จุลพันธ์ สวนสภาพัฒน์ มั่นใจปี 68 จีดีพีโตได้ถึง 3 % เผยคลังเตรียมผุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังพยายามดันในถึง 3.5%

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ก.พ.2568 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยตัวเลข จีดีพี ปีนี้ โตต่ำกว่า 3% คือจะโตแค่ 2.8% แลัวยังเทียบกับประเทศในอาเซียนไทยโตรั้งท้ายประเทศอื่นว่า การฉายภาพเป็นแบบนี้ทุกครั้ง หากย้อนไป 10 ปีก่อนการฉายภาพก็ตกเฉลี่ยประมาณ 2 จุดปลายๆ ทุกปี

เเต่การเติบโตจริงไม่เคยถึง 2 % เฉลี่ยประมาณ 1.9 % แต่ปีที่ผ่านมาจากการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเห็นว่าเราทำได้เกินกว่าเป้าหมายสามารถไปแตะ 2 ปลายๆได้ เกินกว่าเป้าหมายในระดับหนึ่งและปีนี้เรายังมีกลไกอยู่ในสต็อก โดยเฉพาะการกระตุ้นเงินหมื่นเฟสต่อไป รวมถึงสิ่งที่ได้ทำมาแล้วและกลไกที่ทำเรื่อง easy e-receipt มันเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ฉะนั้น กระทรวงการคลัง มั่นใจว่าในไตรมาสที่ 3 จะมีการเติบโต เราสามารถทำได้ ซึ่งเรามีการประชุมในส่วนของอนุกรรมการขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจมาคุยลงรายละเอียดว่ากลไกที่เราจะใช้ 3-5 อย่างจะทำให้เพิ่มในเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจที่เราพยายามจะเพิ่มอีก 0.5 % นั้น จะต้องทำอย่างไรก็มีมาตรการ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายการป้องกันการรั่วไหลของเงินหมื่น

แน่นอนว่าเมื่อลงไป มันต้องมีกลไกทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เราจะต้องเข้าไปกำกับและอุดรอยรั่วเหล่านี้ ก็จะช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 0.2% และพยายามดันให้ถึง 3.5 % ด้วยซ้ำ แต่จุดนี้ต้องดูกลไกและสภาวะการทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง นี่คือการฉายภาพซึ่งกระทรวงการคลังก็มีความมั่นใจแม้ว่าสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษาก็อาจมีตัวเลขที่แตกต่างก็เป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามว่าสภาพัฒน์ ระบุว่าได้รวมเรื่องมาตรการแจกเงินหมื่นรอบ 3 ไว้แล้วในจีดีพี 2.8 % นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ของกระทรวงการคลังเราก็มี แต่ก็สิ่งที่บอกคือ กลไกในการขับเคลื่อนให้เม็ดเงินที่ลงไปสู่ระบบสามารถหมุนเวียนได้อย่างมีประสิททธิภาพ ตรงนี้เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปกระชับ

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอขอสภาพัฒน์ ที่บอกว่าให้เเบ่งงบประมาณจากโครงการเงินดิจิทัลรอบ 3 มาทำโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ จะทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มันก็เงินบาทเดียวกัน แต่คนละกลไก ในการใช้ที่อาจมีความแตกต่าง ในมุมนั่นมันเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างโดยเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน มุมนี้รัฐบาลไม่ได้ละเลยและมีกลไกทำอยู่แล้วตามงบประจำปี และงบกลาง

ครม.สัญจรที่สงขลาวันนี้ก็มีที่จะอนุมัติ สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน นี่เป็นเงินบาทเดียวกันแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรนั้น ต้องเรียนว่ากลไกในการใช้เงินความเป็นรัฐ มันไม่มีประสิทธิภาพด้วยซ้ำ ซึ่งเม็ดเงินที่ลงถึงประชาชนที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนมากมาจากการจับจ่ายใช้สอย การลงทุนครอบครัวครัวเรือน

แต่ของภาครัฐในการผ่านการจัดซื้อจัดจ้างกว่าจะลงไปในระบบนั้นกลับ ช้ากว่าแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดี แต่หมายความว่าความเป็นรัฐบาลมีระบบอยู่ เราก็เติมเงินลงไปให้กับประชาชน ขณะเดียวกันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรามีกลไกอื่นอยู่แล้ว หากจะมีความจำเป็นในการแบ่งสัดส่วนออกไปสร้างนั้นเราก็คุยกันได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา

เมื่อถามว่าควรจะมีการหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังอีกหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ควรอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องมีแผน ตอนนี้คิดอยู่ว่ากลไกในการใช้เม็ดเงินจากจุดไหนและวิธีการอย่างไรและจะใช้วิธีการอย่างไรเราก็ต้องหาข้อสรุปอีกครั้ง

เมื่อถามว่าโอกาสที่จีดีพีจะถึง 3.5% ถ้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ และเราก็พยายามดูอยู่ ซึ่งกลไกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าไปดูแค่เติมเงินซึ่งต้องดูกลไกอื่นๆ เราไม่ได้จำกัดรูปแบบ ตอนนี้ก็มีข้อเสนอมาบ้างแล้ว

เมื่อถามว่าต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจากบางกฎหมายมีข้อจำกัด นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รมว.คลัง พูดคุยกับธปท.มาตลอด เชื่อว่าการพูดคุยเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการ แม้ว่า โจทก์ก็จะมีการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างกันบ้าง ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจกับเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน จุดนี้ทั้งสองฝ่ายก็ต้องมีการหารือร่วมกัน

นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ตอนนี้ไม่มีความกังวลที่ตัวเลขจีดีพีออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุดที่ต่ำ กว่าเป้าหมายนั้น ต้องยอมรับว่าในไตรมาสแรก ก่อนหน้านี้จีดีพีมันต่ำมาก เราก็พยายามขับเคลื่อนมาจนมีการเติบโต กระทรวงการคลังตั้งเป้าให้ตัวเลขจีดีพีไปใกล้ 3%

เมื่อถามว่าการประชุม กนง. ในสัปดาห์หน้าคาดหวังว่าธปท.จะมีมาตรการเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินมาช่วยหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนไม่คาดหวัง เพราะธปท.ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอิสระ เราคงไม่พูดเรื่องนี้แล้ว เขาคงเข้าใจว่ากลไกอย่างไหนจะสร้างเสรีภาพทางการเงินได้ กลไกอย่างไหนจะส่งเสริมช่วยเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาล และทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายได้ดี ตนเชื่อว่า กนง.จะมีความเข้าใจ ส่วนจะคาดหวังหรือไม่ ตนไม่พูดดีกว่าเพื่อให้เขามีความสบายใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน