ประชุมติดตามแผนปฏิบัติงาน – “บิ๊กหน่อย” เรียกประชุม กอ.รมน.ติดตามแผนปฏิบัติงาน ด้าน โฆษกฯ เผยนายกฯ กำชับแผนป้องกันชายแดนเฝ้าระวังโควิด-ลักลอบเข้าเมือง เรงขับเคลื่อนคอลเซ็นเตอร์รับแจ้งเหตุ

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)“บิ๊กหน่อย” พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ครั้งที่ 11/2563 สรุปผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน. (ส่วนกลาง) และผู้แทนของ กอ.รมน.ภาค 1-4 เข้าร่วมประชุมฯ

 

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า สรุปเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.รมน. กำชับ กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนดำเนินการป้องกัน การแพร่ระบาดโควิด-19 ของผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และรณรงค์มาตรการป้องกันส่วนบุคคลจากแนวทางการบริหารสถานการณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ในห้วงเดือนตุลาคมได้มีความมุ่งหมาย

เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่สังคมควบคู่กับการลดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยทั้งนี้ จะต้องสอดคล้องกับความพร้อมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดนอีกด้วย

“ตามนโยบายของ ผอ.รมน. ที่ได้มอบหมายให้ กอ.รมน. โดย กอ.รมน.จังหวัด และ กอ.รมน.ภาค ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างความตระหนักและการรับรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลร่วมดำเนินการป้องกัน ตรวจสอบ และสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองตามแนวชายแดน รวมถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์ประชาสัมพันธ์รับทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นที่เชื่อมั่นแก่ประชาชน

โดยเฉพาะในการรณรงค์ให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย, การล้างมือบ่อยๆ การรักษาระยะห่าง รวมถึงการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะเมื่อเข้าไปสถานที่สาธารณะ กอ.รมน. จึงใคร่ขอให้ประชาชนได้เข้าใจถึงแนวทางการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาลตลอดจนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และสังคมของเรา”โฆษก กอ.รมน.กล่าว และว่า

เรื่องที่ 2 กอ.รมน. ขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการรับแจ้งเหตุความมั่นคง 1374 เป็นช่องทางให้ประชาชนแจ้งเหตุในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง กอ.รมน. ได้พัฒนาจัดระบบการให้บริการการรับแจ้งเหตุความมั่นคงของ กอ.รมน. ด้วยระบบCALL CENTER 1374 เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการรับแจ้งเหตุความมั่นคง

ปัจจุบันได้กำหนดขอบเขตการให้บริการข้อมูลด้านความมั่นคง ในเบื้องต้นแก่ประชาชน ให้สามารถบริหารจัดการเหตุความมั่นคงได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทุกเวลาในการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและหลายช่องทางตั้งแต่เดือน กรกฎาคม- ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนแจ้งเหตุและแก้ไขปัญหาแล้วคิดเป็นร้อยละ 30 ซึ่ง กอ.รมน. มีเป้าประสงค์ ในการให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.ธนาธิป กล่าวอีกว่า เรื่องที่3 กอ.รมน. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการกำกับติดตามและประเมินผลแผน ตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเพื่อให้เกิดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ โครงการกำกับติดตามและประเมินผลแผน ตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของ กอ.รมน. เป็นโครงการสำคัญ (Flagship project) ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงโดยนำพันธกิจ 4 ประการของ กอ.รมน. มากำหนดเป็นกิจกรรมในการดำเนินงานโครงการ

ได้แก่ กิจกรรมการแจ้งเตือน และประเมินแนวโน้มภัยคุกคามด้านความมั่นคง, กิจกรรมการวางแผน และการอำนวยการ, กิจกรรมการเสริมสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน, กิจกรรมการติดตามและประเมินผล โดยในปี 63 ได้ดำเนินการทั้ง 77 จังหวัด1,200 ตำบล ตามความเร่งด่วนของภัยคุกคามแต่ละจังหวัด

โฆษกกอ.รมน. กล่าวต่อว่า ในปี 64 ได้จัดพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น จำนวน 3,000 ตำบล เพื่อให้ครอบคลุมภัยคุกคามที่มากขึ้น โดยจะดำเนินการจนครบทุกพื้นที่ภายในปี 2565 จะทำให้ทุกตำบลในประเทศไทยมีระบบการทำงานด้านความมั่นคงที่สมบูรณ์ขึ้นมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอนสำหรับประโยชน์ต่อโครงการดังกล่าวคือ จังหวัดจะมีความพร้อมในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทุกภาคส่วนในพื้นที่เป้าหมายมีความตระหนักรู้ และเข้าใจสถานการณ์ภัยคุกคาม

โดยเข้ามามีส่วนร่วนในการป้องกัน/แก้ไขปัญหา กอ.รมน. จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จำนวน 3 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ทั้ง77 จังหวัด ให้มีความเข้าใจต่อการดำเนินโครงการกำกับติดตาม และประเมินผลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของโครงการ


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน