รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลลูกหลานของเกษตรกร โดยการพัฒนาและสร้าง “คนรุ่นใหม่” เข้าสู่ “เกษตรยุคใหม่” ด้วยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่หรือ Young Smart Farmer (YSF) ให้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่ทันสถานการณ์และมีความทันสมัย โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่จบภาคการเกษตรมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อจะได้มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร พึ่งพาตนได้และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเข้มแข็งสอดคล้องกับโมเดล Thailand 4.0 ของรัฐบาล

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวไฟแรงมีแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำอาชีพการเกษตรมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกรมส่งเสริมการเกษตรที่ปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้าสู่โครงการ Young Smart Farmer หรือ YSF เนื่องจากเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มีความทันสมัยและเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20ปีของกระทรวงเกษตรฯ โดยวางเป้าหมายสร้างเครือข่าย YSF ทั้งประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่า 58,520 รายจากปัจจุบันสามารถผลิตได้แล้ว 7,598 ราย ซึ่งต่อไปกรมจะผลักดันคนเหล่านี้ต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีการบริหารจัดการการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น YSF หลักๆจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องที่จะทำ มีการจัดการผลิต /การตลาดใส่ใจคุณภาพ รับผิดชอบสังคม/สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญจะต้องมีความภาคภูมิใจที่จะเป็นเกษตรกร โดยจะมีการประเมินศักยภาพและต้องผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปีและมีอายุระหว่าง 17-45ปี เมื่อผ่านคุณสมบัติแล้วกรมส่งเสริมการเกษตรก็จะมีหลักสูตรอบรมในแต่ละระดับ คือ 1 เริ่มจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละรุ่น 2.มีการพัฒนากิจกรรมการเกษตรด้วยนวัตกรรม และบริการจัดการกิจกรรมด้วยระบบ internet of Things (loT) 3. พัฒนาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งพัฒนาระบบธุรกิจเกษตรด้วยนวัตกรรรม Smart Farm Digital Market 4.สินค้าเกษตรได้รับรองมาตรฐานสากลและยกระดับผู้ประกอบรุ่นใหม่สู่สากล

ลลิดา คำวิชัย” YSF สระแก้ว วัย 27ปีจากริมขอบชายแดน ต.ทับพริก อ.อรัญญาประเทศ จ.สระแก้ว นับเป็นอีกต้นแบบความสำเร็จของนิยาม“เกษตรกรรุ่นใหม่”ที่วันนี้วิถีการเป็นอาชีพเกษตรกรรุ่นใหม่ของเธอมีรูปธรรมที่ชัดเจนทั้งแนวคิดและการลงมือกระทำ “สลิดา”ทิ้งเงินเดือนครึ่งแสนจากการเป็นพนักงานแบงค์ ผันชีวิตสู่ชีวิตเกษตรกรโดยเนรมิตฟาร์ม “ณ.ไร่ ชายแดน”

“สำหรับแรงบันดาลใจในการหันมาทำอาชีพเกษตรกร เกิดจากมีความฝันอยากทำฟาร์มของตัวเองด้วยการพลิกฝืนพื้นดินเกษตรของครอบครัวจำนวน 35ไร่ซึ่งเดิมทำเกษตรเชิงเดี่ยวและมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ผลผลิตตกต่ำมาอย่างตลอด โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยกันหันมาปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อยนั่นคือการปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นเนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศและปลูกให้ผลผลิตดีในพื้นที่สระแก้ว ซึ่งตนเองได้เปรียบเพราะสามารถอ่าน ออกเขียนหลายภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษากัมพูชาทำให้ง่ายในการเข้าไปบุกเบิกตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้เอง

ลลิดา” เล่าวด้วยว่า จากนั้นต่อยอดด้วยการเลี้ยงหมูหลุมแบบอินทรีย์ตามด้วยเลี้ยงไส้เดือนคอนโด ทำเป็นปุ๋ยภายใต้แบรนด์ “ไอเดือน” โดยการรวมกลุ่มกับคนในชุมชนกว่า 40 ครอบครัวในการรวมตัวการผลิตและรวมตัวกันขายโดยมีตลาดหลักในประเทศกัมพูชา นอกจากนั้นยังได้แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์เองส่งขายตามร้านในท้องถิ่นสร้างรายได้เป็นอย่างเป็นดี และยังร่วมกับคนในชุมชนต่อยอดการตลาดด้วยการเปิด”สวนเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบพอเพียง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมขบวนการผลิต แปรรูปในฟาร์ม

ลลิดากล่าวว่าหลักสำคัญของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่นั้น จะต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด มีความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์และสภาวการณ์ ปัจจุบันจังหวัดสระแก้วมี” Young Smart Farmer ทั้งหมด 5 รุ่น จำนวน 150 คน รุ่นละ 30 คน เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง และมีการตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่” ขึ้นมาช่วยทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ๆ สามารถก้าวเดินแบบก้าวกระโดดที่สาม สี่ ห้า และหก ได้ทันที เป็นการต่อยอดและการเข้าถึงโอกาสในความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นที่นับหนึ่งใหม่กันทุกคน

ลลิดากล่าวย้ำด้วยว่าด้วยว่า ในอนาคตการทำกาเกษตรจะอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จะต้องทำในรูปแบบการตลาดนำการผลิต เน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่ม ที่สำคัญคือเกษตรกรุ่นใหม่และการพัฒนาชุมชนจะต้องเดินไปควบคู่กัน โดยตนมีความมุ่งมั่นเป็นแบบอย่างงหรือไอดอลให้คนรุ่นใหม่ที่คิดจะก้าวมาสู่อาชีพเกษตรกร เพื่อให้ค่าว่าเกษตรกรมีคุณค่า ทำให้คนรุ่นหลังเห็นว่าการเกษตรเป็นหัวใจหลัก ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร อาหารที่ยั่งยืนของมนุษย์ ฉะนั้นทำการต่อยอดแค่ว่าให้การตลาดนำการผลิตเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนด้วยการกล้าคิด กล้าทำ กล้าลองและมีความมุ่งมั่นในเป้าหมายในการก้าวสู่อาชีพเกษตรรุ่นใหม่

Young Smart Farmer จึงถือเป็นพลังสำคัญของภาคเกษตรไทยที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาภาคเกษตรไปสู่ความทันสมัยและทันเหตุการณ์ภายใต้การนวัติกรรมใหม่ๆ คิดค้นใหม่ๆ มีแนวคิดที่แตกต่าง มีองค์ความรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน