เมื่อ “วัคซีน” คือความหวังที่มนุษยชาติต่างนับวันเฝ้ารอ นักวิจัยวัคซีนจากหลายบริษัทชั้นนำทั่วโลกจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลายตามที่ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดจากการเปิดเผยของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะโดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ซึ่งได้คิดค้นแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีนด้วยพืช และพัฒนาสู่วัคซีนโควิด-19 นับตั้งแต่ครั้งที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ใหม่ๆ ขณะนี้ได้พัฒนาวัคซีนโควิดจากใบพืชจนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ และผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลอง ลิง-หนู เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พร้อมที่จะผนึกกำลังทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย ‘บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด’, ‘องค์การเภสัชกรรม’ และ ‘บริษัท คินเจนไบโอเทค จำกัด’ เดินสายผลิตและทดสอบในมนุษย์ ช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2564 หากกระบวนการทดสอบในมนุษย์มีผลสำเร็จทั้ง 3 ระยะ และสามารถนำมาใช้ได้จริง จะเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตได้เองโดยคนไทย ซึ่งก็ได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะสามารถผลิตวัคซีนพร้อมใช้ได้เร็วที่สุดในช่วงปลายปีนี้ นับเป็นความหวังของคนไทยที่ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนจากต่างประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองเพื่อความยั่งยืนได้ตามนโยบายของ มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์

ทั้งนี้ มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ได้เปิดโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคเงินคนละ 500 บาท จำนวน 1 ล้านคน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของทีมไทยแลนด์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือคนไทย ซึ่งความพิเศษของแคมเปญนี้คือ ผู้บริจาคจะได้รับสิทธิและใช้สิทธิในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” เป็นล้านคนแรกหากวัคซีนพัฒนาสำเร็จจะได้สิทธิ์จองวัคซีนก่อนใคร

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เปิดเผยว่า 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ธุรกิจนวัตกรรม จากคณาจารย์ นิสิต บุคลากรของจุฬาฯ ไปมากกว่า 193 ทีม ซึ่งวันนี้ใบยา ไฟโตฟาร์ม นับเป็นหนึ่งในทีมที่จุฬาฯ ภาคภูมิใจ และมองว่าเป็นความหวังของประเทศไทย นั่นคือการที่เราสามารถที่จะผลิตวัคซีนโควิด-19 เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่เผชิญภัยพิบัติโรคระบาดโควิด-19 อยู่ในขณะนี้

เราเอาแพลนต์เบส เทคโนโลยี และทีมงานสตาร์ทอัพ มาช่วยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ผ่านการทดลองในหนู ลิง เรียบร้อยแล้ว ถือว่ากระบวนการทั้งหมด ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด เป็นของคนไทย ฉะนั้นต้องสนับสนุนคนไทยให้สามารถประสบความสำเร็จได้ในเรื่องนี้ สนับสนุนสิทธิบัตรของคนไทยในการแปลงความรู้สู่การใช้งานจริงในสังคม เรามีเทคโนโลยีดีๆ ในไทย มีทีมงานที่พร้อม คิดและทำเพื่อสังคม ขอให้ได้มีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

ขณะที่ด้านความคืบหน้าของโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” รศ.ดร.ณัฐชา เผยว่า ได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนที่ดีจากหลายภาคส่วน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศจัดสรรงบประมาณในนามรัฐบาลไทยผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติกว่า 150 ล้านบาท ในพิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนบริจาคเข้ามาแล้วรวม 76,194 ราย คิดเป็นยอดเงินบริจาคกว่า 39 ล้านบาท อีกทั้งมีภาคเอกชนน้อยใหญ่ติดต่อขอบริจาคร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมไทยแลนด์กันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันในรายละเอียดของความร่วมมือระหว่างกันที่จะได้เปิดเผยต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติมอบเงินบริจาค ครั้งที่ 1 ให้กับบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด จำนวน 25 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อให้บริษัทใบยาฯ นำไปใช้ดำเนินโครงการตามแผนงานที่ได้เสนอมา โดยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทใบยาฯ จะต้องใช้เม็ดเงินอย่างน้อย 25 ล้านบาท ในการสร้างโรงงาน เฟส1 ซึ่งปัจจุบันโรงงานได้รับการอนุมัติจาก อย.แล้วเหลือแต่สร้างเท่านั้น

  • สรุปยอดเงินบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ ณ วันที่ 17 ม.ค. 2564 รวมทั้งสิ้นกว่า 39 ล้านบาท
  • รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติกว่า 150 ล้านบาท
  • มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ยังคงเปิดรับบริจาค จนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ถึงเป้าหมายในการทดลองวัคซีนในมนุษย์ 500 ล้านบาท

‘จุฬาฯ-ใบยา’ เปิดไทม์ไลน์ วัคซีนเพื่อคนไทย ลุ้นผลิตวัคซีนพร้อมใช้ไม่เกินปี 64

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เผยถึงรายละเอียดและขั้นตอนการเดินหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของใบยาฯ ว่า แบ่งการดำเนินงานต่อจากนี้ออกเป็น 5 ระยะ โดย ระยะที่ 1 (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2564) ปรับปรุงสถานที่ผลิตและเตรียมการด้าน Clinical Trial ระยะที่ 2 (มีนาคม – เมษายน 2564) ปรับปรุงสถานที่ผลิต ระยะที่ 2 เตรียมการด้าน Clinical Trial ทดสอบความเป็นพิษ ทำโปรตีนให้บริสุทธิ์และเตรียมการแบ่งบรรจุ ระยะที่ 3 (พฤษภาคม 2564) ปรับปรุงสถานที่ผลิตระยะสุดท้าย ติดตั้งเครื่องจักร เตรียมการด้าน Clinical Trial ทำโปรตีนให้บริสุทธิ์และแบ่งบรรจุ (ต่อ) ระยะที่ 4 (มิถุนายน – สิงหาคม 2564) ทดสอบในมนุษย์ Clinical Trial Phase 1-2 และระยะที่ 5 (สิงหาคม – ตุลาคม 2564) ทดสอบในมนุษย์ Clinical Trial Phase 3 โดยคาดว่าทีมไทยแลนด์จะสามารถผลิตวัคซีนพร้อมใช้ได้เร็วที่สุดในช่วงปลายปีนี้

ผลการศึกษาในสัตว์ทดลองเราเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และก็ได้มีการดำเนินงานเรื่อยมา เวลาเราจะผลิตวัคซีน ผลิตจากในห้องปฏิบัติการ ออกมาสู่ระดับอุตสาหกรรม จะต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้จำนวนมากๆ ซึ่งระหว่างนั้นก็มีเรื่องของการออกแบบสถานที่ผลิต และปรับปรุงสถานที่ผลิต ทำงานร่วมกับ อย. ซึ่งขณะนี้ อย. ได้อนุมัติตัวแปลนให้เราเริ่มดำเนินการปรับปรุงสถานที่ผลิตได้ ซึ่งอยู่ภายในจุฬาฯ มีพื้นที่ 1,000 ตร.ม. เป็นส่วนที่ไว้ใช้ผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ จนกระทั่งได้ตัววัคซีนออกมา ก่อนจะส่งไปทำให้บริสุทธิ์ที่ มจธ. บางขุนเทียน และแบ่งบรรจุที่องค์การเภสัชกรรม เหล่านี้เพื่อทำให้มีวัคซีนให้กับคนไทยได้เร็วที่สุด

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวอีกว่า สถานที่ผลิตที่อยู่ในจุฬาฯ จะมีกำลังการผลิตอย่างน้อยประมาณ 1 ล้านโดส สูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน นอกจากสถานที่ผลิตแล้ว ก็มีการปรับสูตรทำให้วัคซีนอยู่คงทนขึ้น ขณะนี้ผลทดสอบอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศา ได้ถึง 3 เดือนแล้ว มีการทดสอบภูมิคุ้มกันในระยะยาวมากขึ้น มีการทดสอบในสัตว์ทดลองเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้มีความมั่นใจมากขึ้น ที่สำคัญเลยคือการทดสอบความเป็นพิษ ก็ดำเนินการไปแล้ว เกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งหมดก็เพื่อที่จะทำให้เรามีความพร้อมในการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 ประมาณกลางปีนี้ แม้ว่าจะผลิตเมดอินไทยแลนด์ เชื่อมั่นได้เลยว่าคุณภาพไม่ได้แตกต่าง เราใช้มาตรฐานเดียวกับที่ “ไฟเซอร์ – โมเดอร์นา” ใช้ ทั้งหมดคือการทำงานที่เราไม่ได้รอเม็ดเงิน

‘จุฬาฯ-ใบยา’ พร้อมเดินเครื่องผลิตเต็มที่ 60 ล้านโดสต่อปี รองรับ 30 ล้านคน

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด หากดำเนินการสำเร็จจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ถึง 60 ล้านโดสต่อปี รองรับความต้องการใช้วัคซีนได้ถึง 30 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตวัคซีนภายในประเทศรวมถึง 260 ล้านโดสต่อปี เมื่อนับรวมกำลังการผลิตในส่วนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ดังนั้น ความสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เราสามารถพัฒนาและผลิตได้เองโดยคนไทยตั้งแต่ต้นน้ำ จึงเป็นความหวังของคนไทยและประเทศไทยที่จะสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับพี่น้องของเราจากการมีวัคซีนเป็นของเราเอง และยังช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อมวลมนุษยชาติ ให้เราพึ่งพาตนเองเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ อีกด้วย

ยังเปิดบริจาคต่อเนื่องผ่านโครงการ วัคซีนเพื่อคนไทย ได้ถึงสิ้นปี 64

รศ.ดร.ณัฐชา ระบุว่า เราอยากสร้างนวัตกรรมฝีมือคนไทยเพื่อคนไทยนับล้าน ก็ได้ 30 ล้านคนในปีแรก โดยกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อน ถัดจากกลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนดของภาครัฐ จะเป็นสิทธิ์ของ 1 ล้านคนแรกที่เข้ามาร่วมในโครงการนี้ จะมีสิทธิ์ได้จองซื้อวัคซีนก่อน หากผ่านการทดสอบในมนุษย์ 3 ระยะนี้ไปได้ น่าจะได้ยินข่าวดีในสิ้นปีนี้ คนไทยจะได้รับวัคซีนฝีมือคนไทย ของคนไทย เพื่อคนไทย 1 ล้านคนแรกใน 30 ล้านคน จะได้ไปก่อนผ่านโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย”

วันนี้เราเจอโควิด-19 อนาคตเราไม่รู้จะเจอกับอะไร ถ้าต่างประเทศไม่พัฒนาวัคซีนอะไรใหม่ๆ มาให้เรา เราจะอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้นวันนี้ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยด้วยการที่เราพึ่งตนเอง โดยนักวิจัยของคนไทย ด้วยวัสดุอุปกรณ์ สถานที่ รวมถึงการทำงานทั้งหมดในประเทศไทย

สามารถร่วมบริจาคได้ที่มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ซึ่งยังขาดเม็ดเงินบริจาคมากกว่า 300 ล้านบาท ผ่าน 3 ช่องทางง่ายๆ 1.บริจาคโดยตรงผ่านเลขบัญชี 162-6-01946-0 มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ธนาคารกรุงไทย สาขา จามจุรีสแควร์ 2. สแกน QR Code ผ่าน Mobile Banking ของธนาคารใดก็ได้บนเว็บไซต์ www.CUEnterprise.co.th และ 3. บริจาคผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เพียงแสดงบัตรประชาชน

ลงทุนวันนี้เพื่อเราและลูกหลานของเราในอนาคต สำหรับ #ทีมไทยแลนด์ ที่ได้บริจาคเข้ามาในโครงการแล้ว สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์สมนาคุณ ได้ที่ www.CUEnterprise.co.th และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2576-5500 หรือเว็บไซต์ www.CUEnterprise.co.th / เฟซบุ๊ก CUEnterpriseOfficial และ ไลน์ @CUEnterprise

#วัคซีนเพื่อคนไทย #จุฬาใบยา #CUEnterprise #ใบยาไฟโตฟาร์ม #ทีมไทยแลนด์ #สตาร์ทอัพสัญชาติไทย #วัคซีนโควิด #สถานการณ์โควิด #โควิดวันนี้ #ศบค. #ข่าวโควิด #โควิด-19 #COVID-19


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน