รศ.พ.ต.อ.โสรัตน์ กลับวิลา คณบดีคณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประกอบด้วย รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.กัญญ์ฐิตา ศรีภา ผศ.พ.ต.ท.ดร.ธีรวุฒิ นิลเพ็ชร์ และ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ ร่วมกับเครือข่ายอาชีวศึกษา และเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ เพื่อร่วมมือจัดโครงการวิจัย สถานศึกษาต้นแบบสานพลังความร่วมมือยุติการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาภายใต้ โครงการท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ​ ผู้บริหารจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคดุสิต วิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิค วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี วิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมธานี วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสมุทรปราการ

นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 ปกครองจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

รศ.พ.ต.อ.โสรัตน์ กล่าวว่า สำหรับ​เหตุผลความเป็นมาในการศึกษาวิจัย เริ่มต้นจากคณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาในสังคมไทย ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมาเนิ่นนานและทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลงไปง่ายๆ

คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาวิจัยต่อยอดจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ในโครงการ ต้นแบบการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ชู 2 หลักการสำคัญเพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือลดความรุนแรงของเด็กและเยาวชนคือ 2-Networks 2-Areas

เน้นการสร้างเครือข่ายข้อมูลและเครือข่ายความร่วมมือ และ​ เปิดพื้นที่สร้างความผูกพันทางสังคมและพื้นที่แสดงความสามารถสำหรับเด็กและเยาวชน ภายใต้กิจกรรมสำคัญ 8 กิจกรรม​ สำหรับสถานศึกษา ได้แก่ การวิเคราะห์ตนเอง การประสานเครือข่าย การคัดกรองนักเรียนนักศึกษา การจัดทำฐานข้อมูลนักเรียนนักศึกษากลุ่มเสี่ยง การพัฒนาครูที่ปรึกษา การตรวจตราความเรียบร้อยของนักเรียนนักศึกษาในและนอกสถานศึกษา การอบรมพัฒนา ดูแล นักเรียนนักศึกษา และการสร้างเวทีแสดงความสามารถให้แก่นักเรียนนักศึกษา

สำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการนำโมเดลและรูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นไปประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาอาชีวศึกษาแต่ละแห่ง รวม 9 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเลือกให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงที่มีปัญหาใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา และเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการเสริมสร้างพฤติกรรมอันดีของนักเรียนนักศึกษา

เพื่อสร้างสถานศึกษาต้นแบบสานพลังความร่วมมือยุติการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา อันจะทำให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้น และเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

เจตนารมณ์สำคัญในการจัดสัมมนาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือและสร้างความเข้าใจร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้ง 9 แห่งที่คัดเลือกมาเป็นสถานศึกษาต้นแบบ​ และเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการสานพลังความร่วมมือยุติความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาตามโมเดลต้นแบบที่นำมาใช้

ทั้งนี้จากการสัมมนา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้เข้าร่วมสัมมนาในการร่วมแสดงความคิดเห็น และมีข้อตกลงร่วมกันที่จะร่วมมือให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยสำเร็จลุล่วง

โดยมีความคาดหวังที่จะให้เกิดประโยชน์ดังนี้

1.ได้สถานศึกษาต้นแบบสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีการบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษาอื่น ๆ หรือหน่วยงาน/องค์การที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา และมีประสบการณ์รวมถึงแนวทางที่เหมาะสมในการนำกรอบการดำเนินการจากการศึกษาวิจัยไปใช้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบอย่างให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ

2. มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และระหว่างหน่วยงานกับชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา

3. วิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบได้ฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานศึกษาที่เป็นเครือข่ายได้ โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบที่เหมาะสม รวมทั้งมีแนวทางที่จะดำเนินการต่อยอดให้กลายเป็นฐานข้อมูลที่เป็น Big data ให้วิทยาอาชีวศึกษาทั่วประเทศและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน