กมธ.ที่ดิน เผยเชิญหน่วยงานแจงแก้ PM2.5 ยังไร้ทิศทางจัดการยั่งยืน ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ ซัดภาครัฐตอบสนองข้อเสนอ ผู้ว่าฯ กทม. แค่ 4 ข้อ จาก 11 ข้อ ปล่อยหน่วยงานราชแก้ไขปัญหาตามยถากรรม
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสส.พรรคประชาชน ร่วมแถลงความคืบหน้าการแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่สะท้อนวิกฤตภาวะผู้นำทั้งในระดับ กทม.และระดับรัฐบาล หลังผู้นำฝ่ายค้านได้เสนอแนะแนวทางให้กับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ไปแล้ว
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมกมธ. เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องนี้ พบว่าแนวทางที่หน่วยงานเสนอ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงมองว่านี่คือวิกฤตของผู้นำ ไม่ใช่แค่ระดับรัฐมนตรี แต่ลามถึงระดับท้องถิ่นด้วย
ขณะที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยชี้แจงแล้วว่าได้ลดการเผาเหลือเพียง 15% แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยตามที่รัฐบาลบอกไว้ จึงเป็นวิกฤตของผู้นำและผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง
ด้านนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า พวกเราพยายามประสานระหว่างนายกฯ กับกทม.เพื่ออุดช่องว่างการประสานงานและติดตามข้อเสนอที่ผู้ว่าฯกทม. เสนอไปยังนายกฯ แต่กลับไม่มีใครให้ความสำคัญ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายส่งแค่เจ้าหน้าที่มาร่วมประชุม โดย 11 ข้อเสนอที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอนั้น หน่วยราชการปัดตกถึง 7 ข้อ ตอบรับเพียง 4 ข้อ คือ
1.ติดตั้งเครื่องตรวจมลพิษที่โรงงานอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานมีแผนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ 2.การศึกษาโครงการผลกระทบโรงกลั่นน้ำมัน 3.โครงการประกาศเขตควบคุมมลพิษที่ดำเนินการอยู่ และ 4.การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ที่สภาฯ กำลังผลักดันร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด
นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า อีก 7 ข้อที่เหลือ หน่วยงานราชการบอกไม่เห็นด้วย หรือ ไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการ เช่น การย้ายท่าเรือคลองเตย ทางการท่าเรือฯ แจ้งว่าไม่มีแผนตามข้อเสนอของผู้ว่าฯ กทม.และกรมควบคุมมลพิษก็ไม่ยอมให้อำนาจ กทม.มาตรวจสอบเอง และมาตรการควบคุมปริมาณรถยนต์ด้วยการจำกัดการซื้อรถใหม่ ซึ่งหน่วยงานแจ้งว่าไม่มีนโยบายนี้เพราะรัฐบาลไม่สั่งให้ทำ ตนจึงมองว่าข้อเสนอเหล่านี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเลยถ้าไม่ได้รับการผลักดันจากฝ่ายการเมือง
“เวลานี้รัฐบาลและฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะ แล้วเคาะว่านโยบายไหนจะทำหรือไม่ทำ ปล่อยให้หน่วยงานราชการทำกันเองตามยถากรรม ขาดทิศทาง ขาดเป้าหมาย ไม่รู้ว่าจะลดฝุ่นในภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และภาคการเกษตรอย่างไร เรียกได้ว่ารัฐบาลกำลังบริหารประเทศ บริหารวิกฤตฝุ่น PM2.5 ตามมีตามเกิด” นายศุภณัฐ กล่าว
พรรคประชาชน จึงอยากเรียนว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องทำตัวเป็นผู้นำ เรียกประชุมทุกหน่วยงาน สรุปข้อเสนอจากหลายฝ่าย และออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้หน่วยงานเอาไปปฏิบัติ