ภูมิปัญญา กรธ.
ใบตองแห้ง

“ทําไมยังต้องมี ส.ว. …เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ส.ว.ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง…”

นักรัฐศาสตร์นิติศาสตร์เป็นงง เมื่อได้อ่านคำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.

อ้าวก็รัฐธรรมนูญ 2475 มีแต่ส.ส.ประเภท 2 ไม่มีส.ว.ซักหน่อย คณะราษฎรเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เมื่อไหร่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจบ ป.4 เกินกึ่งหนึ่ง ก็ให้มีส.ส.เลือกตั้งประเภทเดียว

84 ปีผ่านไป คนไทยจบปริญญาตรีเกือบครึ่งประเทศ กรธ.ยังย้อนไปอ้างว่า 2475 ก็มีส.ว. แต่ของท่านไม่ใช่สภาพี่เลี้ยง เป็น “สภาเติมเต็มหรือสภาพลเมือง” มาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ สมัครเข้ามาเลือกกันเอง

โดยไม่ยักโต้ความเห็นแย้งที่ว่า นี่คือ “อภิสิทธิ์ชน” เลือกกันเอง ชาวบ้านตาดำๆ ไม่เกี่ยว แล้วตอนท้ายค่อยบอกว่า 5 ปีแรกยังเติมไม่เต็มนะ ให้คสช.สรรหาก่อน

คำ อธิบายของ กรธ.ไม่ต่างกับที่เดินสายชี้แจง คือโฆษณาเฉพาะ “ข้อดี” แต่ไม่แสดงเหตุผลหักล้างคำวิจารณ์ เช่น ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ แต่ไม่ตอบคำถามเรื่องลิดรอนสิทธิประชาชน ปิดโอกาสพรรคเล็ก และถ้าผู้สมัครโดนใบแดง คะแนนพรรคก็ศูนย์ไปด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ท่านก็ว่าจะได้คนดี Role Model แต่ไม่ตอบเรื่องยึดโยงประชาชน หรือประชาชนตรวจสอบได้อย่างไร ท่านไม่พูดเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถอดถอนนักการเมือง ท่านพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเหมือนง่ายๆ รัฐสภาเป็นผู้แก้ไข ประชาชน 50,000 คนก็เสนอได้ แต่ไม่ยักบอกว่าต้องใช้ทั้งเสียงรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา

ว่าที่จริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ นี่คือแนวทางที่ กรธ.ใช้อบรมครู ก. ครู ข. ครู ค. ท่านชูจุดขาย “รัฐธรรมนูญกินได้” ชูสโลแกน “คุ้มครองตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า” “ทุกชีวิตมีคุณค่า รัฐให้การคุ้มครองดูแล” โดยไม่ตอบคำถามเรื่องโครงสร้างอำนาจ ว่าถ้ารัฐบาลไม่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน ถ้ารัฐบาลถูกจำกัดอำนาจโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แล้วจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างไร

สังเกตไหมครับ กรธ.มุ่งโต้แย้งเรื่องเรียนฟรี 12 ปี เรื่องไม่ล้ม 30 บาท มากกว่าเรื่องอำนาจและที่มาส.ส. ส.ว. นายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ

ตอนถูกวิจารณ์เรื่องเรียนฟรี 12 ปี ท่านก็ยกมาตรา 258 การปฏิรูปประเทศ มาแย้งว่า 14 ปี เพราะให้ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนด้วย กรณี 30 บาทที่ กรธ.เขียนมาตรา 47 ตัดคำว่า “เสมอกัน” “ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ” จากรัฐธรรมนูญ 2550 ท่านก็ยกมาตรา 258 มาโต้ว่า จะปฏิรูปให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพทัดเทียม

มาตรา 258 นี่เพิ่งแปะเข้ามาในร่างสุดท้าย แต่กลายเป็นจุดขาย เป็นคำมั่นสัญญาว่ารัฐธรรมนูญจะทำสารพัดอย่าง

ในทางตรงข้าม นอกจากไม่ดีเบตเรื่องโครงสร้างอำนาจ กรธ.ยังใช้กฎหมาย ใช้อำนาจรัฐจัดการ ด้วยข้อหา “บิดเบือน” ในฐานะเจ้าของร่าง ท่านตั้งตนเป็นผู้ชี้ว่า ใครที่วิจารณ์ไม่ตรงตามจุดประสงค์ของท่าน=เข้าข่ายความผิดฐานบิดเบือน มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

หลังศาลรัฐธรรมนูญรับรองมาตรา 61 วรรค 2 กรธ.ก็เพิ่มบทบาทตนเองจากผู้ชี้แจงร่าง เป็นผู้ใช้อำนาจกล่าวหาคนวิจารณ์ว่าบิดเบือน เริ่มจากตีปี๊บ “วิชามาร” ที่เชียงใหม่ รับลูกต่อๆ กันว่ามี “ร่างรัฐธรรมนูญปลอม” เป็นข่าวใหญ่หลายวันกว่าสังคมจะรู้ว่าที่แท้คือ “ความเห็นแย้ง” ของประชาธิปไตยใหม่

ทำไมไม่พูดแต่แรกว่าเป็นเอกสารประชาธิปไตยใหม่ แล้วท่านเห็นว่าเขาตีความผิดอย่างไร ก็ถกเถียงกัน

แต่นี่พอสังคมรู้แล้วว่าไม่ใช่ “ร่างปลอม” ท่านก็ยังจะไปเอาผิดแผ่นพับ กกต.สมชัยเสียอีกยัง “โชว์แมน” ไม่เอา เรื่องเด็ก

ถามจริง ถ้าคนค้านพูดไม่ได้ รณรงค์ไม่ได้ ถูกดำเนินคดี แล้วรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” มีเสรีภาพ 100% ก็จะผ่านอย่างสง่างามหรือครับ

ที่สำคัญ กรธ. 21 คน ยังประกอบไปด้วยผู้ทรงภูมิปัญญา มีทั้งปรมาจารย์กฎหมาย ผู้พิพากษา อัยการ ปลัดกระทรวง คณบดีนิติศาสตร์ อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ ด๊อกเตอร์ออกซ์ฟอร์ด ฯลฯ นับขุมภูมิปัญญาก็สั่งสมมารวมๆ กันเกือบสองพันปี ขณะที่ประชาธิปไตยใหม่บางคนเพิ่งจบ บางคนยังเรียนอยู่เลย อย่างเก่งก็เรียนโท เป็นลูกศิษย์บางท่านด้วยซ้ำ

ถามว่าทำไม กรธ.ไม่เชิญประชาธิปไตยใหม่มาเปิดเวทีดีเบต กัน แล้วใช้ภูมิปัญญาอันสูงส่งชี้ให้เห็นว่าเขาเข้าใจผิด นอกจากจะชนะใจคนแล้วยังให้ความรู้ประชาชนผู้โง่เขลา เช่น ชี้ให้เห็นว่าไม่จริ๊งไม่จริงที่ว่ารัฐธรรมนูญผ่านแล้ว “คสช.ยังเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

มีภูมิปัญญาล้นเหลือ ทำไมไม่ใช้ กลับใช้อำนาจบังคับ น่าเสียดาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน