ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี อาจทำให้การใช้สมองเพื่อคิด จดจำ ตัดสินใจน้อยลง เสี่ยงต่อภาวะ ‘สมองเป็นสนิม’ โดยไม่รู้ตัว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ด้วยความหลากหลายและวิวัฒนาการที่ก้าวไกล ทำให้สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย และยังง่ายต่อการเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โซเชียลมีเดีย” ที่มีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่เลือกใช้เวลาว่างดื่มด่ำกับการท่องโลกออนไลน์ จนกลายเป็นสังคมก้มหน้าอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน นวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกล้ำสมัย ก็เป็นอีกตัวช่วยสำคัญให้ทุกการใช้ชีวิตง่ายขึ้น ทำให้เราหันมาพึ่งพาสิ่งเหล่านี้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

“ระบบจีพีเอสช่วยนำทาง เครื่องคิดเลข การบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ ยานยนต์ไร้คนขับ เมืองอัจฉริยะ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสื่อสารที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด รองรับกระแส 5G ที่กำลังมาแรง อาจทำให้การใช้สมองเพื่อคิด จดจำ ตัดสินใจน้อยลงเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า ‘สมองเป็นสนิม’ อย่างไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วขึ้น ประชาชนจึงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง และไม่ลืมฝึกสมองให้แข็งแรงอยู่เสมอ” นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวเตือนพลังพบข้อมูลว่าปัญหาโรคสมองเสื่อม เป็นภัยเงียบทางกายที่กำลังเข้ามาพร้อมกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขครั้งล่าสุดในปี 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม คือสมองสูญเสียความสามารถในการจำ การคิด สติปัญญา อารมณ์ มีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนไป จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน ทำงานหรือเข้าสังคมได้ ยิ่งอายุมากยิ่งพบมากเป็นเงาตามตัว ในภาพรวมทั่วประเทศคาดว่าจะมีกว่า 8 แสนคนที่มีภาวะสมองเสื่อม จากผู้สูงอายุในปี 2561 ที่มี 10.6 ล้านกว่าคน โดยสาเหตุมาจากหลายประการ แต่ที่พบบ่อยและไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาชะลอไม่ให้เสื่อมเพิ่ม อันดับ 1 คือโรคอัลไซเมอร์ พบได้กว่าร้อยละ 80 รองลงมาเกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้เนื้อสมองตาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหลังป่วยประมาณ 8 ปี

นพ.กิตต์กวี กล่าวอีกว่า สมองเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากกว่า 1,000 ล้านเซลล์ ทำงานตลอดเวลาทั้งการควบคุมความคิด ความจำ การตัดสินใจ การเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ กำกับการเต้นของหัวใจ การหายใจ การย่อยอาหาร และการพักผ่อน ปกติเซลล์สมองจะมีโอกาสเสื่อมลงเมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่าเซลล์ประสาทจะถูกผลิตสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อยๆตลอดเวลาไม่มีหยุด ตราบใดที่มีการฝึกการใช้สมองบ่อยๆ ในทางตรงกันข้ามหากสมองไม่ถูกใช้งาน เซลล์ประสาทจะเสื่อมสลายและตายไปที่สุด จึงมีความเป็นห่วงการใช้ชีวิตของประชาชนในยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเจริญก้าวหน้า

ไม่เพียงส่งผลกระทบทางกายเท่านั้น การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมากจนเกินพอดี ยังอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ข้อมูลจาก “เดอะ วีค แมกกาซีน” ระบุว่า มีหลายงานวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้โซเชียลมีเดีย และโรคซึมเศร้า เช่น งานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ใน The American Journal of Preventative Medicine พบว่ายิ่งใช้โซเชียลมีเดียมาก ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้นตามไปด้วย อีกงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซูรี ก็พบว่าการใช้เฟซบุ๊ก สามารถนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ หากคุณใช้มันเพื่อดูชีวิตของคนอื่น และนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเอง จนเกิดความรู้สึกอิจฉา

แต่ทั้งหมดนี้ป้องกันได้ เพียงใช้โซเชียลมีเดียอย่างถูกวิธี กรมสุขภาพจิตแนะเคล็ดลับการใช้โซเชียลอย่างรู้เท่าทัน ด้วย Do รู้เป้าหมาย ควบคุมเวลา ใช้วิจารณญาณกับเนื้อหา และใช้เพื่อทำสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต และ Don’t อย่าทำด้วยความรู้สึก เช่น เล่นอินเตอร์เน็ต เพราะรู้สึกเบื่อ เหงา ตื่นเต้น เล่นไป เรื่อยๆ งมงาย รุนแรง ลามก จมปลัก แต่ควรใช้อินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อค้นหาความรู้ เพื่อผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมฝึกสมองเพื่อลดการเกิดสนิมและชะลอการเสื่อม ง่ายๆ เพียง ‘ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ’ เคลื่อนไหวต่อเนื่องกันตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไปต่อครั้งอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ท่ไม่เพียงช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี แต่ยังกระตุ้นการสร้างเซลล์สมอง ปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และสลายความเครียดไปในตัว ‘ฝึกลับคมสมอง’ ด้วยกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เพื่อเพิ่มความสามารถการทำงานให้สมอง เช่น การคิดค่าซื้อของใช้รายวัน ฝึกการจำเพลงโดยการฟัง ฝึกท่องสูตรคูณ ฝึกสวดมนต์ หรือฝึกสมองผ่านเกมจับผิดภาพ เกมสะกดคำ เกมตัวต่อภาพหรือจิ๊กซอว์ เกมไขว้คำศัพท์ เป็นการออกกำลังกายสมอง กระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองทำงานได้ดี มีการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง และ ‘ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ’ เช่น ใช้มือข้างไม่ถนัดจับช้อนกินข้าว จับปากกาหรือดินสอเขียนหนังสือ หรือจับแปรงสีฟันแปรงฟัน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีขึ้น

หากอยากได้เทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด มาพบกันได้ในงาน เฮลท์แคร์ ปีที่ 11 เรียนรู้ สู้โรค 2019” กับกิจกรรมบริหารสมอง กระตุ้นความจำ ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ โดย ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ประจาสาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ห้ามพลาด 27-30 มิถุนายนนี้ ณ ฮอลล์ 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน