ประธาน กกต. แจงดึงดีเอสไอร่วมสอบปมฮั้วเลือก สว. หวังช่วยทำงานคล่องขึ้น เผยคืบหน้าสอบคำร้อง สว.หมอเกศ จบเม.ย.นี้ ระบุกรณีพักงาน “แสวง บุญมี” ต้องตามขั้นตอน

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2568 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีตรวจสอบการทุจริตฮั้วเลือกสว. ว่า ตัวเลขการร้องเรียนเลือก สว.มีทั้งหมด 577 เรื่อง พิจารณา 228 เรื่อง เสร็จสิ้นแล้ว 82 เรื่อง โดยมี 9 เรื่องที่ส่งฟ้องศาลฎีกา

ล่าสุด ในการพิจารณาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. เกี่ยวกับการกระทำความผิดเลือก สว. ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ตามมาตรา 77 (1) โดยระบุถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกสว.ไม่ว่าจะเป็นการให้ เสนอว่าจะให้ หรือการจัดเลี้ยง มีมติให้ส่งศาลฎีกาพิจารณาอีก 1 เรื่อง ทำให้ตอนนี้เหลือคำร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 267 คำร้อง โดยอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของคณะอนุวินิจฉัย 107 เรื่อง ซึ่งกกต.พยายามทำตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อถามว่าที่ผู้แทนกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) เข้ามาร่วมทำงานด้วยจะทำให้การพิจารณาเร็วขึ้นหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ปกติเรารับเรื่องคำร้องเลือก สว.มาตลอด และคำร้องที่เกี่ยวพันกับมาตรา 77 (1) หรือเรื่องฮั้ว ซึ่งมี 220 เรื่อง ทางกกต.พิจารณาตรวจสอบเอง ทำเสร็จแล้ว 115 เรื่อง ซึ่งกกต.มีมติเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้รับเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ทางนั้นแจ้งมาว่ามีเรื่องการกระทำฝ่าฝืน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

ที่ประชุมกกต.จึงมีมติให้รับมาดำเนินการสอบสวน โดยถือว่าเป็นความปรากฏ พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง โดยเชิญผู้แทนจากดีเอสไอเข้ามาร่วมอีก 3 คน เชื่อว่าการทำงานร่วมกัน จะสามารถพิจารณาได้โดยไม่ชักช้า

เมื่อถามว่าตัวแทนจากดีเอสไอ 3 คน จะเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่าง 2 หน่วยงาน ใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ใช่ เพราะกฎหมายให้อำนาจตามมาตรา 42 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. เราสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่น มาเป็นหนึ่งในกรรมการสืบสวนไต่สวนได้

โดยกรอบการทำงานทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องฮั้ว จะมีกรอบการปฏิบัติหน้าที่ว่าควรเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งเราเคยมีประกาศออกมาเมื่อปี 2566 เรื่องกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงานกระบวนการยุติธรรม ออกตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ที่กำหนดว่า ในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่กกต. จะเริ่มจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ยาวที่สุดไม่เกิน 90 วัน

จากนั้นจะนำเรื่องเข้ามาที่สำนักงานกกต. ส่วนกลาง นำโดยเลขาธิการกกต. ซึ่งมีเวลาอีก 60 วัน และไปที่อนุกรรมการวินิจฉัย ตรงนี้จะมีเวลาอีก 90 วัน โดยอาจจะมีการสอบสวนเพิ่มให้โอกาสพยานเข้ามาให้ถ้อยคำ รวมแล้วระยะเวลาทั้งหมดไม่ควรจะเกิน 1 ปี ที่จะต้องเสนอให้ที่ประชุมกกต.พิจารณา

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้อง พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. กรณีนี้กกต.ต้องสอบสวนเองหรือทำงานร่วมกับดีเอสไอ นายอิทธิพร กล่าวว่า โดยหลัก การสืบสวนไต่สวนเริ่มจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และมาที่ส่วนกลาง คือเลขาธิการ กกต.เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งสำนวนที่ส่งเข้ามาล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.67 มี 2 ข้อหา คือฝ่าฝืนมาตรา 77 (1) และ (4)

ที่ประชุมเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องสอบเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยได้ จึงให้สำนักงาน กกต. บอกกับเจ้าพนักงานสืบสวนไต่สวนดำเนินการสอบเพิ่มเติม คาดว่าเดือนเม.ย.นี้ น่าจะเสนอที่ประชุมกกต.พิจารณาได้

กกต.มีหน้าที่ชัดเจนว่า คำร้องใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับกกต. เป็นงานของเรา ส่วนการกระทำที่เกิดขึ้น หากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ซึ่งไม่ใช่กฎหมายเลือกตั้งก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ

จากข่าวประชาสัมพันธ์ของดีเอสไอ ระบุว่า หากในการทำงานของดีเอสไอ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. เขาก็จะแจ้งมาที่กกต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ฉะนั้น การดำเนินงานจะไม่มีความซับซ้อนกัน จะมีแต่การส่งเสริมกัน

เมื่อถามว่าคำร้องของกกต. และดีเอสไอ มีส่วนไหนที่เป็นคำร้องเดียวกันหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า คำร้องดีเอสไอ มี 3 เรื่อง แต่มาร้องที่เราที่รับมาแล้วเฉพาะมาตรา 71 (1) มี 200 กว่าเรื่อง ฉะนั้นในส่วนของดีเอสไอ ได้รับคำร้องและตรวจสอบแล้ว เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย การเลือกสว. เขาจึงแจ้งให้กกต.ทราบ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของกกต.ดูเรื่องการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาสว. จึงรับมาสอบสวน

เมื่อถามถึงกลุ่มสว.สำรองร้องต่อประธานกกต.ให้พักงาน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ระหว่างที่สอบสวนทุจริตเลือกสว. นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่หากมีผู้มายื่นคำร้อง เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อคำร้องเข้าข่ายตามระเบียบสืบสวน ไต่สวน หรือ เข้าสู่ระเบียบการรวบรวมข้อเท็จจริง เราจะทำอะไรเกินกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการกระทำเกินกว่าอำนาจหน้าที่

ทุกอย่างจะต้องเสนอเรื่องมาโดยสำนักงานกกต. หากไม่มีการเสนอขึ้นมา เราอาจจะหยิบยกได้ แต่โดยหลักแล้วจะต้องให้สำนักงานเป็นผู้เสนอความเห็นมาในเบื้องต้นว่า เป็นคำร้องที่ขึ้นอยู่บนพื้นฐานอะไร ตามระเบียบใด ถ้าไม่มีพื้นฐานก็ไม่สามารถรับเรื่องไว้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน