หลังกลุ่มต่อต้านถ่านหินในออสเตรเลียและอินเดียถูกเปิดโปงโดยวิกิลีกส์ (WikiLeaks) ว่าได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากมูลนิธิในอเมริกาอย่างลับๆ โดยมีนายจอห์น โปเดสตา นักการเมืองระดับสูงในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประธานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีให้นางฮิลลารี คลินตัน เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านด้วย ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมาดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อตอบโต้และจัดการกับขบวนการนี้

สำนักข่าว The Australian รายงานว่ารัฐบาลของออสเตรเลียสงสัยมานานแล้วถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลียและต่างประเทศ ซึ่งมีกลุ่มมูลนิธิที่ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เป็นแหล่งเงินทุนและปิดบังแหล่งที่มาของเงินทุน ที่ใช้ในการรณรงค์ต่อต้านการพัฒนาเหมืองถ่านหิน Adani ซึ่งจะสร้างงานได้กว่า 10,000 อัตราในรัฐควีนส์แลนด์

The Australian ยังรายงานด้วยว่ากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มใหญ่ทั้งหมด 8 กลุ่มในออสเตรเลีย ที่มีสถานะเป็นองค์กรการกุศลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ประกอบด้วย กรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิค, WWF ออสเตรเลีย, Friends of the Earth (ออสเตรเลีย), the Sunrise Project, the Lock the Gate Alliance, 350.org ออสเตรเลีย, the Australian Conservation Foundation และ the Wilderness Society ทั้งหมดได้รับเงินเป็นจำนวนรวมกันเกือบ 700 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือ 18,655 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และ 83 ล้านเหรียญดอลลาร์หรือ 2,211.95 ล้านบาท เฉพาะในปี 2558 โดย 3 ลำดับที่ได้รับเงินสูงสุดคือ WWF ออสเตรเลีย กรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิค และ Australian Conservation Foundation ในจำนวน 28 ล้าน (746.2 ล้านบาท) 19 ล้าน (506.35 ล้านบาท) และ 14.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (389.09 ล้านบาท) ตามลำดับ

โดยทั้ง 8 กลุ่มได้จดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลและมีสิทธิได้รับเงินบริจาคซึ่งนำไปหักลดภาษีได้ การออกมาเปิดเผยตัวเลขครั้งนี้ก่อให้เกิดการเรียกร้องจากทางฝั่งรัฐบาลออสเตรเลียให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน โดยมีบางกลุ่ม เช่น Sunrise Project ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่ในรูปของเงินบริจาคจากมูลนิธิ Sandler สหรัฐอเมริกา แต่พยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินต่อคณะกรรมการรัฐสภาออสเตรเลีย เพราะเกรงจะถูกถอดถอนจากสถานะองค์กรการกุศล

image01

ตารางและกราฟแสดงรายได้ของกลุ่มสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลีย Credit : http://www.theaustralian.com.au/

นายแมตต์ คานาวาน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรของออสเตรเลีย นำตัวเลขรายได้นี้มาเรียกร้องให้รัฐสภาพิจารณากฎการเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของเงินทุนจากต่างประเทศขององค์กรเอกชน โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ได้รับยกเว้นภาษีมีหน้าที่ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้ ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี นายโทนี่ แอบบอท ออกมาเตือนว่า “มีเครือข่ายสมรู้ร่วมคิดระดับโลก” พยายามต่อต้านอุตสาหกรรมถ่านหินของออสเตรเลีย และทำลายการจ้างงานในออสเตรเลีย ยิ่งไปกว่านั้นยังทำลายผู้ใช้พลังงานทั่วโลก ที่ต้องการเชื้อเพลิงพลังงานราคาถูก

ขณะที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ได้เสนอจำกัดการเคลื่อนไหวต่อต้านการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของกลุ่มที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ นับตั้งแต่การสร้างถนนหลวง สร้างเขื่อน ไปจนถึงโครงการพัฒนาเหมือง และมีมาตรการจะจำกัดสถานะองค์กรการกุศล ที่กลุ่มต่อต้านใช้เพื่อยกเว้นภาษีและปิดบังแหล่งที่มาของเงินอย่างเข้มงวด

ด้านรัฐมนตรีการคลัง นายเคลลี่ โอดีไวเยอร์ กำลังพิจารณาข้อเสนอเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายจำกัดสิทธิสถานะองค์กรการกุศลที่ได้รับยกเว้นภาษีในกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้มีผลการดำเนินงานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นที่ประจักษ์ และเอาผิดกับกลุ่มเคลื่อนไหวที่ทำหรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย

รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรของออสเตรเลีย นายแมตต์ คานาวาน กล่าวถึงกลุ่มเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมนี้ว่า พยายามทำลายโครงการพัฒนาของประเทศโดยใช้ช่องทางด้านกฎหมาย โดยเฉพาะใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ล่าช้าออกไปจนในที่สุดโครงการให้ผลไม่คุ้มค่า แล้วรัฐต้องยอมเลิกล้มเอง ซึ่งตามรายงาน คดีร้อยละ 87 ที่ยื่นฟ้องโดยกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อมถูกศาลยกฟ้องไปแล้ว แต่ความล่าช้าของโครงการที่เกิดขึ้นเป็นผลให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายไปกว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้เคยให้ความเห็นกับโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินในรัฐควีนส์แลนด์ที่ถูกขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านว่า “เราเชื่อว่าเรามีการพัฒนาที่ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น สร้างงานได้มากขึ้น และในเวลาเดียวกันเราปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการ”

Credit :

  • http://www.theaustralian.com.au/business/mining-energy/turnbull-government-moves-to-shut-court-doors-on-anticoal-activists/news-story/4ea70a5a594699286b880152fcb3cbca
  • http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/climate/eight-biggest-green-groups-net-685m-windfall-over-decade/news-story/2c5c2a5b7e2f553fc6c251394458cc09

•http://www.theaustralian.com.au/opinion/columnists/dennis-shanahan/green-campaign-against-australian-coal-trail-leads-to-john-podesta/news-story/42784b8b30e0ab18d7386054189a0933

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน