สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จัดงานแถลงข่าว “วิกฤติปฐมวัย กระทบอนาคตชาติ” ณ หอประชุมศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆนี้ โดย ดร.สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงสภาวะเด็กไทยในปัจจุบัน พบว่า “เด็กไทยในปัจจุบัน ถูกเร่งเรียนเน้นแต่การพัฒนาไอคิว ไม่เปิดโอกาสให้ สำรวจ ลงมือทำ ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ขาดการเรียนรู้ทักษะชีวิต ไม่มีวินัย ขาดความยับยั้งชั่งใจ ฯลฯ แต่ปฐมวัยถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์เพราะเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทักษะสำคัญต่างๆที่จะเป็นรากฐานของพัฒนาการในวัยต่อไปซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯมีความเป็นห่วงอนาคตของเด็กไทยเป็นอย่างยิ่ง และต้องการที่จะจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกภาคส่วนมองเห็นปัญหาที่เป็นวิกฤติสำคัญที่เรากำลังเผชิญอยู่เพื่อหาทางแก้ไข สร้างแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม และทำให้เด็กไทยของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต”

ทางด้านอาจารย์จินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯได้กล่าวถึงมุมมองเรื่องวิกฤติเด็กปฐมวัยว่า “สภาพสังคมไทยปัจจุบัน เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีลูกน้อยลง พ่อแม่จึงตั้งเป้ากับความสำเร็จของลูกไว้มาก พร้อมทุ่มเททุกอย่าง”โดยคณะผู้ศึกษาเอกสารและสังเคราะห์งานวิจัยวิกฤตเด็กไทยพบว่าค่านิยมร้าย 4 อย่าง ของพ่อแม่ที่ส่งผลกระทบถึงการพัฒนาวินัยของเด็กในระยะยาวได้แก่

1) ค่านิยม“ลูกต้องมีอนาคตที่ไกลสดใส(กว่าพ่อแม่)” พ่อแม่ผลักดันเด็กด้วยความคาดหวังให้ลูกเป็นคนเก่งฉลาดกว่าคนอื่นซึ่งอาจทำให้เด็กเติบโตเป็นคนเก่งฉลาดแต่ไร้วินัยค่านิยมนี้ส่งผลให้พ่อแม่เร่งเด็กทางด้านวิชาการไม่ส่งเสริมในเรื่องอื่นๆทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาการมีวินัยรวมทั้งทักษะที่สำคัญอื่นเช่นความคิดสร้างสรรค์ทักษะทางอารมณ์ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมเมื่อเด็กเติบโตขึ้น

2) ค่านิยม“ลูกเป็นหน้าตาของพ่อแม่”ยุคนี้ความสำเร็จของลูกกลับเป็นทั้งความภาคภูมิใจและความเป็นหน้าตาทางสังคมของพ่อแม่จึงมักควบคุมขีดเส้นทางให้ลูกเดินมีการตีกรอบและข้อตกลงที่เคร่งครัดเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเองหวาดระแวงมีความเครียดและวิตกกังวลมีภาวะซึมเศร้าไม่รู้จักการแก้ไขปัญหารวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะออกนอกลู่นอกทางถ้ามีโอกาส

3) ค่านิยม “ลูกฉันเก่งไร้เทียมทาน”ปัจจุบันนี้แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลงและมีลูกยากพ่อแม่จึงรักและให้ความสำคัญกับลูกมากทำให้เกิดเป็นค่านิยมของการหลงลูกลูกฉันดีกว่าเก่งกว่าพ่อแม่ทั้งผลักดันและชื่นชมในทุกสิ่งอย่างที่ลูกกระทำไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่เด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ขาดวินัยมีนิสัยปัดความรับผิดชอบไม่ยอมรับความผิดของตนเองและชอบโทษคนอื่น

4) ค่านิยม “วัตถุทดแทนเวลาที่หายไป”ความกดดันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวพ่อแม่จึงมักชดเชยเวลาด้วยการตามใจลูกปรนเปรอลูกด้วยวัตถุ แต่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยและไม่ได้รับการส่งเสริมในเรื่องวินัยหรือทักษะต่างๆซึ่งเด็กจะกลายเป็นคนว้าเหว่ขาดความอบอุ่นขาดความเชื่อมั่นในตนเองมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมรวมทั้งอาจมีการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจเช่นติดยาเสพติดทะเลาะวิวาท

จะเห็นได้ว่า 4 ค่านิยมร้ายของพ่อแม่ ส่งผลกระทบต่อลูกอย่างคาดไม่ถึง และเมื่อพ่อแม่เร่งให้ลูกโตกว่าที่ควร ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกที่ขัดต่อธรรมชาติและพัฒนาการโดยเฉพาะการเร่งรัดด้านสติปัญญา ความฉลาด จะทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะสำคัญอื่นๆในช่วงเวลาทองที่สมองของเด็กจะเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุดทำให้เด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาครอบครัว และส่งผลต่อสังคมโดยรวมดังนั้นทางสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาและขยายแนวคิดตามหลักการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองได้ศึกษารวบรวมข้อมูลความรู้งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาและแนวทางในการพัฒนาโดยจัดทำเป็นหนังสือ“วิกฤติปฐมวัยไทยและแนวทางแก้ไข”และได้นำประเด็นวิกฤติสำคัญดังกล่าวมาจัดทำเป็นคู่มือแนะนำแนวทางปฏิบัติเล่มย่อยอีก 4เล่มได้แก่1)การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวม2)การสร้างวินัยสำหรับเด็กปฐมวัย3)การส่งเสริมความสามารถทางภาษาเด็กปฐมวัยและ4)การใช้สื่อเทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัยซึ่งทางสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ“วิกฤติปฐมวัยไทยและแนวทางแก้ไข”และคู่มือทั้ง 4 เล่มนี้ จะสามารถช่วยแนะแนวทางการดูแลเด็กปฐมวัย ให้แก่พ่อแม่ ครู และผู้ปกครอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเด็กที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไปสำหรับผู้ปกครองหรือโรงเรียนที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบดิจิทัลได้ที่ www.preschool.or.th

สำหรับเนื้อหาในหนังสือ“วิกฤติปฐมวัยไทยและแนวทางแก้ไข” และคู่มือทั้ง 4 เล่มนี้ได้แนะแนวทางในการดูแลและพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมไว้ดังนี้

พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม

เมื่อเด็กปฐมวัยถูกเร่งด้านวิชาการมุ่งแต่พัฒนาเฉพาะทางด้านสติปัญญาและทำสิ่งต่างๆ เกินวัย จนเกิดความเครียด ส่งผลให้เด็กมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ ขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะสำคัญอื่นๆ ในช่วงเวลาที่สำคัญการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว ขาดโอกาสพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในอนาคตการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมจึงเป็นคำตอบของเด็กปฐมวัย

  • พัฒนาทุกด้านไปพร้อมกันอย่างสมดุลทั้งร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม และสติปัญญา
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้รับโอกาสในการเลือกเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัย และสอดคล้องกับสิ่งที่เด็กสนใจ
  • มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

วินัยดี สร้างได้ตั้งแต่เด็ก

การปลูกฝังเรื่องวินัยควรฝึกหัดตั้งแต่เด็กยังเล็กการเลี้ยงลูกแบบปกป้องตามใจอย่างไร้ขอบเขตขาดการอบรมสั่งสอน หรือการใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกด้านลบและต่อต้าน ควรหันมาใช้การสร้างสรรค์และใช้วินัยเชิงบวกแทน

  • พ่อแม่ควรให้ความใกล้ชิดอบอุ่น สร้างสัมพันธภาพอันดีให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ
  • ควรมีการวางกรอบกติกาปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ฝึกฝนจนเป็นกิจนิสัย
  • อบรมและให้เหตุผลแก่เด็กในสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ รวมทั้งสอนให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ส่งเสริมทักษะภาษาอย่างมีประสิทธิภาพ

“ภาษา”เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา แต่ด้วยวิกฤติการสอนภาษาในปัจจุบัน คือการเร่งเรียนในช่วงปฐมวัย หรือการเปลี่ยนผ่านของชั้นเรียนจากอนุบาลสู่ประถมศึกษาจากการสอนภาษาให้เข้าใจอย่างองค์รวม เปลี่ยนไปสู่การเน้นเขียนอ่าน ทำให้เด็กเกิดปัญหาในการปรับตัว ไม่มีความสุข อีกทั้งจากกระแสการเปิดสู่อาเซียน ทำให้เด็กถูกเร่งรัดให้เรียนรู้หลายภาษาไปพร้อมๆ กัน การส่งเสริมความสามารถทางภาษาให้กับเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพควรทำดังนี้

  • ให้ความสำคัญภาษาแม่ก่อนภาษาต่างประเทศ
  • พัฒนาทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนไปพร้อมกัน อย่างเหมาะสมกับวัย
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทักษะภาษาในสถานการณ์ประจำวันที่มีความหมายต่อตัวเด็ก
  • จัดสื่อและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาตามธรรมชาติ
  • ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้วยการเล่า การอ่านนิทาน หรือหนังสือที่เด็กสนใจให้ฟัง

สื่อเทคโนโลยี ใช้อย่างไรให้เหมาะสม

สื่อเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ ล้วนเป็นเทคโนโลยีอันเป็นประตูสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ แต่ไม่ใช่พี่เลี้ยงเด็ก การใช้เครื่องมือเป็นเพื่อนเล่น เพื่อให้ลูกเงียบ ไม่กวน แต่ขาดการใช้เวลาร่วมกับลูก จะส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเพราะด็กไม่ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย สมองไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว แล้วการใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ควรทำอย่างไร?

  • ต้องไม่ใช้เพื่อทดแทนการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
  • ควรใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้นและเลือกใช้ให้เหมาะกับวัย
  • จำกัดเวลาการใช้ หรือควรใช้ให้น้อยที่สุด หากจำเป็น ให้ใช้สื่อแบบปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบได้
  • ไม่ให้เด็กใช้สื่อเทคโนโลยีตามลำพังเด็กและผู้ใหญ่ควรใช้สื่อเทคโนโลยีร่วมกัน(co-viewing)

การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นต้องถือหลักพัฒนาการเด็กปฐมวัยเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมเพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงส่งผลซึ่งกันและกันและต้องเหมาะสมกับความสามารถวัยความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กจัดให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่สำคัญความร่วมมือระหว่างบ้านโรงเรียนและชุมชนจะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน