ปทุมธานีโมเดล ศูนย์กักตัว ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ตัดวงจรระบาดของโควิด

การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการแยกตัวของผู้เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน ขณะที่บางคนประสบปัญหาไม่มีพื้นที่กักตัวให้ห่างจากครอบครัว

ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ตัดวงจรโควิด-19” (Isolation Facility) ที่จ.ปทุมธานี จึงถูกตั้งขึ้นจากระดมความคิดของคนในหลายสาขาอาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ นักปกครอง วิศวกร สถาปนิก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จับมือ เครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) และภาคประชาสังคม ชู ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ตัดวงจรโควิด-19 เพื่อแยกประชาชนที่เป็นกลุ่มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังแต่ไม่มีสถานที่กักตัวที่ดีพอ ให้มีที่พักแยกจากครอบครัวและชุมชน ลดความเสี่ยงของชุมชนที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกปทุมธานี ต้าน COVID-19 กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกโดยเริ่มที่ปทุมธานีครั้งนี้ เพราะมองว่าการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ทุกคนควรได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปัจเจก จนถึง ระดับชุมชน สังคม

ซึ่งหากมองในเชิงยุทธศาสตร์ ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกไม่ได้นำผู้ติดเชื้อมาพักอาศัย จึงไม่ใช่สถานพยาบาล แต่เป็นที่พักอาศัยระหว่างกักแยก ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกจึงเป็นกระบวนการต้นน้ำที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัส ที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวหรือชุมชน ดังนั้น ต้นน้ำก็ยังรวมถึงชุมชนสังคมด้วย ส่วนกลางน้ำ คือ โรงพยาบาล (hospital) และปลายน้ำ คือ การจัดตั้งโรงพยาบาลพิเศษโรงพยาบาลสนาม (cohort hospital)

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ และ ผอ.สำนักยุทธศาสตร์และแผน TIJ อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการต้นน้ำของศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกปทุมธานี ที่จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า ถ้าเราจัดการต้นน้ำได้เร็ว ก็ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อในชุมชน

การระบุตัวได้เร็ว (early identification) การกักแยกตัวเร็วตั้งแต่ระยะสังเกตอาการ (early isolation) การส่งต่อรักษาได้เร็ว (early treatment) โอกาสหายเร็ว

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ เป็นต้นแบบการลงปฏิบัติการในระดับท้องถิ่น ลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างปลอดภัย เพิ่มการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพของผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่มีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัด ที่จำเป็นต้องกักตัวให้มีที่พักแยกจากครอบครัวและชุมชน ลดความเสี่ยงของชุมชนที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ โดยหวังขยายผลการปฏิบัติสู่พื้นที่ชุมชนในจังหวัดอื่นต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน