นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า “เมลิออยโดสิส”เป็นโรคติดเชื้ออันดับต้นๆอีกโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคปอดบวมในชุมชนและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ70 โดยสามารถพบผู้ป่วยได้ทุกภาคทั่วประเทศแต่พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ปี 2560 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส 3,140 คน เสียชีวิต 68 คน คาดว่าปี 2561 จะมีผู้ป่วยสูงถึงประมาณ 3,000 คนโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนอาจมีผู้ป่วยประมาณ 200-300 คนต่อเดือน โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเมลิออยด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง การกิน และการหายใจ ในประเทศไทยผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 80 ติดเชื้อเมลิออยด์ผ่านทางผิวหนัง บุคคลที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคเมลิออยด์สูงคือผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสดินและน้ำเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาที่ต้องลงนาลุยโคลนหรือแช่อยู่ในน้ำนานๆ ทำให้ผิวหนังเปื่อยย่น เชื้อจึงเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ยิ่งผิวหนังมีบาดแผลเชื้อก็จะยิ่งเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น รองลงมาคือการติดเชื้อจากการสำลักหรือกลืนน้ำ หรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ส่วนการติดต่อผ่านทางการหายใจในประเทศไทยพบได้น้อยมาก มักพบในประเทศที่ต้องเผชิญกับมรสุมรุนแรง เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลียตอนเหนือที่ติดกับคาบสมุทร เพราะแรงลมจะพัดพาดินให้ฟุ้งกระจายไปในอากาศ ประเทศเหล่านี้จึงมักพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสหลังจากเกิดมรสุมหนักไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในขณะที่ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในช่วงฤดูทำนา

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิส จะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการได้รับเชื้อ บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจเสียชีวิตได้ อาการที่พบโดยทั่วไปคือผู้ป่วยจะมีไข้สูง หรือมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคปอดบวมรุนแรง บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม หรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง วัณโรค เบาหวาน โรคไต โรคเลือด มะเร็ง และภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกันฯลฯ

“ด้วยความห่วงใยฤดูฝนนี้จึงขอให้ประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่าได้ประมาทและควรตระหนักในการป้องกันตนเอง เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อโรคโรคเมลิออยโดสิสนั้นอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผล หากมีแผลถลอกหรือไหม้ซึ่งต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำควรทำความสะอาดทันที ในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานและมีบาดแผลรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมถุงมือและรองเท้ายางเพื่อป้องกัน และควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลังเสร็จภารกิจทันที นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารและดื่มน้ำต้มสุก รวมถึงไม่ทานอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนของดินหรือน้ำที่ไม่สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับลมฝุ่น หรือลมฝนในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ และที่สำคัญหากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน หรือมีบาดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเมดิออยโดสิสสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน