คำว่า ‘ชาติไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ยังคงใช้ได้เสมอ ซึ่งถ้าพูดถึงด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยคือหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของนักเดินทางทั่วโลก เรามี ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ไม่ว่าจะเป็น ‘อาหาร แฟชั่น ฟิล์ม เทศกาล และศิลปะการต่อสู้’ (Food-Fashion-Film-Festival-Fight) สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
‘พระนครศรีอยุธยา’ คือหนึ่งในจังหวัดต้นแบบของไทยที่มี Soft Power ครบทั้ง 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ‘อาหาร’ (Food) แฟชั่น (Fashion) ฟิล์ม (Film) เทศกาล (Festival) ศิลปะการต่อสู้ (Fight) ที่หลายคนเห็นแล้วอยากมาสัมผัสและเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังคงอยู่ร่วมสมัยจนถึงปัจจุบัน
ชวนปักหมุดเช็กอิน ‘พระนครศรีอยุธยา’ ชมแหล่งโบราณสถาน วัดเก่าแก่ที่เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงตอนปลาย บนเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ก่อร่างจนกลายเป็นประเทศไทยอย่างทุกวันนี้ ที่ตามเส้นทางจะได้เห็นนักท่องเที่ยวขี่ช้างชมเมืองกันเป็นระยะ ก่อนไปทำความรู้จักกับแฟชั่นชุดไทยอย่าง ‘ผ้าลายอย่าง’ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ ‘อยุธยา’ ซึ่งไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร บนช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศต่างหยิบมาสวมใส่กันอวดลงโซเชียลเต็มหน้าฟีด
เท่านั้นยังไม่พอ มาถึงอยุธยาทั้งทีต้องแวะไปชิมอาหารขึ้นชื่อทั้งกุ้งเผา ก๋วยเตี๋ยวเรือ และโรตีสายไหม ต่อด้วยมวยไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และศิลปะการต่อสู้ในรูปแบบการ ‘ฟันดาบ’ ที่เชื่อเหลือเกินว่า ใครได้เห็นก็อยากตามไปทันที
ไปสัมผัสด้วยตัวเอง เดินทางจากกรุงเทพฯ แค่ครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แล้วจะพบว่า ‘อยุธยามีดีกว่าที่เห็น’ อย่างแน่นอน
Locations
– วัดพระศรีสรรเพชญ์
– วัดพุทไธศวรรย์
– วัดไชยวัฒนาราม
– วัดมหาธาตุ
– อุโมงค์กาลเวลา วัดพระงาม
– วัดพระราม
– ร้านแพกรุงเก่า
– ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือไก่ฉีกป้าปุ๊
– โรตีสายไหม อาบีดีน (ประนอม แสงอรุณ)
– สำนักดาบพุทไธศวรรย์
– ค่ายมวยอโยธยาไฟท์ยิมส์
– หมู่บ้านตีมีดอรัญญิก
– ร้านผ้าไทยอโยธยา
แลนด์มาร์กที่ไม่ควรพลาด พร้อมตามรอยละครดัง ที่ ‘วัดไชยวัฒนาราม’
ถ้าบอกว่ามาถึงอยุธยาแล้วมาไม่ถึงวัดแห่งนี้ แสดงว่ามาไม่ถึงคงจะเป็นจริงที่สุด เพราะที่นี่ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวทุกสารทิศต้องมาเยือน เท่านั้นยังไม่พอ หลายคนยังจัดเต็มด้วยชุดผ้าไทยเพื่อมาถ่ายรูปอวดเพื่อนๆ กันอีกด้วย
วัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สร้างขึ้น พ.ศ. 2173 เป็นวัดหลวงที่มีความสำคัญมากๆ เพราะเป็นวัดที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จากนั้นมีการทำสืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ในสมัยอยุธยา ทั้งยังเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อีกด้วย
วัดไชยวัฒนาราม ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ทำให้เกิด Soft Power ด้าน ฟิล์ม (Film) และ แฟชั่น (Fashion) ซึ่งละครและภาพยนตร์หลายเรื่องเคยมาใช้สถานที่แห่งนี้ในการถ่ายทำ แต่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วบ้านทั่วเมืองก็คือเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ใช้วัดไชยวัฒนารามเป็นฉากสำคัญ และทำให้เกิดเป็นกระแสแฟชั่นตามรอยตัวละครในเรื่องด้วยการใส่ชุดไทยมาถ่ายรูปที่วัดแห่งนี้
ระเบียงคด วัดไชยวัฒนาราม
นักท่องเที่ยวมักจะมาแวะเที่ยวที่ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ซึ่งอีกไฮไลต์ที่ต้องแวะถ่ายรูปคือ ระเบียงคด ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างเมรุแต่ละเมรุเอาไว้ โดยรอบฐานประทักษิณ แต่เดิมมีหลังคารอบๆ ที่บริเวณระเบียงคดนี้ มีพระพุทธรูป ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ รวมทั้งหมด 120 องค์ ปัจจุบันเหลือที่ยังมีพระเศียรอยู่ 2 องค์ เท่านั้น
ส่วนที่ไม่ควรพลาดอีกจุดหนึ่งคือ พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ ที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่มาถึง พระปรางค์องค์นี้เป็นปรางค์ประธาน โดยยอดขององค์ปรางค์ทำเป็นรัดประคดซ้อนกัน 7 ชั้น แต่ละชั้นเป็นลวดลายใบขนุน กลีบขนุน ส่วนบนสุดเป็นทรงดอกบัวตูม ปรางค์แบบนี้มีลักษณะเหมือนปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาจจะมีการนำปรางค์ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้นมาสร้างขึ้นใหม่ที่นี่นั่นเอง
ยามเย็นแสนงาม
วัดไชยวัฒนาราม มุมหาได้ยากกับแสงสีน้ำเงิน ส่งให้พระปรางค์และตัววัดสวยงามไปอีกแบบ
ตามรอยละคร ไหว้ ‘พระนอน’ วัดพุทไธศวรรย์
พระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์นาม ‘พระพุทไธศวรรย์’ ตามการสันนิษฐานระบุว่า เป็นปางปรินิพพานแบบลืมพระเนตร เพราะพระหัตถ์ทอดไปกับหมอน ไม่ได้ตั้งขึ้นรับพระพักตร์เหมือนปางพักผ่อนอิริยาบถและไม่ได้มีหมอนรองใต้รักแร้เหมือนปางโปรดอสุรินทราหู ซึ่งมีอายุราวๆ 300 ปีมาแล้ว
ใครที่อยากแวะไปไหว้พระขอพรเสริมบุญกุศล สามารถแวะไปได้ โดยตั้งอยู่ที่ วัดพุทไธศวรรย์ ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ปรางค์ประธาน วัดพุทไธศวรรย์
ใครมาที่วัดพุทไธศวรรย์ ต้องไม่พลาดชมและแวะถ่ายภาพกันที่ ปรางค์ประธานองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานตระหง่านให้เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อเข้ามาภายในวัด เป็นปรางค์ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบขอม ลักษณะเป็นฝักข้าวโพด ตั้งอยู่บนฐานไพทีที่รองรับไปถึงมณฑป ระเบียงคดล้อมรอบ มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าว่า วัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว 3 ปี
ด้วยเป็นวัดที่รอดพ้นจากภัยสงคราม ทำให้ที่แห่งนี้ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลงเหลือให้เราได้เห็น ทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ปัจจุบันในอยุธยาพบหลงเหลืออยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และโบราณวัตถุอีกหลายชิ้น ที่ยังมีให้ได้เห็นกัน
จิตรกรรมล้ำค่า ‘Unseen อยุธยา’
วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดอีกหนึ่งแห่งที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในช่วงการเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งยังมีจิตรกรรมล้ำค่าสมัยอยุธยาตอนปลาย เหลือไว้ให้ได้ชมอยู่บ้าง
เชื่อว่าตอนที่ได้ดูละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ แล้วเห็นทรงผมของคุณหญิงจำปาปรากฏขึ้นครั้งแรก เราอาจสงสัยว่าทำไมทรงผมดูแปลกตา ซึ่งภายหลังมีกูรูมาให้คำตอบว่าเป็น ‘ผมทรงปีก’ มีลักษณะเดียวกับทรงผมในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยืนยันได้จากภาพบุคคลไว้ผมทรงปีกของสตรีคู่กับผมทรงมหาดไทยของฝ่ายชาย ดังจะเห็นได้จากในภาพ ‘พระพุทธโฆษาจารย์อยู่ในเรือสำเภา’ ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พระเถระชั้นผู้ใหญ่ สมัยกรุงศรีอยุธยา) วัดพุทไธศวรรย์ นั่นเอง
พูดถึง ‘จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธโฆษาจารย์’ ปัจจุบันหลงเหลือเพียงแห่งเดียว โดยประกอบด้วยภาพ ‘พระพุทธโฆษาจารย์ขังบิดาไว้ในกุฏิ 2 ชั้น’ และภาพ ‘พระพุทธโฆษาจารย์อยู่ในเรือสำเภา’ โดยมีเรือของพระพุทธทัตตะอยู่ข้างๆ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องการพบกันกลางทะเลของทั้งสองท่าน
นับเป็นอีกหนึ่ง ‘Unseen อยุธยา’ ที่ไม่ควรพลาด!
‘เศียรพระพุทธรูปในรากไม้’ วัดมหาธาตุ
หนึ่งในวัดที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็คือ ‘วัดมหาธาตุ’ ซึ่งมี ‘เศียรพระพุทธรูปในรากไม้’ เป็นจุดเด่นที่ถูกพูดถึงกันทั่วโลก โดยเป็นเศียรพระพุทธรูปหินทราย สันนิษฐานกันว่า เศียรพระคงหล่นลงมาบริเวณโคนต้นโพธิ์ ที่อยู่ข้างวิหารราย ในช่วงบูรณะ เมื่อราว 50 ปีมาแล้ว จนเวลาผ่านไป รากโพธิ์ปกคลุมเศียรพระไว้แน่น จนดูคล้ายกับเศียรพระผุดออกมาจากต้นโพธิ์ ดูงดงามแปลกตาไปอีกแบบ
เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์ เป็นจุดที่นักเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาถึงที่นี่ต้องแวะถ่ายรูปอวดลงโซเชียล เพราะครั้งหนึ่งคนดังระดับโลกอย่าง ‘ลีโอนาโด ดิคาปริโอ’ ได้มาเที่ยวที่นี่ ทำให้มีคนตามรอยอย่างไม่ขาดสาย
สำหรับเศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รับรองให้เป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2554
ตามรอยคนดังมาเที่ยว ‘วัดมหาธาตุ’
‘วัดมหาธาตุ’ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระปรางค์ที่เห็นจึงเป็นปรางค์ที่สร้างขึ้นในระยะแรกของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม กรมศิลปากรเคยขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2499 พบของโบราณหลายชิ้นที่สําคัญคือผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งเป็น ชิน เงิน นาค ไมดํา ไม้จันทน์แดง แก้วโกเมน และทองคํา ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับมีค่าหลายชิ้น
วัดนี้เป็นโบราณสถานอีกแห่งที่นักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชมกันอยู่ตลอด ล่าสุด ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ก็ได้แวะมาเที่ยวที่นี่เมื่อช่วงกลางปี 2566 ทำเอาเหล่าบลิ๊งค์และนักท่องเที่ยวตามรอยกันทั่วบ้านทั่วเมืองเช่นกัน
‘วัดพระราม’ วัดสวยอยุธยา
วัดสวยโบราณที่ยังคงสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของอยุธยาก็คือ ‘วัดพระราม’ สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1912 สมัยสมเด็จพระราเมศวร
ไฮไลต์ของวัดแห่งนี้อยู่ที่พระปรางค์ประธาน เป็นทรงฝักข้าวโพดที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบละโว้ และปรางค์บริวาร มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทั้ง 7 วิหาร ได้รับอิทธิพลจากละโว้เช่นกัน ซึ่งยังคงรักษาองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน
ไม่แปลกใจว่าทำไมวัดแห่งนี้จึงขึ้นชื่อว่าเป็นวัดโบราณที่สวยเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตามรอยเส้นทางท่องเที่ยวของดาราดังระดับโลก ที่ ‘วัดพระราม’
‘วัดพระราม’ เป็นวัดอีกแห่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยี่ยมชมและถ่ายรูปลงโซเชียล ซึ่งดาราฮอลลีวูดอย่าง ‘ลีโอนาโด ดิคาปริโอ’ ก็เคยมาเที่ยวชมที่วัดพระรามเช่นกัน ทำให้หลายคนตามรอยเส้นทางท่องเที่ยวของพระเอกคนดังกันอย่างคึกคัก
วัดพระศรีสรรเพชญ์
อยุธยายังมีวัดสวยๆ และโบราณสถานให้เที่ยวชมอีกมากมาย อย่าง วัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็เป็นวัดเก่าแก่ที่เคยเป็นอดีตวัดหลวงประจำพระราชวัง สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2035 โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แห่งกรุงเทพฯ
จุดดึงดูดสายตาและแลนมาร์กสำคัญอยู่ที่ เจดีย์ทรงลังกา จำนวน 3 องค์ ที่วางตัวเรียงยาว ซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
พิกัด ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
อุโมงค์กาลเวลา วัดพระงาม
อีกสถานที่ที่กำลังฮิตในโลกโซเชียล ยิ่งถ้าไปถ่ายช่วงเย็น ภาพที่ออกมาบอกเลยว่า สวยแน่นอน ก็คือ อุโมงค์กาลเวลา ที่ วัดพระงาม เป็นซุ้มประตูต้นโพธิ์โค้งบริเวณทางเข้าวัด
ซุ้มประตูโบราณที่ถูกล้อมด้วยต้นโพธิ์นานกว่า 100 ปี ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ประตูแห่งกาลเวลา หากมีแสงสว่างของพระอาทิตย์ส่องลงมาที่ซุ้มประตู ถ้าได้เดินผ่านช่วงเวลานี้ จะรู้สึกเหมือนกำลังก้าวผ่านข้ามเวลาไปยังอดีต
ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเล่นละครเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
‘กุ้งแม่น้ำเผา’ เมนูขึ้นชื่ออยุธยา
มาอยุธยา ไม่แวะกินกุ้งเผาถือว่าพลาด และถ้าจะเช็กอินทั้งทีไม่มีรูปกุ้งก็เหมือนมาไม่ถึง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่สร้าง Soft Power ให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ถ้าใครยังไม่มีปักหมุดร้านไหนในใจ แนะนำเป็นร้านนี้ ‘ร้านอาหารแพกรุงเก่า’ ที่ไม่ได้มีดีแค่กุ้งเผา แต่ยังมีเมนูอร่อยๆ ให้เลือกอีกมากมาย อาทิ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย, ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม ฯลฯ ที่ล้วนแต่ได้รับรางวัลการันตีความอร่อยจาก MICHELIN GUIDE
แต่สำหรับกุ้งเผา ทีเด็ดของร้านอยู่ที่กุ้งที่นำมาเสิร์ฟ เป็นกุ้งตัวโตๆ ที่ผ่านการย่างให้มันกุ้งเยิ้มๆ สีเหลืองๆ มีกลิ่นหอมของถ่านนิดๆ กินคู่กับข้าวสวยร้อนๆ และน้ำจิ้มซีฟู้ด แซ่บ ฟินอย่าบอกใคร แถมยังเป็นร้านแรกๆ ในอยุธยาที่เสิร์ฟกุ้งเผาแบบผ่าครึ่งกลางลำตัวอีกด้วย
ที่สำคัญ ‘กุ้งเผา’ ร้านนี้ยังได้รับรางวัล MICHELIN GUIDE ถึง 2 ปีซ้อน คือปี 2022 และ 2023
‘แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย’ ร้านแพกรุงเก่า
อีกเมนูอร่อยของร้านอาหารแพกรุงเก่าที่ใครๆ ต่างก็ยกให้เป็นทีเด็ดอีกเมนูก็คือ ‘แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย’ เมนูระดับ MICHELIN GUIDE 2 ปีซ้อนเช่นเดียวกับกุ้งเผา ซึ่งเป็นเมนูที่ใครที่ได้แวะมาที่นี่ ล้วนต้องเรียกหากันทุกคน
ด้วยวัตถุดิบคุณภาพ ความพิถีพิถันของการปรุง ทำให้ตัวลูกชิ้นปลากรายเหนียวนุ่ม ที่นี่ยังตำเครื่องแกงเอง ยกชามมาเสิร์ฟนี่หอมกรุ่น รสสัมผัสเข้มข้นด้วยกะทิ ตัวมะเขือนิ่มกำลังดี อร่อยกลมกล่อม
บอกเลยงานนี้ใครยังไม่เคยกิน ต้องไปลอง !
ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม
อีกหนึ่งเมนูไฮไลต์ที่คนมาร้านอาหารแพกรุงเก่าต้องสั่งพร้อมๆ กับกุ้งเผาและแกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากรายก็คือ ‘ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม’ เพราะนอกจากการคัดสรรเนื้อปลาที่มาแบบแน่นๆ เนื้อตัวไม่แห้งเหี่ยวแล้ว รสชาติของปลายังเรียกได้ว่าถึงรสถึงชาติ ด้วยกระเทียมและเครื่องปรุงที่ถึงเครื่องแบบพอดี แถมเมนูนี้ยังมีดีกรี MICHELIN GUIDE อีกด้วยนะ
พูดแล้วหิว ต้องกลับไปกินอีกสักรอบ
ใครอยากกินต้องรีบมาตำ ร้านอาหารแพกรุงเก่าตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง ติดแม่น้ำป่าสัก ร้านเปิด 10 โมงเช้า ปิดตอน 3 ทุ่ม ของทุกวัน (10.00 – 21.00 น.)
‘โรตีสายไหม’ ของกินเล่นจากอยุธยา
กินคาวแล้วต้องกินหวาน และเชื่อเถอะว่าถ้าพูดว่าจะไปอยุธยา สิ่งแรกๆ ที่คนทางบ้านมักร้องขอให้ซื้อมาฝากคือ ‘โรตีสายไหม’ อีกเมนูขึ้นชื่อของอยุธยา สังเกตได้จากบนถนนอู่ทองทั้งเส้น จากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาไป จะเห็นร้านขายโรตีสายไหมเป็นร้อยๆ ร้านเลยทีเดียว
ส่วนที่เห็นอยู่ เป็นภาพโรตีสายไหมที่ม้วนพร้อมป้อนเข้าปากจากร้านโรตีสายไหมอาบีดีน (ประนอม แสงอรุณ) เจ้าของรางวัล MICHELIN GUIDE 2 ปีซ้อน ในปี 2022 และ 2023
ปัจจุบันมี 2 สาขา ร้านแรกอยู่หน้าโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ส่วนร้านที่สองขับรถจากร้านแรกมาประมาณ 1.5 กิโลเมตร จุดสังเกตคือบริเวณหน้าร้านจะมีรถตุ๊กตุ๊กจอดอยู่
สายไหมอาบีดีน ความอร่อยดั้งเดิม
ความอร่อยของร้านโรตีสายไหมแห่งนี้ อยู่ที่เส้นสายไหมที่มีความนุ่มฟู โดยสูตรของเส้นสายไหมได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาแล้วกว่า 40 ปี
แป้งหนานุ่มต้อง ‘อาบีดีน’
มีสายไหมแล้ว ต้องมีแป้ง ความพิเศษไม่เหมือนใครของร้านนี้ นอกจากสายไหมอร่อยแล้ว แป้งก็หนานุ่ม กินเข้ากันแสนกลมกล่อม มี 2 รสชาติ ที่คนนิยมสั่งมากที่สุดก็คือ ดั้งเดิม และใบเตย ใครอยากกินลองไปชิมกันได้เลย
ใครอยากกินสายไหมแบบต้นตำรับอยุธยา ต้องแวะไป ร้านเปิด 06.00 – 18.00 น. ของทุกวัน
ตำนานก๋วยเตี๋ยวเรือไก่ฉีก ‘ป้าปุ๊’
อาหารขึ้นชื่ออีกอย่างของอยุธยา ที่ไม่ว่าใครมาก็ต้องถามถึง นั่นก็คือ ‘ก๋วยเตี๋ยวเรือ’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ด้านอาหารของจังหวัด
ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือในอยุธยามีมากมายหลายร้าน แต่หนึ่งในร้านที่เก่าแก่ มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ก็คือ ‘ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือไก่ฉีกป้าปุ๊’ ก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ เสิร์ฟมาในชามน่ารักๆ ราคากันเอง อร่อยโดดเด่นจน MICHELIN GUIDE ต้องมามอบรางวัลให้ถึง 2 ปีซ้อน ทั้งในปี 2022 และปี 2023
ภายนอกร้านอาจดูธรรมดา แต่ในความธรรมดามีความพิเศษซ่อนอยู่ ร้านเปิดโล่ง ลมพัดเย็นสบาย ที่สำคัญคือเรื่องรสชาติที่ต้องบอกว่า อร่อยจริงๆ เพราะร้านนี้คุณป้าปุ๊ วัย 86 ปี ซึ่งขายก๋วยเตี๋ยวเรือมาตั้งแต่อายุ 18 ดูแลการผลิต ขายเองปรุงเองทุกชาม โดยนั่งอยู่ในเรือ (บก) หน้าร้าน ตั้งแต่เช้าตอนเปิดร้านเลย
ป้าปุ๊ใส่ใจทุกชามขนาดนี้ ไม่ลองไม่ได้แล้ว !
ก๋วยเตี๋ยวเรือไก่ฉีกป้าปุ๊ อร่อยชามเดียวไม่เคยพอ
ใครอยากมาแวะลองชิมก๋วยเตี๋ยวเรือระดับตำนานแห่งนี้ ปักหมุดเดินทางไปที่ร้าน ก๋วยเตี๋ยวเรือไก่ฉีกป้าปุ๊ ได้เลย ตั้งอยู่ที่ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากก๋วยเตี๋ยวเรือที่มีไก่ฉีกโรยมาในชามแล้ว ร้านนี้ยังมีก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่อร่อยไม่แพ้กัน ใครชอบแบบไหนก็จัดไป!
พิกัด ต.เจ้าเจ็ด ซอย 12 อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ร้านเปิด 08.00 – 17.00 น. ไม่มีวันหยุด ใครอยากกินของอร่อยระดับมิชลิน แต่ยังคงมีความเก๋าอยู่ ต้องไปลอง
‘ผ้าลายอย่าง’ หนึ่งเดียวในอยุธยา
นอกจากแฟชั่นการใส่ชุดไทยตามรอยละครกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นกระแสฮิตชั่วข้ามคืนจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสก็คือ ผ้านุ่งที่ตัวละครสวมใส่อย่าง ‘ผ้าลายอย่าง’ หรือผ้าพิมพ์ลายตามตัวอย่างนั่นเอง ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกพิมพ์ขึ้นใช้เฉพาะกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการเท่านั้น โดยราชสำนักจะออกแบบและส่งพิมพ์ไปที่อินเดีย แหล่งผลิตผ้าทอชั้นเยี่ยมของโลกในสมัยนั้น
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ผ้าลายอย่าง ยังเป็นผ้าเพียงหนึ่งเดียวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย ซึ่งนอกจากมิติด้านสังคมที่ผู้คนต่างหันมาสนใจผ้าลายอย่างกันแล้ว ในด้านเศรษฐกิจ ผ้าลายอย่างยังช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านผ้าในจังหวัด และมีส่วนช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
อยุธยามีผ้าลายอย่างจำหน่ายอยู่หลายร้าน แต่ร้านที่เราแวะคือ ร้านผ้าไทยอโยธยา ซึ่งมีผ้าลายอย่างมากมายหลากหลายลายให้เลือก
ผ้าลายอย่าง ร้านผ้าไทยอโยธยา
ผ้าลายอย่าง มีด้วยกันหลายลาย อาทิ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง หรือลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายนอกอย่าง ลายดอกไม้ร่วง ลายสมปักริ้ว ลายประจำยามเล็ก เป็นต้น
ซึ่งหลังจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสมีฉากที่นางเอกของเรื่อง แม่หญิงการะเกด พูดถึงผ้าลายอย่างที่นุ่งอยู่ คนดูทั่วบ้านทั่วเมืองจึงอยากทำความรู้จัก และทำให้ผ้าลายอย่างที่ถูกหลงลืม ได้กลับมานิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปอีกครั้ง
นับเป็นการปลุกกระแสผ้าไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
อยากรู้ว่าเป็นยังไง ลองไปดูที่ ตลาดหลวงปู่ทวดอยุธยา ริมถนนสายเอเชีย ร้านเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. ไม่มีวันหยุด
สวมชุดไทย ถ่ายรูปเช็กอินวัดรอบอยุธยา
มุมไหนๆ ก็ถ่ายรูปสวย เพราะชุดไทยสามารถปรับได้ตามสไตล์คนรุ่นใหม่ เปลี่ยนลุคหรือออกแบบได้ตามใจชอบ งานนี้บอกได้เลยจะชายหรือหญิงก็สามารถหยิบใส่ถ่ายรูปชิกๆ คู่กับโบราณสถานต่างๆ ในอยุธยา อวดเพื่อนๆ ในโซเชียลกันได้
และบริเวณหน้าวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนารามมีชุดไทยให้เช่าหลายร้าน บอกได้คำเดียวว่าหมดห่วงเรื่องต้องขนชุดไทยมาเองได้เลย
‘อโยธยาไฟท์ยิมส์’ ค่ายมวยไทยแห่งอยุธยา
อีกหนึ่ง Soft Power สำคัญของกรุงศรีอยุธยาก็คือ ‘ศิลปะการต่อสู้’ (Fight) ซึ่งอยุธยามีทั้ง ‘มวยไทย’ และการต่อสู้ด้วยอาวุธ เช่น การฟันดาบ, การใช้หอก เป็นต้น
ซึ่ง ‘อโยธยาไฟท์ยิมส์’ คือค่ายมวยไทยที่เสมือนเป็นภาคต่อของมวยโบราณ ที่ยังรักษาเอกลักษณ์ของศิลปะแม่ไม้มวยไทยแบบดั้งเดิมไว้ นอกจากนี้ยังเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลกด้วยรูปแบบต่างๆ ทั้งการเปิดสอน เปิดบ้านให้นักมวยทั่วโลกได้มาเรียนรู้และพักค้างแรม ไปจนถึงสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้เห็นกระบวนท่าอย่างใกล้ชิด
‘มวยไทย’ ศิลปะการต่อสู้คู่บ้านคู่เมือง
สำหรับ ‘มวยไทย’ ที่เป็นแบบ ‘มวยโบราณ’ มีเปิดสอนและเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมอยู่ที่ สำนักดาบพุทไธศวรรย์ ซึ่งมีครบทั้ง ‘มวยไทยโบราณ’ และ ‘การฟันดาบ’
ศิลปะการต่อสู้ด้วยกระบวนท่าต่างๆ เหล่านี้ คือเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณจนถึงปัจุบัน
ตำนานเพลงดาบอโยธยา
แวะชม ‘เพลงดาบอโยธยา’ ซึ่งเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ กล่าวคือเป็นศิลปะการต่อสู้แบบโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยใช้ดาบ มีจังหวะตามแม่ไม้เพลงดาบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ปัจจุบันมีสำนักดาบหลงเหลืออยู่ไม่มาก หนึ่งในนั้นคือ สำนักดาบพุทไธศวรรย์ ที่รักษาศิลปะของเพลงดาบ การต่อสู้ด้วยดาบ ไว้ให้ได้ชมและสัมผัสกัน
สำนักดาบพุทไธศวรรย์ เปิดสอนและให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ทุกรูปแบบ ทั้งใช้ดาบเพื่อการต่อสู้ และการใช้ดาบเพื่อการแสดง ซึ่งหลายคนเมื่อได้ดูแล้วก็เกิดความสนใจอยากเรียนรู้ เพราะได้ฝึกทั้งร่างกายให้ใช้ดาบเป็น
ผลพลอยได้คือร่างกายแข็งแรง และยังได้ฝึกจิตใจให้มีสมาธิอีกด้วย
‘มีดอรัญญิก’ คู่แผ่นดินอยุธยา
ศิลปะการต่อสู้ด้วยดาบ ทำให้นึกถึง ‘มีดอรัญญิก’ แห่งอยุธยา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวเวียงจันทน์ แห่ง สปป. ลาว ที่ย้ายรกรากมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง โดยนำทักษะการตีมีดมาพัฒนาการตีให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งปัจจุบันแม้ความนิยมและความต้องการใช้มีดหรือดาบจะลดน้อยลง แต่ยังคงได้รับการสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน
ชาวบ้านบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนองยึดอาชีพตีมีดเป็นอาชีพหลัก และได้นำสินค้าไปวางขายที่บ้านอรัญญิกซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ เมื่อมีผู้ซื้อมีดไปใช้เห็นว่าเป็นมีดคุณภาพสูง ผู้คนจึงเริ่มบอกต่อๆ กันไป จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘มีดอรัญญิก’
มีดอรัญญิก มีความหลากหลายทั้งในแง่ของขนาด รูปร่าง และวัสดุที่นำมาใช้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้า สเตนเลส หรือเหล็กน้ำพี้ โดยมีรูปแบบมากกว่า 250 ชนิด หลักๆ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ มีดสนามหรือมีดเดินป่า มีดทำครัว มีดทำการเกษตร และมีดสวยงามเพื่อการสะสม
ส.อรัญญิก ชื่อยี่ห้อหนึ่งของมีดอรัญญิก ย่อมาจากชื่อของ ‘ครูบุญสม ศรีสุข’ หนึ่งในผู้ตีมีดที่สืบทอดวิชาจากอดีต
ปัจจุบัน ‘ครูบุญสม ศรีสุข’ ยังคงอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาการตีมีดอรัญญิกให้ได้เห็น มีรูปแบบต่างๆ ออกสู่สายตาผู้มาเยือน หรือตามความต้องการของคนที่รับซื้อ ทั้งการตีมีด ดาบ หอก ทวน ง้าว ของ้าว จากความเชี่ยวชาญและพิถีพิถันในการผลิตงาน จึงทำให้ ‘ครูบุญสม ศรีสุข’ ได้รับเกียรติให้เป็นครูช่างแห่งแผ่นดิน
‘สงกรานต์เล่นน้ำกับช้าง’ หนึ่งเดียวในไทย
หนึ่งในประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็คือประเพณีเล่นน้ำกับช้าง โดยควาญช้างจะเติมสีสันลวดลายบนตัวช้างและนำมาเล่นน้ำกับผู้คนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี นับเป็น Soft Power ด้าน Festival (เทศกาล) ที่สร้างความสนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง
ลอยกระทง มนต์เสน่ห์แห่งสายน้ำกรุงเก่า
อีกหนึ่งเสน่ห์ และนับเป็น Soft Power ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลยก็ว่าได้ คือ ประเพณี ‘ลอยกระทง’ ที่มีการจัดขึ้นทุกปี ท่ามกลางกลิ่นอายของเมืองเก่า แต่งชุดไทยเก๋ๆ ลอยกระทงไปกับสายน้ำของกรุงศรีอยุธยาอันรุ่งเรืองและงดงามในอดีต
เรียกได้ว่าเต็มอิ่มกับ Soft Power ทั้ง 5 ด้าน ครบจบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจริงๆ สมกับเป็นเมืองมรดกโลกที่ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะมาจากที่ไหน ก็มักจะได้รับความประทับใจกลับไปอย่างไม่รู้ลืม