มติบอร์ดคดีพิเศษกรณีรับสอบคดี “ฮั้วเลือก สว.” เป็นคดีพิเศษเฉพาะฐานความผิดฟอกเงิน
จะส่งผลอย่างไรในทางกฎหมายและการเมือง
รวมทั้งที่กระทรวงยุติธรรมระบุ ระหว่างสอบสวนหากพบความผิดฐานอื่นทั้งอั้งยี่ มาตรา 116 สามารถหยิบมาเป็นคดีพิเศษได้นั้น
นักวิชาการมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ก่อนอื่นต้องทราบมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ก่อนว่ามาตรา 21 เรื่องคดีพิเศษตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มี 2 กรณี
คือ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ที่เป็นปกติ เป็นอำนาจดีเอสไอตามบัญชีแนบท้าย 22 ประเภท คดีฟอกเงินอยู่ในบัญชีแนบท้ายด้วย แม้เป็น 1 ใน 22 คดีที่เป็นบัญชีแนบท้ายยังต้องเข้าเงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) เช่น มีความซับซ้อนจำเป็นต้องใช้การสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานเป็นพิเศษ
ตามพ.ร.บ.ดีเอสไอ คดีแบบนี้ใช้มติแค่เสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม ไม่ใช่ 2 ใน 3 มติที่เกิดขึ้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
และเมื่อรับเป็นคดีพิเศษตามวรรคหนึ่งแล้ว ตามมาตรา 21 วรรคสอง หากเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายฉบับ หรือคดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องกัน
และความผิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ ก็ถือว่าดีเอสไอมีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดเรื่องอื่นด้วยที่เกี่ยวเนื่องกัน และจะถือว่าเรื่องนั้นเป็นคดีพิเศษด้วย นี่คือมติที่สอง ซึ่งมติแรกคือรับไว้เป็นคดีฟอกเงิน
หากสืบสวนแล้วพบว่าเป็นความผิดตามพ.ร.บ.การได้มาซึ่งสว. ตามมาตรา 77 (1) การให้ จัดหา สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันคำนวณได้เป็นตัวเงินเพื่อจูงใจให้เลือก ตรงนี้เป็นข้อต้องห้ามตามกฎหมายฉบับนี้
การตกลงกันว่าจะเลือกซึ่งกันและกันไม่เป็นความผิดเพราะเป็นระบบให้เลือกกันเอง แต่จะผิดถ้ามีการใช้เงินเข้ามาจูงใจ หากสืบสวนสอบสวนไปแล้วพบว่ามีความผิดตามมาตรา 77 (1) คือใช้เงินจูงใจให้เลือก ก็ส่งเรื่องให้กกต.ดำเนินการ
ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเพราะถือว่าเป็นการแก้ทางของ กกต. สรุปคือการรับคดีฮั้วเลือกสว.เป็นคดีพิเศษครั้งนี้เป็นการรับตามอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ ส่วนคดีที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ และเกี่ยวกับที่ดีเอสไอกำลังทำก็ให้สืบสวนสอบสวนต่อไป
และเรื่องที่สืบสวนสอบสวนไปนั้นหากพบว่าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความผิดตามพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว.มาตรา 77 (1) ก็ให้ดีเอสไอส่งหลักฐานให้กกต.โดยไม่ต้องกลับมาลงมติก่อน
ส่วนผลทางการเมือง คงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เกิดรอยร้าวในรัฐบาลหรือทำให้แตกหัก และพรรคสีน้ำเงินไม่ยอมรับอยู่แล้วว่าเป็นพวกเดียวกัน เพราะสว.ห้ามฝักใฝ่พรรคการเมือง
แต่เรื่องที่เป็นการเมืองจริงๆ นั้น สว.มีอำนาจเลือกองค์กรอิสระ ทั้งการให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ 2 คน กกต.หมดวาระอีก 5 คน ป.ป.ช.หมดวาระอีก 3 คน หากเสียง สว.เกินร้อยคนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันหมด
ทำให้มองกันว่าเรื่องนี้เป็นการงัดกันของพรรคสีแดงกับพรรคสีน้ำเงินหรือไม่ เพราะมองว่าสีน้ำเงินกับสว.ที่เกาะกลุ่มร้อยคนขึ้นไปเป็นกลุ่มเดียวกัน อาจผูกขาดการเลือกองค์กรอิสระ พรรคสีแดงจึงต้องทำแบบนี้หรือไม่
แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า ไม่ควรเอาเรื่องการเมืองมาชี้นำคดีความต่างๆ
การเอาผิดกกต.บอกมีโพยกฎหมายไม่ห้าม แปลกมาก แต่การมีโพยก็ยังไม่ใช่ความผิดต้องมีเรื่องเงินเกี่ยวข้อง คือมาตรา 77 (1) ต้องรอดู เพราะทางกฎหมาย มติ กคพ.ที่ออกมาค่อนข้างรัดกุม
จะเอาไปฟ้องร้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือกลั่นแกล้งลำบาก เพราะทำหน้าที่ตามกฎหมาย
มุนินทร์ พงศาปาน
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ความผิดฐานฟอกเงินเป็นช่องให้ดีเอสไอเข้าไปสืบสวนสอบสวน ระหว่างนี้ถ้าพบการกระทำความผิดฐานอื่นก็อาจหยิบยกมาดำเนินคดีได้อีกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ แม้กระทั่ง กกต.เองที่มีหน้าที่หลักตามพ.ร.ป.ได้มาซึ่งสว.
สว.เป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก การที่ดีเอสไอเข้ามาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของตัวเอง และเข้ามาช่วยถือเป็นการเสริมการทำงานให้การสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ครอบคลุมและทำได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และในกระบวนการสอบสวนไม่ว่าจะเป็นกกต.หรือดีเอสไอ ถ้าพบกระทำฐานอื่นอีกก็หยิบขึ้นมาดำเนินการได้อีก
ส่วนขั้นตอนจากนี้จะทันเวลา 1 ปีที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น การดำเนินคดีอาญายังคงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนมีความเห็นส่งฟ้องไปยังอัยการ อัยการก็นำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปฟ้องศาลและมีการพิจารณาโดยศาล จึงอีกยาวนานก่อนศาลจะมีคำพิพากษา
การเริ่มดำเนินการโดยดีเอสไอจึงไม่ได้ทำให้กระบวนการพิจารณาความผิดจะเร็วขึ้น แต่การดำเนินการของดีเอสไอเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดความสนใจและสังคมรับรู้ว่าสิ่งที่คิดหรือได้ยินมามีมูลในระดับหนึ่ง
กกต.เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ที่ผ่านมาสังคมได้ยินจากกกต.น้อยมากว่าได้ทำอะไรบ้างในเรื่องนี้ ดังนั้น ที่ดีเอสไอมาทำจะช่วยกดดันกกต.ในตัว และทำให้สังคมคาดหวังกับกกต.มากขึ้นว่าขนาดดีเอสไอยังคิดว่ามีมูล แล้วกกต.ทำอะไรอยู่
ถ้ากกต.สอบสวนและดูว่าใครเกี่ยวข้อง ได้มาโดยชอบหรือไม่ มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ มีกระบวนการดำเนินการเพื่อให้สว.พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งการดำเนินการของกกต.อาจเร็วกว่าดีเอสไอ แต่ดูเหมือนกกต.ไม่ทำอะไรเลย สร้างความเสียหายให้ระบบกฎหมายและการเมืองของเราอย่างยิ่ง
ถ้าไม่คิดแง่การมืองเลยการที่ดีเอสไอเข้าไปดำเนินการขณะที่กกต.ซึ่งมีหน้าที่หลักไม่ทำอะไร การที่ฝ่ายบริหารเข้ามาดำเนินการ แล้วพบว่ามีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินจึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้ว
ส่วนที่ถูกมองจากบางฝ่ายว่าเป็นการล้วงลูกกกต.นั้น คิดว่าดีเอสไอคงรอจังหวะที่มีพยานหลักฐานอย่างแน่นหนา และรอดูท่าทีของกกต.จะทำอย่างไรหรือไม่ จึงคิดว่าเป็นจังหวะที่มีพยานหลักฐานครบถ้วนเพียงพอแล้ว
ต่อให้การเมืองมีการต่อรองกันอย่างไร แต่ถ้าสังคมได้รับรู้ว่ามีปัญหาแบบนี้และเป็นปัญหาใหญ่ ดีเอสไอมีพยานหลักฐาน เพียงพอหนักแน่นที่จะดำเนินการได้ก็เป็นเรื่องที่ดีกับสังคมอยู่แล้ว ในทางการเมืองคงจะมีผลระดับหนึ่งแต่คงไม่มีผลถึงขนาดจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในระยะอันสั้น
ส่วน สว.แม้จะโดนแค่ฟอกเงินมากกว่าอั้งยี่ ซ่องโจร สว.ก็ไม่น่าจะพอใจ ไม่ว่าคดีไหนก็เป็นความผิดอาญา และบ่งบอกว่าการได้มาซึ่งสว.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ประเด็นนี้อาจส่งผลเสียต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียงหนุนจากสว. แต่ถ้าดูท่าทีของสว.ก็มีแนวโน้มไม่รับร่างแก้ไขอยู่แล้ว ฉะนั้น จะมีหรือไม่มีเรื่องนี้สว.ก็คงไม่รับอยู่แล้ว ยิ่งมีเรื่องนี้ขึ้นมาอาจยิ่งไม่อยากรับมากขึ้นอีก
ส่วนจะเป็นชนวนขัดแย้งมากขึ้นหรือไม่นั้น รัฐบาลไม่ควรขัดแย้ง จนบานปลาย เพราะตามรัฐธรรมนูญสว.ไม่สังกัดพรรคการเมือง ถ้ามีพรรคใดเดือดร้อนก็แสดงว่าสว.อยู่ภายใต้อาณัติพรรคหรือไม่
ฉะนั้น ไม่ดีหรือที่พยายามช่วยกันตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งสว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากการสรรหาที่แปลกประหลาดพิสดารที่สุด การช่วยกันตรวจสอบถือเป็นเรื่องดี
และควรมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันตรวจสอบ ไม่ใช่เพียงแค่กกต. และประเด็นนี้ยิ่งทำให้สังคมเห็นชัดว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นปัญหาใหญ่มากในกระบวนการได้มาซึ่งสว.
สติธร ธนานิธิโชติ
ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
มติรับคดีฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษฐานฟอกเงิน เพราะ กคพ.ต้องการความมั่นใจในอำนาจและหน้าที่ของดีเอสไอ ซึ่งเรื่องฟอกเงิน ชัดเจนอยู่ในอำนาจหน้าที่ ถือว่าไม่เสียหน้า หลังจากมีคนทักหลายมุมเรื่องอำนาจหน้าที่การเลือกตั้ง สว.เป็นอำนาจของ กกต.
ถึงจังหวะเข้าด้ายเข้าเข็มจริงๆ จะถอยกรูดก็ใช่ที่ จึงมาลงเอยที่ฐานความผิดฟอกเงิน เอาเรื่องที่ตัวเองมั่นใจแล้วเข้าบอร์ดโหวตกัน ซึ่งได้ 2 ประโยชน์ คือ 1.โหวตเพื่อยืนยันว่าเรื่องนี้ทำได้ และ 2.เป็นการเช็กเสียงไปในตัว เรื่องที่ชัวร์ว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ ยังคุมได้แค่ 11 เสียง จึงไม่เสี่ยงเรื่องใหญ่กว่า
แต่ลำดับต่อไปจากคดีฟอกเงินถ้าไปเจอฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องมันต่อยอดได้ เมื่อสืบคดีฟอกเงินไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าไม่ได้ฟอกเงินเพียงคนเดียวแต่ฟอกเงินเป็นขบวนการก็เข้าข่าย ฐานความผิดอั้งยี่ซ่องโจรได้อยู่ดี
ถามว่าผลที่ออกมาเพราะดีลบ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่นั้นยังสรุป แบบนั้นไม่ได้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย บอกว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ก็อดคิดไม่ได้เพราะดีลบ้านจันทร์ส่องหล้าเกิดขึ้น 2 มี.ค. ก่อนมติ กคพ.
ถ้ามองในมุมการเมืองที่พูดถึงดีลบ้านจันทร์ส่องหล้าก็มีความหมายอยู่ ไม่ได้หักหาญกันทีเดียว แต่ก็ไม่ถึงขั้นเลิกรากันไป ออกมาหน้านี้พออยู่ด้วยกันได้ เป็นสัญญาใจที่มีอะไรผูกมัด
พูดง่ายๆ ต่อไปถ้ามีปัญหาขัดแย้งกัน เห็นไม่ตรงกัน ขวางทางกัน เรื่องนี้จะถูกนำมาขยายผลได้ ถ้าร่วมไม้ร่วมมือกันดีเรื่องที่หนักก็อาจกลายเป็นเรื่องที่เบาไป
ความสัมพันธ์ในพรรคร่วมวันนี้ไม่สนิทแนบแน่น แม้แต่ในพรรคเดียวกันถ้าอำนาจคุมพรรคไม่เป็นเอกภาพก็เกิดเรื่องแบบนี้ได้ ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบนี้เชื่อใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เป็นความสัมพันธ์บนพื้นฐานของอำนาจการต่อรอง
ที่ดีเอสไอเริ่มเรื่องฟอกเงินเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่เร็ว เฉพาะการดำเนินการของดีเอสไอเองน่าจะใช้เวลาเป็นปีกว่าจะส่งฟ้อง ดำเนินคดี กว่าจะสู้คดีเสร็จก็คงอยู่กันได้อีกหลายปี
ยังไม่นับทางขนานที่อยู่ในอำนาจของกกต. ถ้าผลออกมาเป็นคุณกับสว.ที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ก็จะถ่วงกับดีเอสไอว่าแล้วจะไปเอาความผิดอะไรกับเขา แต่หากทั้งกกต.และดีเอสไอมีผลออกไปในทางลบเหมือนกันแบบนี้ชีวิตสว.ลำบาก
แต่ถ้าไปคนละทาง สว.ก็อาจอยู่ได้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ถึงกับปลอดโปร่งโล่งใจนัก เพราะผู้คนรู้สึกว่าเรื่องมันมีมูลความผิดแต่ไม่ถูกดำเนินการ เมื่อพ้นตำแหน่งอาจถูกดำเนินคดีย้อนหลังได้
สถาพร เริงธรรม
คณะสังคมศาสตร์ฯ ม.มหิดล
การรับคดีฮั้วเลือกสว.เป็นคดีพิเศษในความผิดฐานฟอกเงินถือเป็นคดีอาญาที่มีความรุนแรง เพราะมีฐานความผิดค่อนข้างสูงและจะมีผลสืบเนื่องไปถึงผู้ถูกกล่าวหาด้วย หากถูกลงโทษจะมีผลต่อตำแหน่งทางการเมือง
แต่กระบวนการยังอีกนาน ยังมีเวลาสู้คดี ต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยจึงจะลงโทษกันได้ การรับคดีของดีเอสไอจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เท่านั้น และยังไม่รู้ว่าสว.จะหมดสมัยไปก่อนหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแต่เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา
ส่วนผลทางการเมืองมองว่าไม่มีอะไร แค่เป็นสีสันทางการเมืองเพราะเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และหากวิเคราะห์ทางวิชาการ การทำหน้าที่ขององค์กรที่ใช้ประชาธิปไตยทางตรง 3 อำนาจ ไม่สามารถทำให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งหมดสภาพโดยที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
และระหว่างดำเนินการหาก สว.ทำหน้าที่พิจารณาและผ่านกฎหมายไปแล้ว แต่สุดท้ายแล้วหากพบว่า สว.ผิดก็ไม่มีผลอะไร เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนที่มีความถูกต้อง และมีความชอบธรรมทางกฎหมาย
และมองว่ากรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้พบปะกันเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผลเรื่องการซื้อเวลาของเรื่องนี้
และหากจะเร่งรัดการสอบสวนเอาข้อมูลขึ้นมาต้องไม่ลืมว่าหากเร่งรัดก็ทำได้เพียงไม่มาก เพราะอยู่ที่กระบวนการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ปากคำซึ่งมีจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนผลที่ตามมาเรื่องการโหวตร่างกฎหมายต่างๆ หรือต้องใช้เสียงสว.ในอนาคต เชื่อว่าจะมีผลแน่นอน เกมจึงน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่า