สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจในระดับใหญ่เพียงเท่านั้น หากยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย ต่างได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน และต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มิติ

โฟกัสจึงจับจ้องการพยายามเข้าถึงแหล่งสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อหาโอกาสพลิกฟื้นธุรกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การจ้างงาน จนถึงการสร้างรายได้

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารออมสิน และภาคีเครือข่าย 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จึงผนึกกำลังสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ช่วยให้เอสเอ็มอี สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ง่าย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ สสว. ธนาคารออมสิน และ 5 ภาคีเครือข่าย ได้เดินหน้าผนึกกำลังครั้งใหญ่และครั้งสำคัญ ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อต่อผู้ประกอบการและธุรกิจ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ สสว. ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนหลายแห่ง เพื่อเป็นการเอื้อต่อธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของ สสว. 3 ด้าน ได้แก่ 1. ขยายช่องทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ตลาดออนไลน์ โดยสนับสนุนการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ 2. เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยร่วมมือกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เรื่องค่าใช้บริการโทรศัพท์ในราคาพิเศษ และ 3. การเชื่อมโยงแหล่งทุนต่าง ๆ ผ่านการร่วมมือกับแหล่งทุนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการร่วมมือกับธนาคารออมสิน

“การลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ คือ หนึ่งในรูปธรรมของ สสว. เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นทิศทางการดำเนินการเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ผ่านการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ ช่วยประชาสัมพันธ์การบริการของธนาคารออมสิน และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเอสเอ็มอีให้ได้มากที่สุด”

ด้าน นางลภาวรรณ จันทร์กระจ่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างมาก ธนาคารจึงออกมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อสอดรับกับนโยบายเปิดประเทศ

ความร่วมมือระหว่าง สสว. ธนาคารออมสิน และ 5 ภาคีเครือข่ายสำคัญของไทยครั้งนี้ ช่วยให้เอสเอ็มอีเดินหน้าธุรกิจได้เต็มที่ ด้วยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นพิเศษ คือ ‘สินเชื่อ SMEs ที่มีเงิน’ สำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ช่วยเสริมสภาพคล่อง เพื่อการลงทุน หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินราชการไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 2 ปี ยื่นกู้ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

นอกจากนี้ยังเปิด ‘สินเชื่อ GSB Smooth BIZ’ เงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่ออื่นตามมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan สำหรับเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สินเชื่อSoft Loan ธปท. เพื่อฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น

ทั้งนี้ หน่วยงานพันธมิตรที่เคยได้ร่วม MOU กับ สสว. มีการเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่สนใจและต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมภายในงานดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งประกอบด้วย แพลตฟอร์ม TikTok บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) Bank of China (Thai) บริษัท เทลสกอร์ จำกัด บริษัท ไทร เบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (Lotus) สถาบันมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย และ บริษัท เจนโทเซีย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน