ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งการให้หน่วยเกี่ยวข้องจัดอากาศยานของกองทัพอากาศ เข้าร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565

โดยร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและลดผลกระทบที่เกิดจากพพายุลูกเห็บ

โดยการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งในปี 2565 นี้ กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” จํานวน 3-5 เครื่อง ประกอบด้วย

เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จำนวน 2-3 เครื่อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้านการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ

เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) จำนวน 1-2 เครื่อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้านการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ

รวมถึงให้ทุกสนามบินมีความพร้อมในการสนับสนุนและเป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งในขั้นต้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรขอรับการสนับสนุนจำนวน 7 กองบิน ประกอบด้วย

กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ตั้งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดนครราชสีมา

กองบิน2 จังหวัดลพบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง

กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้

กองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ตอนล่าง)

กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ

และ กองบิน 46จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ(ตอนล่าง)

สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าวเป็นการอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ การปฏิบัติภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่น และการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงด้วยพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น การปฏิบัติการภารกิจฝนหลวงเป็นการสนับสนุนโยบายของรัฐบาลตามโครงการพระราชดำริฝนหลวง และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ ทอ. 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580 ) (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563 ) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาสาธารณภัย กลยุทธ์ที่ 4.1 ปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาสาธารณภัย แนวทางการพัฒนาและดำรงขีดความสามารถเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งสนับสนุนแก้ไขปัญหาของชาติที่สำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นเพื่อค้นคว้า ทดลอง และปฏิบัติการทำฝน จนประสบผลสำเร็จนับแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นต้นมา การดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ได้กระทำอย่างต่อเนื่อง และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกร จนเป็น ที่ประจักษ์โดยทั่วกัน การปฏิบัติภารกิจของหน่วยบินฝนหลวง เป็นภารกิจที่มีความสำคัญภารกิจหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับกองทัพอากาศ เพราะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กองทัพอากาศ จึงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วทุกภูมิภาค

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน