กกต. ตีตกคำร้องกล่าวหา “แสวง บุญมี” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมฮั้วเลือก สว. ชี้พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่พบก๊วนกลุ่ม 13 เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2568 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลงนามคำวินิจฉัย กกต. โดยมีคำสั่งยกคำร้องกรณีผู้ร้อง ยื่นร้องนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.

โดยอ้างว่าก่อนการประกาศผลการเลือก สว. เลขาธิการ กกต. กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 32 อ้างว่าเลขาธิการ กกต. หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฏหมายระเบียบคำสั่งต่างๆ เกี่ยวกับการเลือก สว.

กกต. ได้พิจารณารายงานสืบสวน ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ได้ความว่าผู้ยื่นคำร้องให้ถ้อยคำว่า “ผู้ถูกร้องหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ โดยปล่อยปละละเลยให้กลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองหรือเคยเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกเป็น สว. ครั้งนี้

ซึ่งในการเลือกระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ได้เห็นผู้มีสิทธิ์เลือกทุกกลุ่มสวมเสื้อสีเหลือง และได้ตรวจสอบข้อมูลการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.3 ของกลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ฯ

ส่วนในประวัติทำงานหรือประสบการณ์ทำงานในกลุ่มที่สมัคร ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อชัดว่าผู้สมัครกลุ่มดังกล่าวนั้น เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ โดยได้นำข้อมูลการลงคะแนนที่ได้บันทึกไว้มาจัดเรียงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และใช้หลักจิตวิทยาในการวิเคราะห์

โดยผู้มีสิทธิ์เลือกจะลงคะแนนเลือกให้แก่ตนเองก่อน จึงทราบว่าเป็นบัตรลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกคนใด ซึ่งข้อมูลบางส่วนเป็นการลงคะแนนเป็นชุดหลายรายจึงไม่อาจระบุได้ว่าเป็นบัตรลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์เลือกคนใด และผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 32

จากการสอบสวนในข้อเท็จจริงเป็นหนังสือว่า ในวันรับสมัครเลือก สว. ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ว่า ผู้สมัครต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้สมัครต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ขณะเดียวกันสำนักงาน กกต. ได้กำหนดมาตรการควบคุมการเลือก สว. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตั้งแต่แต่งตั้งชุดปฏิบัติการข่าว ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอจนถึงระดับประเทศ จัดให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนชุดปฏิบัติการข่าว สั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดลงพื้นที่สังเกตการณ์ กำหนดมาตรการป้องกันเพิ่มเติม 5 ข้อ

ซึ่งจากสืบสวนหาข่าวไม่พบว่ามีแหล่งข่าวหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า กลุ่มการเมืองได้จัดตั้งหรือส่งกลุ่มบุคคลมาสมัครรับเลือกเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ส่วนกรณีการแต่งกายของผู้มีสิทธิ์เลือกที่จะสวมใส่ที่มีเสื้อสีเดียวกัน ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกกระทำการดังกล่าว

ประกอบกับช่วงเวลาการเลือกนั้นอยู่ในห้วงการจัดงานเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง เจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ และรัฐบาลได้รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนแต่งกายด้วยสีเหลือง ที่มีตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติฯ ดังนั้น การที่ผู้มีสิทธิ์เลือกสวมเสื้อสีเหลืองมาในวันเลือกระดับประเทศไม่ใช่เรื่องผิด

เห็นว่าข้อเท็จจริงจากการสืบสวนรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ยื่นคำร้องและให้ถ้อยคำว่าในวันเลือกประเทศนั้น ได้เห็นผู้มีสิทธิ์เลือกทุกกลุ่มสวมเสื้อสีเหลือง และได้ตรวจสอบข้อมูลแนะนำตัวของกลุ่มที่ 13 ในส่วนประวัติการทำงานหรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มที่สมัครไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงได้ว่า ผู้สมัครในกลุ่มดังกล่าวนั้นเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเป็นกลุ่มซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ

ซึ่งตามข้อมูลที่ผู้ร้องอ้างอิงนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ของผู้ร้อง และการตรวจสอบสถานะภาพสมาชิกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิ์เลือกระดับประเทศในกลุ่ม 13 จำนวน 147 คน ไม่พบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และประเด็นที่ผู้มีสิทธิ์เลือกได้สวมเสื้อที่มีสีเดียวกัน ก็ไม่ได้มีกฎหมายระเบียบห้ามการกระทำดังกล่าว อีกทั้งถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลในการแต่งกาย

ประกอบกับการเลือก สว. ครั้งนี้ เลขาธิการ กกต. ผู้ถูกร้องได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการเลือก การนับคะแนน การรายงานผลนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า เลขาธิการ กกต. ในฐานะผู้ถูกร้อง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเลือกเป็นไปตามกฎหมาย หรือตามรัฐธรรมนูญ หรือมีการจัดตั้งหรือส่งกลุ่มบุคคลมารับสมัครเลือกเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด

อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เลขาธิการ กกต. กระทำการเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปี 2561 มาตรา 32 ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน