ผลงานวิจัยต้นแบบเครื่องมือสำหรับการตรวจวัดสารตกค้าง เช่น ฟอร์มาลีน หรือสารตกค้างอื่นๆ ในอาหารสด,ผักและผลไม้ “ปืนวัดฟอร์มาลีน” จากนักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หากจะเอ่ยถึงชื่อ “สารฟอร์มาลิน” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อน้ำยาดองศพ ส่วนมากนิยมนำมาใช้ในการดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าและผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำฟอร์มาลินมาใช้ในการแช่ผักและเนื้อสัตว์ต่างๆ เพื่อให้อาหารเหล่านั้นไม่เน่าเสียเร็ว เก็บได้นาน และดูสดอยู่เสมอ รายงานของกระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบการปนเปื้อนสารเคมีในอาหาร เป็นสารฟอร์มาลีนมากที่สุด โดยเฉพาะในอาหารสดประเภทอาหารทะเล เนื่องจากเป็นอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย หากบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินปริมาณมาก จะเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลัน เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน บางรายเกิดอาการแพ้จากการสัมผัสทำให้ผิวหนังเกิดผื่นคัน หรือรอยแดงเป็นปื้น นอกจากนั้นฟอร์มาลีนยังเป็นสารกระตุ้นเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย

ปัจจุบันวิธีการตรวจสารปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหารจะใช้วิธีทางเคมีที่ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องวัดทีละตัวอย่าง โดยต้องสัมผัสอาหาร ใช้ได้เพียงครั้งเดียวต้องทิ้ง และเกิดกากของเสียสารเคมี“ และด้วยแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุดจึงเป็นแนวคิดและที่มาของการคิดค้นผลงานวิจัยชิ้นนี้

“ปืนวัดการปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหาร” โดยอาศัยหลักการทำงานของเทคโนโลยีก๊าซเซนเซอร์ดมกลิ่นสารฟอร์มาลีน สามารถรู้ผลการตรวจวัดได้อย่างรวดเร็ว โดยบ่งบอกค่าปริมาณการปนเปื้อนฟอร์มาลีนที่ชัดเจนเป็นตัวเลข ตั้งแต่ 0- 12 ppm สามารถวัดห่างจากอาหารที่ต้องการตรวจสอบได้ถึง 15 ซม. ใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลไม่เกิน 12 วินาที สามารถวัดซ้ำไปซ้ำมาได้ ไม่ใช้สารเคมีและไม่เกิดสารเคมีของเสีย ไม่สัมผัสกับอาหารที่ทดสอบ ใช้ตรวจวัดการปนเปื้อนฟอร์มาลีนในอาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นของแข็งหรือของเหลว มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา จึงสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบอาหารที่วางขายอยู่ในท้องตลาดได้อย่างง่ายดาย

ถือได้ว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า แนวคิด และการทำวิจัยจนสำเร็จมาเป็นผลงาน สามารถต่อยอดและสร้างประโยชน์ รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งการพัฒนาต่อไปในอนาคต ก็คือ จะต้องทำให้ประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ (การใช้ให้น้อยลงจากเดิม) พัฒนาเรื่องรูปแบบให้สามารถใช้ได้กับประชาชนทั่วไป และที่สำคัญก็คือ สามารถใช้สำหรับการตรวจวัดสารเคมีที่เป็นอันตรายอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ยาฆ่าแมลง หรือ สารเคมีปนเปื้อนต่างๆ นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน