สสส. พร้อมสนับสนุนเครือข่ายเภสัชกร ทำงานทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อนำมาสู่การบำบัดเลิกบุหรี่ของประชาชน

เภสัชกร ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในการให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการอยู่ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างเช่นบุหรี่ ซึ่งเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทสำคัญอย่างมาในการเข้ามาขับเคลื่อนงานชวน ช่วย เลิกบุหรี่

ภกญ.ทรัพย์พานิช พลาบัญช์ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรในการช่วยให้ประชาชนเลิกบุหรี่ว่า เป็นการทำงานเชิงรุกรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ บริเวณเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดใน 20 ชุมชน ร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำจากภาคส่วนต่าง ๆ ในลักษณะของ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ทั้งในกลุ่ม อสม. ครู โรงเรียน กลุ่มเยาวชน และพระสงฆ์ นอกจากรณรงค์แล้วยังช่วยคัดกรองผู้สูบบุหรี่ให้เข้ามาสู่การบำบัดเลิกบุหรี่กับสำนักงานสาธารณสุขได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ได้เดินหน้าโครงการเฝ้าระวังนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียน โดยเฉพาะในช่วงที่บุหรี่ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ผ่านกลุ่มครูและนักเรียน ให้ทราบถึงพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น พร้อมกับให้คำแนะนำภายในกลุ่มนักเรียนหรือภายในโรงเรียน แต่หากพบกรณีที่ครูไม่สามารถช่วยเหลือได้ ก็จะส่งต่อมายังเครือข่ายเภสัชกรฯ เพื่อรับบริการบำบัดช่วยเลิกบุหรี่

ส่วนการทำงานเชิงรับนั้น มีการบูรณาการกับการรักษาโรคทั่วไป ซึ่งจะเริ่มจากการสอบถามประวัติการสูบบุหรี่กับผู้ป่วยจากพยาบาลวิชาชีพก่อน หากพบว่ามีการสูบบุหรี่ เมื่อผู้ป่วยมารับยาที่ห้องยาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการชักชวน ให้คำแนะนำ จนไปสู่การเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ตั้งแต่ปี 2558 มีผู้เข้ารับการบำบัด 634 คน เลิกสูบบุหรี่ 129 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.21 ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจ พบว่าผู้เข้ารับการบำบัดมีความพึงพอใจ คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน และยังได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการให้แผ่นพับ สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้รณรงค์เชิงรุกในชุมชน พร้อมกับการจัดประชุมภาคีเครือข่ายร่วมกับ สสจ. และพัฒนาศักยภาพ จนทำให้งานขับเคลื่อนการเลิกบุหรี่ได้ผลเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือเหล่านี้”

ภกญ.ทรัพย์พานิช ระบุว่า ขณะนี้เริ่มมีกลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่นเข้ารับการบำบัด เพื่อขอเลิกบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งการเลิกบุหรี่ไฟฟ้า มีความแตกต่างจากการเลิกบุหรี่ธรรมดา เพราะวัยรุ่นหลายคนยังเข้าใจผิดต่อพิษภัยของบุหรี่ชนิดนี้ มองว่าเป็นแฟชั่นหรือการเข้าสังคม ทำให้วิธีการช่วยเลิกต้องมีเทคนิคให้คำปรึกษาที่ต่างจากวัยทำงานและคนที่เป็นโรคเรื้อรัง เพราะต้องทำให้เห็นถึงคุณค่าของการมีสุขภาพที่ดี แม้จะมียาช่วยเลิกบุหรี่เข้ามาเป็นตัวช่วย แต่การจะให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหันมาใช้ยาเพื่อช่วยเลิกก็ถือเป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน

“มีเคสหนึ่งที่เป็นนักฟุตบอลอายุ 19 ปี ที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องพยายามเลิกบุหรี่เพื่อให้ปอดแข็งแรงวิ่งได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย ต้องการทำตามความฝันให้เป็นจริง โดยครอบครัวได้เห็นการชักชวนให้เลิกบุหรี่จากศูนย์บริการสาธารณสุข จึงได้เข้ารับบริการใช้เวลอยู่ประมาณ 4-5 เดือน จนสามารถเลิกได้ในที่สุด” ภกญ.ทรัพย์พานิช กล่าว

ขณะที่นายชัชวาล วรฉัตร อายุ 78 ปี หนึ่งในบุคคลตัวอย่างผู้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จเป็นเวลา 6 เดือน กล่าวว่า ส่วนตัวได้สูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 17 ปี เมื่อได้เห็นสำนักงานสาธารณสุขเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด รณรงค์ให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ จึงได้สมัครใจเข้ารับการบำบัด เพราะตนเองก็มีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่มีรายได้จากทางอื่น จึงคิดว่าหากเลิกบุหรี่ได้ ก็จะมีเงินเหลือมากขึ้น จึงนำมาสู่การเข้ารับบำบัดครั้งนี้ โดยมีเภสัชกรให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี ให้กำลังใจมาโดยตลอด พร้อมกับให้ดื่มชาหญ้าดอกข้าว จนสามารถเลิกบุหรี่ได้ ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น นอนหลับสบายมากกว่าเดิม และมีเงินเหลือใช้เหลือเก็บมากขึ้น

ด้านนายสำราญ เฉยชมโฉม ตัวแทน อสม. ซึ่งเป็นบุคคลตัวอย่างที่เลิกบุหรี่ได้มาแล้ว 2 ปี กล่าวว่า การที่ตนเองมีหน้าที่ชักชวนให้ชาวบ้านเลิกบุหรี่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี อีกทั้งมองว่าการสูบบุหรี่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมด้วย เพราะบุหรี่ถือเป็นขั้นแรกของการเสพยาเสพติดชนิดอื่น

จึงอยากเข้ามาช่วยเพื่อไม่ให้เกิดจุดเริ่มต้นในการเสพยาเสพติด ซึ่งตนเองได้เข้ามารับบริการที่คลินิกฟ้าใส โดยได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรในการให้รับประทานผลไม้รสเปรี้ยวและได้รับยาช่วยเลิกบุหรี่ด้วย ซึ่งหลังจากเลิกบุหรี่ก็พบว่า ลดรายจ่ายได้จำนวนมาก หายใจได้เต็มปอดมากขึ้น เหนื่อยน้อยลงมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ก็พยายามช่วยเหลือประชาชนให้คนเลิกสูบบุหรี่อีกด้วย

นอกจากนี้ จังหวัดร้อยเอ็ด ยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบายจังหวัดปลอดบุหรี่อย่างเข้มแข็ง โดย นายสุรชัย เศวตกุญชร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต และยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ. ร้อยเอ็ด) กล่าวถึงการดำเนินงานจังหวัดปลอดบุหรี่ว่า ได้ประกาศให้ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดปลอดบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2554

ซึ่งในขณะนั้นเน้นการรณรงค์สร้างกระแสให้กับสังคม ต่อมาในปี 2556 เริ่มมีการบูรณาการงานควบคุมยาสูบและแอลกอฮอลล์ระดับจังหวัดควบคู่ไปด้วยกัน หลังจากนั้นในปี 2557-2559 ได้มีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อปี 2561 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 6 ภาคส่วน มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี

โดยคณะกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ของชาติใน 4 ข้อ ได้แก่ ส่งเสริมความเข้มแข็งการพัฒนาการควบคุมยาสูบ ป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ ช่วยผู้เสพให้เลิกสูบ จากนั้นก็สร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากควันบุหรี่ ทั้งนี้ จากการคัดกรองประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่าสามารถคัดกรองผู้สูบบุหรี่ได้ร้อยละ 40.1 ให้เข้าสู่ระบบบำบัดได้ร้อยละ 81 จนนำมาสู่การเลิกบุหรี่เป็นระยะเวลา 1 ปี ได้ประมาณร้อยละ 1.36

พร้อมระบุว่า ได้ตั้งเป้าหมายในการคัดกรองผู้สูบบุหรี่ในจังหวัดให้ได้ร้อยละ 50 เข้าสู่ระบบการบำบัดร้อยละ 85 และเข้ามาสู่การเลิกบุหรี่ให้ได้ที่ร้อยละ 25 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ก็มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนทั้งตำรวจ สรรพสามิต สาธารณสุข คอยลงพื้นที่ตรวจสอบว่า มีการขายบุหรี่อย่างไร ถูกต้องหรือไม่ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่ฝ่าฝืน พร้อมกับทำงานร่วมกับโรงเรียนในการช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันได้มีการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ในกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ในโรงพยาบาล พยาบาล อาสาสมัครทางสาธารณสุข (อสม.) จากนั้นก็มีเครือข่ายเข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน เช่น เครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ โดย สสจ. ให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับประเทศ รวมถึงยาช่วยเลิกบุหรี่

พร้อมกันนี้ยังได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งในจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังค้นหาบุคคลต้นแบบที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บุหรี่สามารถเลิกได้จริง และพร้อมบูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดในการขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่ให้มากขึ้นอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน