ปชน. จี้ นายกฯ ใช้อำนาจผู้นำ ยุบสภา หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ทำตาม มองยังขาด 3 เรื่อง หากกังวลข้อกฎหมายจริง ควรชวน ภท.ลงชื่อส่งศาลรธน.ตีความ เชื่อเสียง สว.น้ำเงิน ย้อนแย้ง เป็นเครื่องประจักษ์ความแตกแยก รัฐบาล
เมื่อวันที่ 14 ก.พ 2568 ที่รัฐสภา พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1 ภายหลังองค์ประชุมไม่ครบ จนต้องปิดประชุมต่อเนื่องเป็นวันสอง
ปชน.ซัดเพื่อไทยไม่จริงใจแก้รธน.
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เราคิดว่าถ้าเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ยังพอมีโอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ ช่วงพักการประชุม มีวิปของทั้ง 2 ฝ่าย เข้าไปหารือร่วมกัน เพื่อที่อย่างน้อยๆ ถ้าสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
หรือกังวลว่าถ้าเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมในครั้งนี้ อาจจะมีการพัวพัน หรือฟ้องร้องไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ ได้นั้น เราก็ควรเปิดโอกาสให้มีการหารือ หรืออภิปรายกันก่อน เพื่อให้สังคม หรือเพื่อนสมาชิกต่างๆ มีความเข้าใจมากขึ้น
แต่ผลปรากฏว่า เมื่อดำเนินการประชุมต่อ พบว่าฝั่งรัฐบาลเอง ยังเดินหน้าให้นับองค์ประชุมต่อ จนนำมาสู่สภาล่ม นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะพยายามเดินอ้อมอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น สิ่งที่พวกเราเชื่อว่าเป็นทางออกในการเดินหน้าทางตรงเพื่อแก้ไขปัญหาที่ขาดอยู่ 3 เรื่องหลัก ซึ่งต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงจังตรงไปตรงมาต่อประชาชน คือ
1.การขาดเจตจำนงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ไม่มีความจริงใจที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอเข้ามา ควรถูกเสนอเข้ามาเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่นี่กลับเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงร่างเดียว และไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ขณะที่วันที่ 13 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ระบุที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แทบไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทย ส่วนที่พรรคเพื่อไทย ระบุต้องเดินอ้อมเพื่อไม่ทำให้สภาล่มนั้น ก็เป็นข้ออ้าง เพื่ออธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น
ขาดนิติรัฐ-ไม่เคารพประชาชน
2.การขาดความเป็นนิติรัฐ เห็นจากบรรยากาศในที่ประชุมที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเราหารือ ทั้งที่เวทีประชุมรัฐสภาควรเป็นเวทีที่ปลอดภัยที่สุด แต่สมาชิกรัฐสภาแทนที่จะยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตีความเอง กล้าใช้อำนาจของตัวเองเป็นหลัก กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายหากจะทำอะไร เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ก็ต้องวิ่งกลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน
3.การไม่เคารพเสียงของประชาชน ซึ่งนโยบายหาเสียงของทุกพรรค ก็มีข้อเสนอแบบเดียวกันว่าจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเช่นเดียวกัน
จี้นายกฯยุบสภาหากพรรคร่วมไม่ทำตาม
“ดังนั้น วิธีในการหาทางออกเรื่องนี้ ถ้านายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล มีความจริงจังเดินหน้าเรื่องนี้ นายกฯ เป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา นายกฯ สามารถเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกฯ มีอำนาจยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 วันที่ผ่านมา ตนอยากยืนยันว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แนะดึงภท.หนุนส่งศาลตีความ
เมื่อถามว่าพรรคประชาชนจะเดินต่อไปอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนงผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาจะต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า นายกฯ จะต้องแก้ไขสถานการณ์ในเรื่องนี้
ส่วนความกังวลเรื่องเสียง สว.นั้น นายณัฐพงษ์ มองว่า สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องของการควบคุมเสียงทั้งฝั่งรัฐบาล ถ้าพรรคเพื่อไทยยืนยันจริงๆว่า สิ่งที่พรรคต้องการในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือความชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไปเชิญชวนพรรคภูมิใจไทย ให้มาลงมติสนับสนุน การส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
ยันเดินหน้าทำรธน.ใหม่โดยส.ส.ร.
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะตัดสินใจได้ พรรคไหนจริงจังจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนเรายืนยันว่า เราต้องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อให้เรามีระบบการเมืองที่ดีขึ้น และทำให้ผู้แทนราษฏนั้น สามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุดได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ตนเข้าใจดีว่า หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขในวันนี้และมีการลงมติ อาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย และสว.บางส่วน เพราะเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย แต่พรรคประชาชนยืนยันว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัย 4/2564 อีกมุม คนเข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่จะเสนอส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้
เสียงสว.สีน้ำเงิน-สะท้อนรัฐบาลแตกแยก
นายพริษฐ์ กล่าวว่า แต่หลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งเป็นต้นเหตุและสาเหตุที่เราไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และสว.กลุ่มนี้ ไม่ใช่เพราะสาเหตุเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย ไม่ใช่เพราะสาเหตุเรื่องความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสส.พรรคภูมิใจไทย และ สว.กลุ่มนี้ ก็ไม่ได้มาลงมติเห็นชอบต่อการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
หากพรรคเพื่อไทยจะบอกว่าการมีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ทำให้ สส.พรรคภูมิใจไทย และสว.กลุ่มนั้นเห็นชอบ เหตุใดเขาเองก็ถึงไม่มาลงมติเห็นชอบเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ ว่าต้นตอและสาเหตุ คือความขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็นไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่กับเรื่องอื่นๆ ด้วย
ถามนายกฯเคลียร์พรรคร่วมแค่ไหน
ส่วนที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุควรชะลอ เนื่องจากหากปล่อยให้โหวตจะตกเหว นายพริษฐ์ ระบุว่า หากจุดหมายปลายทางการอภิปรายยังไม่สามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาได้ มองซ้ายมองขวาไปแล้วเห็นว่า จำนวน สว.ที่เข้าห้องประชุมมีไม่ถึง 67 คน หรือ 1 ใน 3 ที่เพียงพอต่อการจะทำให้สามารถผ่านวาระ 1 ได้นั้น ก็หารือกันได้ว่าจะเลือกการลงมติต่อหรือไม่ ถ้ากังวลใจเรื่องการลงมติ ก็ยังไม่ต้องลงมติก็ได้ แต่ควรให้มีการอภิปรายต่อไปก่อน
“คำถามที่ต้องถามกลับไป ถ้าเราเห็นว่าการเดินตรง มีเหว มีอุปสรรคอยู่ข้างหน้า แล้วที่ผ่านมา นายกฯเห็นไหม ได้พยายามเต็มที่แล้วหรือยังในการคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเคลียร์อุปสรรคนี้”
เมื่อถามว่าหากส่งคำร้องอื่นที่ไม่ซ้ำกับสว. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราศึกษาข้อมูลกฎหมายมาแล้ว พรรคประชาชน ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สามารถเดินหน้าได้เลย ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องชะลอ เรื่องนี้ไว้โดยการส่งไปศาลก่อน