ข่าวการจับกุมอาหารเสริมและเครื่องสำอางค์ ‘เมจิกสกิน’ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน‘ลีน’ ที่ตำรวจร่วมกับหลายหน่วยงาน กำลังขยายผลอยู่อย่างขะมักเขม้นในช่วงนี้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ระบุว่าพบพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเข้าข่าย ‘แชร์ลูกโซ่’ อาทิการเปิดโรงเรียนสอนขายของให้รวย และการบังคับให้ตัวแทนจำหน่ายต้องสั่งสินค้าตามรอบ เป็นต้น

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา แถลงรายละเอียดคดียูฟัน

‘แชร์ลูกโซ่’ ชื่อนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันเป็นรูปแบบวิธีการหลอกลวงระดมเงินจากประชาชน จูงใจด้วยผลตอบแทนสูงเกินจริง อ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี บ่อยครั้งจะแฝงมากับธุรกิจขายตรง แต่กลับไม่เน้นให้สมาชิกขายสินค้า แต่จะให้เร่งหาสมาชิกใหม่ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายรายเก่า เมื่อจำนวนสมาชิกมากขึ้นจนถึงจุดที่หมุนเงินไม่ไหว ก็จะหอบเงินหนีหายไปทิ้งหนี้สินไว้เบื้องหลัง

คนไทยเริ่มรู้จักกลโกงหลอกลวงลักษณะแชร์ลูกโซ่ ตั้งแต่เมื่อปี 2527 จากคดีแชร์แม่ชม้อย ของนางชม้อย ทิพย์โส อดีตพนักงานขององค์การเชื้อเพลิง ที่หลอกลวงให้นำเงินมาลงทุนซื้อรถขนน้ำมัน คันละ 1.6 แสนบาท โดยสามารถแยกลงทุนเป็นครึ่งคัน หรือ เป็นล้อ โดยจะได้รับผลตอบแทนใน 15 วัน ในอัตราเดือนละ 6.5 % หรือปีละ 78 % จึงมีคนนับหมื่นหลงกลแห่นำเงินมาร่วมลงทุน มีผู้เสียหายกว่า 16,000 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4.5 พันล้านบาท ขณะที่นางชม้อยกับพวกถูกตัดสินจำคุก 154,005 ปี

สอบผู้ต้องหาคดียูฟัน

ครั้งนั้นรัฐบาลถึงกับต้องตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ออกมาเพื่อจัดการกลับกลุ่มแชร์ลูกโซ่ของนางชม้อยและแชร์อื่นๆที่ตามมาอีกเป็นพรวน

ที่โด่งดังขึ้นตามมาก็คือ แชร์ชาเตอร์ของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่ชักชวนให้คนนำเงินไปลงทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร ให้ผลตอบแทนถึงเดือนละ 9% สูงกว่าแชร์แม่ชม้อยถึง 2.5 % ทำให้มีคนแห่นำเงินมาลงทุนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นนายทหารกับนักการเมือง แรกๆสามารถจ่ายผลตอบแทนอันงดงามได้ แต่นานไปก็ใกล้ถึงทางตัน กลางปี 2528 นายเอกยุทธหลบหนีออกนอกประเทศ ก่อนกลับมาอีกครั้งหลังคดีหมดอายุความ ก่อนถูกคนขับรถสังหาร เมื่อเดือนมิ.ย. 2556 มูลค่าความเสียหาย 5.5 พันล้านบาท

แชร์เสมาฟ้าคราม ของนายพรชัย สิงหเสมานนท์ เจ้าของหมู่บ้านเสมาฟ้าคราม โครงการบ้านจัดสรรราคาถูก 700 ยูนิต บนเนื้อที่ 320 ไร่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่จัดระดมเงินทุนนอกระบบขึ้น หลังธนาคารระงับการให้สินเชื่อกับโครงการ แต่ต่อมาเพียง 2 ปี แชร์วงนี้ก็ล้มลง เพราะไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย โดยธนาคารเข้ามายึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ ส่วนนายพรชัยถูกจับดำเนินคดี มูลค่าความเสียหาย 704 ล้านบาท

แชร์บลิสเชอร์ โดยบริษัท บลิสเชอร์อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจในรูปการจัดสรรวันพักผ่อนให้สมาชิกแบบเฉลี่ยสิทธิปีละ 4 วัน 4 คืน ตามชื่อโรงแรมหรือที่พักที่บริษัทกำหนดไว้ 14 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 20 ปี แต่ธุรกิจแท้จริงของบริษัทบลิชเชอร์ ไม่ใช่การรับสมัครสมาชิกธรรมดา แต่เป็นการให้ไปหาสมาชิกเพิ่มให้ครบจำนวน แล้วจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่หาได้ ตั้งแต่ 20-45 เปอร์เซนต์ ซึ่งต่อมามีผู้เข้าร่วมธุรกิจนี้เกือบ 3,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท

ใกล้ตัวเข้ามาที่เป็นข่าวดังข้าม ปี 2557-2558 ก็คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน เมื่อบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด บริษัทสัญชาติมาเลเซีย ถูกสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ยื่นดีเอสไอให้ตรวจสอบว่าอาจเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ พฤติการณ์ความผิดเป็นลักษณะชวนให้นำเงินมาลงทุน ตั้งแต่ 17,500 บาท จนถึง 1,750,000 บาท รวมทั้งการลงทุนแบบสมาชิกเน้นซื้อสกุลเงินที่ตั้งขึ้นเอง และเน้นซื้อสินค้าเพื่อพัฒนาตลาดแบบขยายทีม ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดยพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ที่ขณะนั้นเป็นที่ปรึกษา(สบ.10) สอบสวนจับกุมทลายเครือข่าย พร้อมออกหมายจับ พล.ท.อธิวัฒน์ สุ่นปาน ผู้บริหารยูฟันประจำประเทศไทย คดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 2,451 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 356 ล้านบาท

อีกคดีที่ดังไม่แพ้กันก็กรณีของ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ‘ซินแสโชกุน’ กรรมการบริหารบริษัทเวลท์เอฟเวอร์ (WealthEver) ที่ถูกตำรวจจับกุม เมื่อเย็นวันที่ 12 เม.ย. ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน หลังสมาชิกบริษัทขายตรงสินค้าแห่งนี้ ถูกปล่อยทิ้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 1,000 คน เมื่อค่ำวันที่ 11 เม.ย. ภายหลังเดินทางมาตามที่บริษํทนัดหมายว่าจะพาไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเครื่องเช่าเหมาลำ แต่เมื่อมาถึงกลับไม่มีเที่ยวบินดังกล่าว

แม้นจะมีตัวอย่างให้เห็นบ่อยๆ แต่ก็ยังมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งแชร์ลูกโซ่ แชร์โน่น แชร์นี่ผุดขึ้นอย่างอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงประชาชน ซึ่งขบวนการจะดูจากพื้นฐานของเหยื่อเป็นหลัก หากเป็นตามต่างจังหวัดก็จะใช้พวกสินค้าเกษตรมาหลอกให้เหยื่อร่วมลงทุน หากเป็นในเมืองรูปแบบการหลอกให้ลงทุนก็จะเปลี่ยนไปเช่น การหลอกให้ลงทุนในเงินตราต่างประเทศ ทองคำ ราคาน้ำมัน ไปจนถึงทัวร์ต่างประเทศ

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผย 7 วิธีการหลอกลวงของขบวนการแชร์ลูกโซ่ว่า 1.ผู้ชักชวนเป็นบุคคลใกล้ชิด 2.อ้างบุคคลหรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมเข้าร่วมกิจกรรม 3.อ้างหลักฐานผลประโยชน์และเงินมหาศาลที่จะได้รับ 4.ใช้โฆษณาชวนเชื่อ 5.แสดงผลการลงทุนน้อยแต่ประโยชน์ตอบแทนสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว 6.จัดฉากการอบรมสัมมนาอย่างยิ่งใหญ่ 7.พูดจาหว่านล้อมกดดันให้เหยื่อรีบตัดสินใจ

หากความโลภไม่บังตา ใช้สติพิจารณาข้อสังเกตทั้ง 7 ข้อข้างต้นให้ดี ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันให้รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อแก๊งแชร์ลูกโซ่ได้แน่นอน

/////////////////////////////////

ขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจากนิตยสารฟอร์บสไทยแลนด์ และมติชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน