กรมชลประทาน นำชุดอุปกรณ์ IoT ทำการทดสอบการบินอากาศยานไร้คนขับ ตามโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน สำนักงานชลประทานที่ 3 ร่วมกับ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท ออน-ฟาร์ม โซลูชั่นส์ จำกัด จัดทำแพลตฟอร์มอุปกรณ์อัจฉริยะผ่านอินเตอร์เน็ต Internet of Things (IoT) พร้อมระบบเชื่อมโยงการบริหารจัดการ ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand Through Effective Water Management and Sustainable Agriculture) และทำการทดสอบการบินอากาศยานไร้คนขับพร้อมแสดงการประมวลผล

กรมชลประทานได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยเกษตรกรในการพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งนำร่องการเกษตรแม่นยำด้วยการใช้อากาศยานไร้คนขับพร้อมกล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น (Multispectral Camera) สำหรับวิเคราะห์และติดตามสุขภาพของพืช มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปุ๋ยและสารเคมี การใช้อุปกรณ์ตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายที่พื้นดิน สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการเพาะปลูกและการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศการเกษตรและข้อมูลอื่น ๆ ให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการปลูกพืชระดับรายแปลงได้
  2. เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี IoT ในรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน ในการสนับสนุนการขยายผลองค์ความรู้ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โดยการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยีการเกษตร และกระตุ้นให้เกษตรกรอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการ
  3. เพื่อขยายผลจากแปลงเกษตรต้นแบบไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการเก็บข้อมูลและประเมินความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับปรุงการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ เดินทางไปที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยนายกุลธร รัตนเสรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน นายสมคิด สะเภาคำ ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง นายเทพนิมิต สิงหพันธ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 3 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกับ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท ออน-ฟาร์ม โซลูชั่นส์ จำกัด ได้ร่วมทดสอบบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนการเกษตร และโดรนตรวจพื้นที่ทางการเกษตร (ถ่ายภาพ)

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ประเทศไทยที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วันนี้ทางกรมชลประทาน ได้รับความร่วมมือจาก UNDP และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในผลผลิตที่ 3 ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสามารถฯ ว่าด้วยเรื่อง การพัฒนาทักษะ การพัฒนาอาชีพ การให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาระบบ IoT โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่ตรวจวัดเป็นเซ็นเซอร์วัดความเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการเพาะปลูก รวมถึงประเมินการใช้น้ำชลประทานในพื้นที่ คาดว่าเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จะได้ประโยชน์มากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน