สภาพอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเกิดความแปรปรวนของปริมาณฝนและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงมากขึ้นอย่างในปัจจุบัน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการที่จะเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำยม-น่าน ภายใต้การสนับสนุนหลักจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 และจะสิ้นสุดในปี 2569 ในพื้นที่ 24 ตำบล 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีและมีความเสี่ยงต่อผลกระทบอย่างรุนแรงจาก climate change มีความจำเป็นต้องมีมาตรการ เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
โครงการนี้จึงมีแนวทางการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ การวางแผน การลงทุน และการสนับสนุนกลุ่มเกษตรที่เปราะบางในการลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภายใต้ผลผลิตทั้ง 3 ด้าน ของโครงการ คือ
ผลผลิตที่ 1: การปรับปรุงการวางแผน โดยใช้ระบบฐานข้อมูลภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเกษตรกรรมที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน
ผลผลิตที่ 2: การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรมและบูรณาการมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) เพื่อให้การจัดการน้ำมีความยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การก่อสร้างและปรับปรุงประตูระบายน้ำจะช่วยให้การจัดการน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ ลดปัญหาการสูญเสียผลผลิตจากน้ำท่วมหรือภัยแล้ง
ผลผลิตที่ 3: การลดความผันผวนของการดำรงชีพ เสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวของท้องถิ่น เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วม
ทั้งนี้ การดำเนินงานในแต่ละผลผลิตของโครงการจะมีความเชื่อมโยงของกิจกรรมในการดำเนินงานระหว่างกัน เช่น ผลที่ได้จากผลผลิตที่ 1 ในเรื่องของข้อมูลสภาพภูมิอากาศ จะถูกส่งต่อไปที่ผลผลิตที่ 3 เพื่อนำไปใช้นำเสนอกับทางกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการสำหรับใช้ในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต และผลผลิตที่ 2 การก่อสร้างและปรับปรุงประตูระบายน้ำ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และสามารถควบคุมปริมาณน้ำในการเกษตรได้ รวมถึงโครงการได้มีแผนปฏิบัติด้านเพศภาวะ (Gender Action Plan) ที่จะนำมิติด้านเพศภาวะเข้าไปบูรณาการในทุก ๆ กิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการตัดสินใจในการวางแผนด้านการจัดการน้ำและการเกษตร การเข้าถึงตลาด และการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการหญิง (Female Entrepreneurship)
โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ด้วยบูรณาการโครงสร้างสีเขียวโดยมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ลดความเสียหายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรได้พัฒนาศักยภาพสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือเพื่อการวางแผนการทำการเกษตรและจัดการน้ำ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิตให้กับเกษตรกร ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมทาง facebook โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน
ผลิตโดย : สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน