ไทยพีบีเอส จับมือตำรวจไซเบอร์ ยกระดับเตือนภัยออนไลน์ ฉีดวัคซีนไซเบอร์ทำงานเชิงรุก
สถานีประชาชน ไทยพีบีเอส จับมือ บช.สอท. ยกระดับเตือนภัยออนไลน์ ฉีดวัคซีนไซเบอร์ร่วมเป็นเครือข่ายทำงานเชิงรุก ป้องกันภัยออนไลน์ หวังประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อ ขณะที่ตำรวจไซเบอร์ กระตุ้นภาคีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาจริงจัง
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.67 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ จัดสัมมนา“โครงการพัฒนาระบบรับแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาสาธารณะ (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยรายการสถานีประชาชน หนึ่งในภาคีเครือข่ายความร่วมมือเตือนภัยป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เข้าร่วมเสวนาเพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมี นางสาวธิดารัตน์ อนันตรกิตติ พิธีกรรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
พล.ต.ท.วรวฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ส่งผลให้สถิติคดีออนไลน์ลดลง 200 เรื่องต่อวัน จากเดิมมีผู้เสียหายแจ้งความ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 22 พฤษภาคม 2567 จำนวน 558,716 เรื่อง เฉลี่ย 672 เรื่องต่อวัน ความเสียหายเฉลี่ย 91 ล้านบาทต่อวัน
การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) หรือ AOC 1441 ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับประชาชนที่พบปัญหาด้านภัยออนไลน์ AOC เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 สามารถช่วยระงับธุรกรรม/อายัดบัญชีม้าได้ทันที ช่วยคืนเงินให้ประชาชนรวดเร็วขึ้น ติดตามสถานะคดีได้ดีขึ้น ช่วยให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลที่ดี รวดเร็วและจับคนร้ายได้เร็วขึ้น
“รัฐบาลเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการภัยออนไลน์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ลำดับความสำคัญให้เป็น หนึ่งในปัญหาที่ต้องต้องจัดการเร่งด่วน โดยได้มีการประสานขอความร่วมมือกระทรวง หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง” พล.ต.ท.วรวฒน์ กล่าว
สำหรับ “โครงการพัฒนาระบบรับแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เป็นระบบที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนในการเข้าถึงการแจ้งความและการดำเนินคดีได้ อย่างรวดเร็ว ประชาชนสามารถแจ้งความผ่านทางออนไลน์ได้ทันที ผ่านเว็บไซต์
ด้านนางกานดา จำปาทิพย์ บรรณาธิการรายการสถานีประชาชน กล่าวว่า ไทยพีบีเอส ได้ประกาศยกระดับการทำงานแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2566 โดยทำหน้าที่เตือนภัยให้ความช่วยเหลือติดตามคดีให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากการถูกหลอกลวงในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน, หรือหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ไม่เฉพาะในรายการสถานีประชาชนเท่านั้น แต่เราทำทั้งงานอออนไลน์และออนกราวในรูปแบบเชิงลึก และรุก เป้าหมายคือ อยากให้คนไทยรู้เท่าทันภัยออนไลน์ หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อน้อยลง เพราะหากถูกหลอกได้รับความเสียหายแล้วรอการเฉลี่ยทรัพย์ก็จะช้ามาก การป้องกันจึงดีกว่าแก้ไขที่ปลายเหตุ สำหรับพื้นที่ของรายการสถานีประชาชน ทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งต่อประเด็นความเสียหายประสานไปยังตำรวจ ขณะเดียวกันยังทำงานเชิงรุกโดยการลงพื้นที่สัญจร ม.ศรีปทุม ม.ธุรกิจบัณฑิต ม.กรุงเทพ ที่ตอบรับแล้ว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะจัดกิจกรรมอบรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากพื้นที่รอบไทยพีบีเอส เช่น เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เพื่อให้ความรู้กับประชาชนอีกด้วย
“รายการสถานีประชาชน”เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ของไทยพีบีเอส (More than TV) ในการยกระดับการช่วยป้องกันภัยออนไลน์ “คนไทยต้องไม่ถูกหลอก” สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน และชักชวนภาคีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาจริงจัง ติดตามรับชมรายการ “สถานีประชาชน” วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14:05 – 15:00 น. ทางไทยพีบีเอส หมายเลข 3 หรือติดตามชมอีกครั้งได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/People
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin