“…ทุกคนที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่ รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

ย้อนกลับราว 50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามตามแนวชายแดน เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม ส่งผลให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดานหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลน ไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์และบริการทางด้านสาธารณสุข ในปี พ.ศ 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

ศ.พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและคณะรัฐมนตรี เห็นสมควรอย่างยิ่งในการจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เสี่ยงภัย และมีชุมชนหนาแน่น โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ ผู้สูงอายุในถิ่นทุรกันดาร จำนวน 21 แห่ง โดยมุ่งปรับปรุงและขยายจากศูนย์การแพทย์หรือสถานีอนามัยที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ด้วยพลังแห่งความจงรักภักดี พสกนิกรไทยทั้งประเทศพร้อมใจบริจาคที่ดิน 81 แปลง และสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลรวมมูลค่ากว่า 155 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลชุมชน 21 แห่งทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามโรงพยาบาลทั้งหมดนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช”

เงินบริจาคและทรัพย์สินส่วนที่เหลือได้รับพระบรมราชานุญาตนำมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นองค์นายกกิติมศักดิ์ และได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทั้ง 21 แห่ง นอกจากนี้ ยังทรงใฝ่พระทัยติดตามกิจการและผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่งอย่างสม่ำเสมอทั้งได้มอบพระราโชบายแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาล

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2522-2523 เป็นโรงพยาบาลของประชาชนอย่างเต็มภาคภูมิทั้ง 21 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ปัว อ.ปัว จ.น่าน, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เดชอุดม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระนวน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กุฉินารายณ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เลิงนกทา อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช บ้านดุง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

ภาคตะวันออก 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว ภาคกลาง 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และภาคใต้ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เวียงสระ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ฉวาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา

ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ไม่เพียงให้บริการรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดาน แต่ยังทำหน้าที่เทิดพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลต้นแบบให้กับโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง บุคลากรทุกส่วนของโรงพยาบาลสำนึกเสมอว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกำเนิดจากศรัทธาอันแรงกล้าของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย จ.เลย แพทย์ที่อยู่กับโรงพยาบาลแห่งนี้มานับตั้งแต่ปี 2532 เล่าว่า ในอดีตหน่วยบริการสาธารณสุขจะมีแต่ในตัวจังหวัดเท่านั้น คนไข้จึงไม่ยอมไปหาหมอ รักษากันเองตามวิถีชาวบ้าน คนเป็นต้อกระจกต้องตาบอด คนติดเชื้อก็เสียชีวิตอยู่บนเขา เพราะเดินทางไม่ไหว

“การมีโรงพยาบาลชุมชนจึงเป็นโอกาสสำคัญให้ชาวบ้านได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันโรงพยาบาลเรามี 60 เตียง และมีโฮมวอร์ด หรือการใช้บ้านเตียงดูแลผู้ป่วย 30-40 เตียง เพราะทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดคือคนช่วยดูแลผู้ป่วย เราจึงส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้กับคนในชุมชน ให้เขารู้ว่าหมอไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาว แต่ตัวเขาเองต่างหาก นี่คือแนวทางที่ยั่งยืนของโรงพยาบาลชุมชนแบบเรา เราน้อมนำเอาพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า ‘เอาใจใส่ เสมอหน้ากัน’ มาย้ำเตือนจิตใจเสมอว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้การรักษาแต่ต้องมีความเป็นมนุษย์ให้โอกาสทุกคนด้วย”

เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรี จ.ปัตตานี ที่แม้พื้นที่จะไม่กันดารมากนัก แต่ก็เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหนักเข้าทำการรักษาในทุกๆวัน จึงต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระยุพราช สายบุรี เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า จากโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียงในวันนั้น ตอนนี้เราเติบโตขึ้นเป็นแม่ข่ายโรงพยาบาลของชุมชนใกล้เคียง รับดูแลผู้ป่วยที่ส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลจังหวัด มีการผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองว่าถูกหลักฮาลาล ทั้งเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย หัตถเวชกรรมไทย สูตินรีเวช และแผนกขาเทียม ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โรงพยาบาลยังส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน ด้วยการรับซื้อข้าว พันธุ์ผัก มาทำงานอาหารในโรงพยาบาลอีกด้วย

“เราอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเสด็จเยี่ยมของพระบรมวงศานุวงศ์ถือเป็นกำลังใจให้กับคนที่นี่ เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชทานถุงของขวัญให้ผู้ป่วยทุกคน ทั้งยังมีรับสั่งอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในปัญหาสุขภาพอย่างมาก ขณะที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ตรัสกับเราว่าขอบใจทุกคนที่ช่วยดูแลประชาชน ยังความปลาบปลื้มให้กับคนทำงานอย่างยิ่ง และแน่นอนว่าการทำงานในพื้นที่ห่างไกลต้องใช้ใจ หมอเองก็ตั้งใจรับคนในพื้นที่มาทำงาน ไม่ใช่มาใช้ทุนไม่กี่ปีแล้วก็ไป หลายคนเป็นญาติกับชาวบ้านก็ยิ่งพูดคุยกันได้ง่าย โชคดีที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมใจก้าวไปด้วยกัน”

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้รับบริการที่มีคุณภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระบบ ISO 9002 และ HA โดยมี 2 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น

เพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพสกนิกร กลุ่มบริษัทมติชน จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดงานมหกรรมสุขภาพ เฮลท์แคร์ 2019 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ สู้โรค” ปีที่ 11 ของมหกรรมสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ บนเนื้อที่กว่า 5,000 ตร.ม. ขนทัพหน่วยงานและองค์กรด้านสุขภาพชั้นนำมาร่วมขับเคลื่อน ผลักดันให้คนไทยรอบรู้ด้านสุขภาพ ผ่านการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย พร้อมการตรวจรักษาครอบคลุมทุกโรคโดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลระดับประเทศ 30 แห่ง รองรับผู้เข้ารับบริการได้มากกว่า 10,000 คน ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยิ่งใหญ่กว่าเดิมกับสถานที่ใหม่ “ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ ห้ามพลาด 27-30 มิถุนายน 2562

#Healthcare2019 #เรียนรู้สู้โรค #อิมแพคเมืองทองธานี #MatichonEvent

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน