเมียนมา 5 จุด แต่เนื่องจากนายอนุทิน ติดภารกิจจึงมอบ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย มาตอบกระทู้แทน
โดยนายกัณวีร์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้รับข้อมูลว่า มีประชาชนจากประเทศเมียนมาเข้ามาที่ประเทศไทยเพื่อตุนเสบียงต่างๆ เช่น น้ำมัน เพื่อนำไปใช้กับเครื่องปั่นไฟ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาระหว่างที่จะมีมติดังกล่าวออกมา และมีการโยนกันไปมาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ได้สร้างความเสียหายไปกว่า 2.8 พันล้านบาท หรือกว่า 1 หมื่นคน
จึงขอถามว่า หลังจากมีมติตัดสิ่งต่างๆ แล้วนั้น ได้มีการประเมินสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ มีผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมถึงจะสามารถป้องกันแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ การที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และนายอนุทินไปคุยกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปพูดคุยกันเรื่องอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่ อย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ตนมีความกังวลเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหา เพราะประเทศเราเป็นประเทศทางผ่าน ซึ่งบริเวณชายแดนเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนผ่านศูนย์สั่งการชายแดนที่อยู่รอบประเทศไทย จึงอยากทราบว่ามีมาตรการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างไร มีศักยภาพเพียงพอและเตรียมความพร้อมไว้หรือไม่
บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แถวชเวก๊กโก ผาลู เคเคพาร์ก พญาตองซู ที่เขาเจริญเช่นนี้ เพราะผ่านประเทศไทยทั้งนั้น ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจชายแดนที่เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราคงจะปิดไม่ได้ แต่ต้องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องท่าข้ามให้ดี และอยากสอบถามว่า ท่านมีมาตรการใดหรือไม่ในการที่จะแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน ชายฝั่งทะเล เกาะแก่ง เตรียมความพร้อมที่จะป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีการสั่งไปบ้างแล้วหรือไม่
“ผมอยากให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และประเทศไทยจะต้องไม่ใช่ประเทศทางผ่านของกระบวนการต่างๆ อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมันใหญ่กว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน จึงอยากให้รัฐบาลไทยพิจารณานำความร่วมมือระหว่างประเทศในเวทีระหว่างประเทศ ในการต่อสู้และต่อกรกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงนโยบายค่อนข้างเฉียบขาดในเรื่องนี้ เราจึงควรเอาโอกาสนี้ในการแสวงหาความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกระบวนการค้ามนุษย์ได้ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน เพราะจากที่เราอยู่ในเทียร์ 2 อาจจะตกไปอยู่ในเทียร์ 3 ได้” นายกัณวีร์ กล่าว
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่เคยหยุดทำงานและพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ส่วนที่เราตัดไฟไปแล้ว ทางการไฟฟ้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยได้ดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทางการไฟฟ้าได้ให้ข้อมูลและชี้แจงว่า มีการทำสัญญาเป็นคู่สัญญากับผู้ซื้อไฟในบริษัทที่เป็นผู้รับสัมปทานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเมียนมา ที่เรามีสัญญากับเขา แต่จุดที่เราสามารถยกเลิกสัญญาได้ คือ การผิดสัญญา อาจเป็นการไม่จ่ายค่าไฟ การค้างชำระต่างๆ และประเด็นที่สำคัญคือเป็นภัยต่อความมั่นคง
จึงเป็นที่มาว่า เมื่อเราได้รับข้อมูลว่าไฟที่ถูกนำจ่ายไปในจุดต่างๆ นั้น อาจจะถูกไปสนับสนุนเรื่องที่ผิดกฎหมาย เราจึงได้ตรวจสอบ และมีการส่งหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยไปถึงหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ย้ำว่าเราคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงพยาบาล บ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โรงเรียน ศาสนสถาน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เขาจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม การกระทำการใดๆ ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบที่สุด และเป็นไปด้วยการคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมมากที่สุด ฉะนั้น เราทำงานขับเคลื่อนมาโดยตลอด และเป็นความห่วงใยขั้นสูงสุดของนายกฯ ว่าต้องเร่งจัดการในเรื่องนี้ อย่าไปปัดความรับผิดชอบว่าจะเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือของกระทรวงใด หน้าที่ของใคร
แต่วันนี้เราต้องมานั่งประชุม เพื่อหาทางออกร่วมกัน จึงเป็นมติที่ประชุมสมช.ออกมา ทั้งนี้ หลังจากที่ตัดไฟไปแล้ว ทางฝั่งประเทศเมียนมามีความวุ่นวายที่จะต้องเร่งหาน้ำมัน เพื่อจะมีไฟใช้ต่อ และก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า เราเป็นห่วงกลุ่มเปราะบางหรือผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่อยู่ในโรงพยาบาลว่า หากเราตัดไฟไปเลยจะเกิดผลกระทบกับพวกเขาทันที
ฉะนั้น เราจึงแจ้งโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยหนักไปก่อน เพื่อให้นำผู้ป่วยหนักเหล่านั้นเข้ามารักษาในฝั่งไทย ซึ่งเรายินดีต้อนรับและเตรียมบุคลากรทางการแพทย์เอาไว้แล้ว
ขณะนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม รวมถึง สมช. และหน่วยงานความมั่นคง ได้ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้เห็นรายละเอียดของปัญหาและตอบโจทย์ความกังวล ขณะเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ก็เดินทางไปเยือนประเทศจีน ซึ่งจะได้พูดคุยกับนายสี จิ้นผิง ต่อประเด็นการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
ส่วนคำถามที่ว่ามีมาตรการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแถบชายแดนอย่างไรนั้น เรามีศูนย์สั่งการ และมีมาตรการในการเน้นย้ำเรื่องการป้องกันปัญหายาเสพติด รวมถึงการค้ามนุษย์ ซึ่งการทำงานแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฉะนั้น เราจึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องประเมินเรื่องการป้องกันที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด โดยรับนโยบายจากทางส่วนกลาง เพื่อทำให้รู้ว่าเป็นวาระที่สำคัญมาก
“ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามชายแดนได้ทำงานกันอย่างเต็มกำลัง แต่เราก็ไม่ละเลยในจุดที่เราได้รับข้อมูลมาว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งรู้เห็น เรารับข้อมูลไว้ทั้งหมด และจะสืบสวน เพื่อให้ฝ่ายมั่นคงปราบปรามให้หมดไปให้ได้ ต้องเป็นวาระป้องกันอย่างเร่งด่วนให้ได้
ส่วนความมั่นคงรัฐบาลจีน ส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีลงพื้นที่ จึงเห็นความจำเป็น การตัดไฟที่เกิดขึ้น เพื่อให้ต่างชาติรับทราบว่า ประเทศไทยจริงใจ จริงจัง และตั้งใจในการแก้ปัญหา ไม่นิ่งนอนใจ รวมถึงต้องตัดการสนับสนุนการทำผิดกฎหมายด้วย” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการทุกจังหวัดให้ดูแล ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดพื้นที่ชายแดนเท่านั้น โดยให้ทุกจังหวัดไม่สนับสนุนผู้ทำผิดกฎหมาย อาชญากรรมข้ามชาติ สแกมเมอร์ คอลเซ็นเตอร์ โดยมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อพิจารณาข้อมูล ทั้งนี้ มีข้อมูลจากพื้นที่เจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ที่พบว่า มีการขอใช้ไฟฟ้าเพิ่ม จึงถือเป็นความเสี่ยงถูกใช้เป็นฐานกำลังผลิตยาเสพติด ทำสิ่งผิดกฎหมาย