อาทิตย์ทรงกลด ปรากฏการณ์สุดสวยที่สวีเดน

คอลัมน์ Weather Wisdom โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค..2018 เกิดปรากฏการณ์ทรงกลด (halo phenomena) ที่ประเทศสวีเดน การทรงกลดครั้งนี้มีรูปแบบที่งดงามซับซ้อนอย่างยิ่ง ดูภาพที่ 1 และ 2 และคลิปที่ให้ไว้สิครับ

อาทิตย์ทรงกลด

ภาพที่ 1: อาทิตย์ทรงกลดซับซ้อนที่สวีเดน
14 ธันวาคม ค.ศ.2018 Borlange Sweden
ภาพ: Marta Darke
ที่มา > https://twitter.com/StormchaserUKEU/status/1074673620373385218

 

ภาพที่ 2: อาทิตย์ทรงกลดซับซ้อนที่สวีเดน
14 ธันวาคม ค.ศ.2018

ชมคลิปปรากฏการณ์ทรงกลดครั้งนี้ได้ที่

ภาพปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียแต่ส่วนใหญ่ไม่มีคำอธิบายในเชิงวิชาการอีกทั้งไม่มีชื่อเรียกของเส้นหรือแถบแสงการทรงกลดแบบต่างๆที่ปรากฏในภาพ

ก่อนอื่นเลยควรทราบว่า การทรงกลด (halo) ทุกรูปแบบเกิดจากการที่แสงอาทิตย์ (หรือแสงจากแหล่งกำเนิดแสงใดๆ ก็ได้) หักเหหรือสะท้อนจากผลึกน้ำแข็งในอากาศหรือในเมฆครับ

ในกรณีที่เรากำลังสนใจอยู่นี้ การทรงกลดเกิดจากแสงอาทิตย์หักเหหรือสะท้อนโดยผลึกน้ำแข็งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศใกล้ๆ ผิวพื้น ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้ เรียกว่า ไดมอนด์ดัสต์ (diamond dust)

เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ผมใช้โปรแกรมฟรีแวร์ HaloPoint 2.0 ซึ่เขียนโดย Jukka Ruoskanen ผู้เชี่ยวชาญปรากฏการณ์ทรงกลด ทั้งนี้ในแบบจำลองได้ใช้ผลึกน้ำแข็ง 5 รูปแบบ ดังภาพที่ 3 เรียกผลึกแต่ละรูปแบบว่า A, B, C, D และ E


ภาพที่ 3: รูปร่างของผลึกน้ำแข็งที่ใช้ในแบบจำลอง
ภาพ: บัญชา ธนบุญสมบัติ


ผลึกแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

ผลึก A : รูปแท่ง หน้าตัด 6 เหลี่ยมด้านเท่า เอียงตัวแบบสุ่มๆ ในอากาศ ปริมาณ 5%
ผลึก B : รูปแผ่น วางตัวในแนวนอน หมุนรอบแกนผลึกได้ 360 องศา ปริมาณ 15%
ผลึก C : รูปแท่งคล้ายผลึก A แต่วางตัวในแนวนอน หมุนรอบแกนผลึกได้ 360 องศา ปริมาณ 30%
ผลึก D : รูปแท่ง หน้าตัด 6 เหลี่ยม วางตัวในลักษณะหันด้านแบนขนานกับพื้น ปริมาณ 30%
ผลึก E : รูปแผ่น วางตัวในแนวนอนแต่เอียงได้ 4 องศา หมุนรอบแกนผลึกได้ 360 องศา ปริมาณ 20%


ในการคำนวณ ผมตั้งค่ามุมเงยของดวงอาทิตย์ที่ 4 องศา โดยประมาณจากลักษณะความโค้งของเส้นทรงกลดบางเส้นในภาพ (จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลเวลาที่เกิดปรากฏการณ์) ผลการคำนวณแสดงในภาพที่ 4 ครับ

ภาพที่ 4: อาทิตย์ทรงกลดที่สวีเดนจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ภาพ: บัญชา ธนบุญสมบัติ

ชื่อเรียกภาษาไทยของการทรงกลดแต่ละแบบมีดังนี้ครับ
[1] 22-degree circular halo : วงกลม 22 องศา
[2] sundog : ซันด็อก
[3] upper sun pillar : พิลลาร์ดวงอาทิตย์ด้านบน
[4] parhelic circle : วงกลมพาร์ฮีลิก
[5] infralateral arc : เส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล
[6] upper tangent arc : เส้นสัมผัสบน
[7] upper sunvex Parry arc : เส้นโค้งแพร์รีแบบหันด้านนูนเข้าหาดวงอาทิตย์เส้นบน
[8] upper suncave Parry arc : เส้นโค้งแพร์รีแบบหันด้านเว้าเข้าหาดวงอาทิตย์เส้นล่าง
[9] circumzenithal arc : เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล
[10] supralateral arc : เส้นโค้งซูพราแลตเทอรัล
[11] 46 degree Parry supralateral arc : เส้นโค้งแพร์รีซูพราแลตเทอรัล 46 องศา
[12] helic arc : เส้นโค้งฮีลิก
[13] subhelic arc : เส้นโค้งซับฮีลิก

น่าสังเกตว่าการทรงกลดแบบupper suncave Parry arc และ subhelic arc ไม่ปรากฏเด่นชัดในภาพ (จึงใช้สีเทาอมฟ้าสะกดชื่อ) ต่างจากเส้นอื่นๆ ที่เหลือ (ซึ่งใช้สีเหลืองสะกดชื่อ) หมายความว่าแบบจำลองที่นำเสนอไว้ยังสามารถปรับปรุงได้อีก โดยการปรับรูปร่างผลึกและปริมาณสัมพัทธ์ เพื่อให้เส้นต่างๆ ที่คำนวณได้ใกล้เคียงภาพถ่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากใช้ภาพถ่ายในตำแหน่งอื่นก็อาจทำให้เห็นการทรงกลดแบบอื่นๆเพิ่มเติมได้คุณผู้อ่านที่สนใจชมการวิเคราะห์ภาพการทรงกลดครั้งนี้ของอาจารย์Les Cowley ได้จาก link ต่อไปนี้ www.atoptics.co.uk/fza164.htm

ปรากฏการณ์ธรรมชาติมักจะมีอะไรสนุกๆ ให้เราได้แปลกใจและเรียนรู้เพิ่มเติมเสมอครับ :-D

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

แนะนำแหล่งข้อมูล
หากสนในน้ำแข็งในธรรมชาติอีกกว่า 20 แบบ ขอแนะนำหนังสือ Cloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ ติดต่อ สนพ.สารคดี


โทร: 02-547-2700 ต่อ 111, 116
อีเมล: [email protected]
line id : 0815835040

…………………..

อ่าน Weather Wisdom ตอนก่อนหน้านี้ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน