ด้วยผลงานของ “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” ในการช่วยหลือสังคมเป็นที่ประจักษ์มาอย่างยาวนานหลายสิบปี เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2568

น.ส.ไดอาน่า ฟู ประธานสโมสรสตรีนานาชาติแห่งประเทศไทย (The International Women’s Club of Thailand / IWC) ร่วมกับ 50 สมาชิก เชิญ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาบรรยายเกี่ยวกับการทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรีของมูลนิธิปวีณาฯ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานขึ้นปีที่ 26 และก่อนหน้าที่จะเป็นมูลนิธิปวีณาฯ ได้ก่อตั้งเป็นชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือเด็กและสตรีมาก่อนถึง 5 ปี รวมแล้ว 31 ปีที่ผ่านมาด้วยความหวังที่จะช่วยยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในกิจกรรมการรวมตัวของสมาชิก ไอดับเบิ้ลยูซี เพื่อแสดงพลังวันสตรีสากล 8 มีนาคม (Women’s Day) ที่ The Bangkok Club อาคารสาทรซิตี้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา

โดยเชิญเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยหลายประเทศ ทั้งเอกอัครราชทูตแคนาดา เอกอัครราชทูตเม็กซิโก เอกอัครราชทูตอียิปต์ และอุปทูตผู้แทนเอกอัครราชทูตอีกหลายประเทศ เปรู อิสราเอล รวมทั้ง มาดามแอสเซ็มกุล อัสเซตอฟวา ภริยา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถาน มาร่วมรับฟัง นางปวีณา บรรยายความเป็นมาของ “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” ช่วยเหลือสังคมอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องข่มขืน ทารุณกรรม การค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ทั้งในประเทศและข้ามชาติ รวมทั้งอาชญากรรมออนไลน์

นางปวีณา ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรีว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำงานเป็นผู้จัดการธนาคาร ต่อมาปี พ.ศ.2531 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.กรุงเทพฯ สมัยแรก และได้เดินทางไปที่บ้านเกร็ดตระการ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์เด็กและสตรีที่ถูกบังคับค้าประเวณีของรัฐบาล ได้เจอกับเด็กหญิงตัวเล็กๆ อายุ 11 ปี กำลังถักนิตติ้งอยู่จึงเข้าไปพูดคุยสอบถามจนทราบว่าเด็กหญิงถูกพ่อเลี้ยงพาไปขายซ่องค้าประเวณี และตำรวจช่วยออกมาจึงมาอยู่ที่นี่

ฟังแล้วรู้สึกช็อก น้ำตาไหลออกมาด้วยความสงสารจึงได้โอบกอดเด็กหญิงเอาไว้ และคิดถึงว่าตัวเรามีลูกชาย 7 ขวบ ทะนุถนอมให้ความรัก ความอบอุ่น แต่เด็กหญิงคนนี้อายุยังน้อยกลับต้องอยู่อย่างทาส ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ตั้งปณิธานว่า จะทำงานเพื่อสังคม ทำกฎหมายให้เด็ก สตรี สังคมได้รับความเป็นธรรม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิปวีณาฯ ให้การช่วยเหลือเด็กและสตรี อีกทั้งผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมแบบครบวงจร ตั้งแต่การรับเรื่องร้องทุกข์ กลั่นกรองข้อมูลไปจนถึงการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ พร้อมทั้งติดตามประสานการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประสบปัญหาได้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขในระยะยาว

โดยสถิติมูลนิธิปวีณาฯ รับเรื่องราวร้องทุกข์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543-14 มี.ค.2568 จำนวน 179,226 ราย ปีพ.ศ.2567 (2 ม.ค.-31 ธ.ค.) จำนวน 5,647 ราย แบ่งเป็น 14 ปัญหา อาทิ 4 ปัญหาหลัก 1.ข่มขืน/อนาจาร 790 ราย 2.ทารุณกรรม/ทำร้ายร่างกาย 740 ราย 3.ค้าประเวณี/ค้ามนุษย์ 257 ราย 4.อาชญากรรมออนไลน์ 668 ราย

ภายหลังจากที่นางปวีณา ได้บรรยายเสร็จสิ้น ผู้ร่วมงานทุกท่านต่างประทับใจในการทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรีของมูลนิธิปวีณาฯ และได้รับแรงบันดาลใจมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงทั่วโลกเพื่อร่วมกันในการสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและยุติธรรมยิ่งขึ้นสำหรับสตรีและเด็กที่เปราะบาง

โดยยกให้มูลนิธิปวีณาฯ เป็นตัวอย่างอันทรงพลังสำหรับการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน