อธิบดีดีเอสไอ อัยการประชุมโพยฮั้ว สว.67 เน้นเส้นทางการเงินใครบ้างโอน-รับโอนในปี 2567

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 มี.ค.2568 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ มีการประชุมเปิดคดีครั้งที่ 1 ของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยมีพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พร้อมด้วยรองอธิบดีดีเอสไอ 4 คน ในฐานะคณะพนักงานสอบสวน ได้แก่ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ และนายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา นายเอกรินทร์ ดอนดง ผอ.ส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษ เป็นเลขานุการคณะพนักงานสอบสวน

นอกจากนั้น ยังมีผู้อำนวยการกองคดีต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ รวมบุคลากรของดีเอสไอทั้งสิ้น 41 ราย ขณะที่พนักงานอัยการ เข้าร่วมประชุมมี 3 คน เป็นพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 คน และอัยการผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง

พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับพนักงานอัยการครั้งแรก หลังจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติให้รับกรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นคดีพิเศษ

โดยวันนี้ได้ประชุมกำหนดแนวทางการสอบสวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน เพื่อให้คณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอและอัยการได้รับรู้รายละเอียดข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ที่มีการกล่าวหา เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการรวบรวมพยานหลักฐาน

เมื่อถามถึงการแบ่งหน้าที่สอบสวนระหว่างพนักงานอัยการและดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการสอบสวนร่วมกัน เช่น ในการบันทึกปากคำพยานจะต้องมีการร่วมกันกี่ฝ่ายอย่างไร แล้วมีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเรื่องเล็กน้อยอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญ สามารถมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปสอบสวนปากคำฝ่ายเดียวได้ แต่ดีเอสไอต้องมาสรุปเรื่องและประเด็นให้อัยการรับทราบภายหลังด้วย

ส่วนกรอบการทำงาน เราจะเน้นรวบรวมพยานหลักฐานเรื่องฟอกเงินเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดต่างๆ ตนต้องขอสงวนการเปิดเผย แต่มักจะเป็นการรวบรวมดูกลุ่มตัวละคร ว่าใครที่มีส่วนรับโอนเงินในเรื่องนี้บ้าง ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบผ่านรายการเดินบัญชี (Statement) ที่จะขอจากสถาบันการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะในปี 2567 ที่มีการกระทำความผิด รวมถึงเอกสารต่างๆ

ย้ำว่าต้องดูพยานหลักฐานทุกชนิด ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในชั้นสืบสวน เรามีข้อมูลเรื่องนี้ในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่ในชั้นสอบสวน เราต้องทำงานร่วมกับอัยการด้วย จึงต้องมีการสอบสวนปากคำพยานให้ครบถ้วนอีกครั้ง และพยานก็มีจำนวนมาก

เมื่อถามถึงก่อนหน้านี้มีเอกสารรายชื่อพยานหลุดออกมากว่า 7,000 รายชื่อ จะต้องเรียกมาสอบปากคำเมื่อใด พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า หากพยานบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคดี ก็ต้องเรียกมาสอบสวนปากคำทั้งหมด โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการโอนและรับโอนเงิน ซึ่งเป็นไปตามหลักการ

ส่วนประเด็นที่ทนายอั๋นบุรีรัมย์ มาร้องว่ามี 2 ผู้ยิ่งใหญ่กับอีก 1 เจ๊ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น ถ้าข้อมูลพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึง พนักงานสอบสวนก็จำเป็นต้องพิสูจน์ความผิด ต้องเรียกสอบทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้น แต่ตนไม่อยากให้ไประบุว่ามีหรือไม่มี 2 ผู้ยิ่งใหญ่ดังกล่าว

หากท้ายสุดเรื่องนี้สอบสวนแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดทางอาญา ก็ต้องกล่าวโทษดำเนินคดี แจ้งข้อกล่าวหา แต่เราก็มีกระบวนการที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือแก้ข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับฟังอยู่แล้ว

พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ต้องมีพนักงานอัยการมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วยนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นความผิดตามลักษณะที่ประกาศ กคพ. กำหนด มาตรา 21 (ค) และ (ง) ซึ่งเป็นการกระทำของกลุ่มองค์กรหรือผู้มีอิทธิพล ดังนั้น ข้อบังคับของเราจะระบุว่าต้องเชิญพนักงานอัยการมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย โดยเราพยายามประชุมติดตามความคืบหน้าเดือนละครั้ง

เมื่อถามว่าพยานที่คณะพนักงานสอบสวนต้องไปสอบปากคำนั้น ต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด เป็นกลุ่มโหวตเตอร์ หรือกลุ่มพลีชีพใช่หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ใช่ และต้องสอบสวนปากคำพวกเขาว่า ในวันนั้นเหตุใดจึงไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ถ้าเขาทราบหรือรู้เห็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็ต้องสอบสวน

นอกจากนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากพยานคือกลุ่มคนที่เคยรับเงินแล้วยอมกลับมาเป็นพยาน มาแฉให้ข้อมูลกับดีเอสไอ จะกันพวกเขาไว้เป็นพยานนั้น ก็ต้องพิจารณาข้อมูลร่วมกับอัยการก่อนว่าเราจะใช้ระเบียบที่จะสอบพยานสำคัญไว้เป็นพยานอย่างไรหรือไม่ แต่เรามีขั้นตอนและหลักเกณฑ์อยู่ว่าพยานจะต้องเป็นพยานที่ไม่ใช่เป็นตัวการสำคัญ

ส่วนไทม์ไลน์การเชิญหรือออกหมายเรียกพยานมาสอบสวนปากคำ จะเกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้อย่างแน่นอน เพราะเรามีการประชุมเปิดคดีร่วมกับอัยการ ถ้านัดหมายพยานได้เมื่อใดก็สอบสวนปากคำได้เลย

ส่วนจะสอบปากคำด้วยวิธีการใดนั้น เราสามารถสอบได้หลายกรณี ทั้งการเชิญด้วยหมายเรียกหรือการนัดหมาย ทั้งนี้ การสอบสวนปากคำจะสอบที่ใดเวลาใดก็ได้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนด ซึ่งเราต้องกำหนดวางแผนกับอัยการ เพื่อที่จะสอบพยานได้อย่างครอบคลุม

เมื่อถามเรื่องมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยพยานที่ประสงค์เข้าให้ข้อมูลสำคัญกับพนักงานสอบสวน พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ตามกฎหมายดีเอสไอ เราสามารถให้ความคุ้มครองพยานได้ แม้เราจะทราบพฤติการณ์คร่าวๆ แล้วว่ามีมูลการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น แต่เราต้องแสวงหาพยานหลักฐานอีกจำนวนมาก เพราะจะต้องระบุว่าแล้วใครบ้างที่เป็นผู้กระทำความผิดนั้น กรอบระยะเวลา 3 เดือนในการทำสำนวน เราจะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด

สำหรับคดีความผิดทางอาญาฐานอื่น หากเราสอบสวนขยายผลแล้วพบว่าเป็นการกระทำความผิดนั้นด้วย ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 สามารถดำเนินคดีความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกับคดีพิเศษนั้นได้ แต่ต้องดูเป็นเรื่องไป

พอเราพบการกระทำความผิดแล้ว เราพิจารณาแล้วว่าเป็นกรรมเดียวผิดหลายบท หรือเป็นความผิดบทใดบทหนึ่งได้ดำเนินคดีพิเศษอยู่แล้ว เราสามารถดำเนินคดีในกรรมอื่นได้ หรือความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพัน ถือเป็นคดีพิเศษด้วยได้ แต่จะเป็นเรื่องภายหลัง หลังจากที่ดำเนินคดีหลักตามมติ กคพ.ไปแล้ว

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนคงยังไม่เรียกสอบปากคำ 138+2 ราย ตามที่ปรากฏในข่าว เพราะเราจะต้องสอบพยานให้เรียบร้อยก่อน

ส่วนคดีดังกล่าวอาจมีการมองว่าเป็นคดีเกี่ยวข้องกับการเมือง และอาจเป็นมวยล้มต้มคนดู จะให้ความเชื่อมั่นอย่างไรนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า หากพบเป็นความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาก็เป็นหน้าที่ของเรา ถ้าเราไม่ทำก็จะเป็นความผิดของเราเอง เพราะจะมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ เราต้องดำเนินการตามกระบวนการ ไม่สามารถละเว้นได้

ส่วนใครจะมองเป็นเรื่องการเมือง ก็คิดได้ เพราะในทุกองค์กร สุดท้ายถ้ามีคดีเกี่ยวกับการเมืองแล้วเป็นความผิดทางอาญา เราก็ต้องดำเนินการ

ส่วนที่ สว.รวบรวมรายชื่อไปยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบจริยธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีดีเอสไอ และรมว.ยุติธรรม ต่อป.ป.ช.นั้น ตนพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะตนเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเราพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะทุกอย่างยืนยันว่าเราดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้

ด้านนายสุริยน ประภาสะวัต อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 ซึ่งเข้าร่วมประชุมในวันนี้ด้วย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการสอบสวน เราจะต้องหาทางระบุว่าพยานรายใดที่จะชี้ได้ว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว จะนำไปสู่การระบุได้ว่าใครคือคนทำ ดังนั้น พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าสามารถระบุได้ว่ามีการกระทำความผิด และใครเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เราจะต้องสอบสวนปากคำให้หมด

เรามีการจัดลำดับความสำคัญการสอบสวนปากคำพยาน มีการจัดกลุ่มและจัดแบ่งพนักงานสอบสวน เพราะพยานแต่ละปากมีความสำคัญไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ในมุมมองของตน การสอบสวนคดีดังกล่าวค่อนข้างยากกว่าการสอบสวนคดีประมาทขับรถชนคนตาย เพราะคดีจะมีประจักษ์พยาน และพยานแวดล้อมเยอะ จึงต้องทำให้ครบถ้วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน