โพลทุกสำนักสะท้อน 4 ปีคสช. ปฏิรูปล้มเหลว เศรษฐกิจปากท้องย่ำแย่ ราคาพืชผลตกต่ำ นักศึกษาขอใครก็ได้ที่ไม่ใช่”ประยุทธ์”เป็นนายกฯ ปชป.ติงมีแต่พิธีกรรม แนะคสช.หัดใจกว้างรับฟังเสียงวิจารณ์ “ปิยบุตร”จี้เร่งจัดเลือกตั้ง ชี้ยิ่งช้ายิ่งแพ้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยันบุกทำเนียบรัฐบาล 22 พ.ค. “โรม”เชื่อเจอตร.-ทหารสกัดแน่ ขอเลี่ยงปะทะ เน้นเจรจา รองผบ.ตร.พบการข่าว “แดงฮาร์ดคอร์” จ้องป่วน เตรียม 3-20 กองร้อยรับมือ ไม่อนุญาตให้ม็อบเคลื่อน จากมธ. ด้าน 8 แกนนำพท.พร้อมเข้ารับทราบข้อหาวันนี้ “หญิงหน่อย”จวกคสช.ใช้ม.116 ปิดปาก “เสี่ยตือ”เตือนรัฐบาลอย่าโยนฟืนเข้ากองไฟ “บิ๊กตู่”เลื่อนไปเยือนเบลเยียมปลายพ.ค.นี้ “ดอน”จัดให้ทัวร์ยุโรปเดือนมิ.ย.

“บิ๊กตู่”ชี้ปชช.เบื่อความวุ่นวาย
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงการชุมนุมเพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง 19 พ.ค.2553 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า แม้จะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่และ ผู้ประกอบการในพื้นที่คงไม่สบายใจที่เห็นภาพบรรยากาศเก่ากลับมาอีก ล่าสุดนิด้าโพลเผยผลสำรวจ 4 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ระบุว่าสิ่งที่ทำให้ประชา ชนมีความสุขมากที่สุดคือการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง จึงสะท้อนว่าสังคมไม่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอีก

ขู่ม็อบอยากเลือกตั้งอย่าทำผิดกม.
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.นี้ รัฐบาลขอเตือนไม่ไห้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพราะเกรงอาจส่งผลกระทบต่อการจราจร เนื่องจากเป็น วันทำการปกติที่จะมีปริมาณรถหนาแน่น ดังนั้น การชุมนุมอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และหลายคนรู้สึกเอือมระอากับการมีม็อบมาตลอด 10 ปี ทำให้ประเทศถอยหลังไปมาก รวมทั้งอาจสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุปะทะได้ แม้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประสานขออนุญาตจัดการชุมนุม โดย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำชับว่าให้ชุมนุมอย่างมีขอบเขต แต่เห็นว่าความจริงไม่จำเป็น ต้องเรียกร้องอะไร เพราะรัฐบาลบอกกับประชาชนอยู่แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 ส่วนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นพื้นที่ควบคุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ หากฝ่าฝืนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

คสช.ไม่ปิดกั้นขอให้อยู่ในกรอบ
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมดูแลสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. ว่า ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวภายในมหาวิทยา ลัยธรรมศาสตร์ คสช.มีโอกาสฟังความคิดเห็นของพวกเขา ไม่ว่าจะขอพูด ขอปราศรัย หรือขอแสดงความคิดเห็น คสช.ก็ประสานให้โดยการดำเนินกิจกรรมต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย อย่าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใคร อย่าไปบิดเบือนข้อมูล อย่าทำในสิ่งไม่เหมาะสม ปลุกเร้าความเกลียดชังในเวลาที่บ้านเมืองต้องการความสงบสุข ทั้งนี้ คสช.ไม่ได้ปิดกั้นการเคลื่อนไหว ไม่ได้ไปละเมิดอะไรเลย เราปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย

“นี่คือสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่า คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจเต็ม แม้จะเป็นรัฐบาลเผด็จการก็ตาม ไม่ได้ใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง เข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม เราเน้นการพูดคุย ขอความร่วมมือ ทำความเข้าใจ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกระหว่างจัดกิจกรรมด้วย อีกทั้งประเมินสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความรุนแรง” พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวและว่า การรับมือผู้ชุมนุมเราบังคับใช้กฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ

แนะจัดกิจกรรมแค่ในธรรมศาสตร์
เมื่อถามว่าการรับมือที่จะเคลื่อนไหว มาทำเนียบรัฐบาล ผบ.มทบ.11 กล่าวว่า คงไม่มีอะไรกังวล เราประสานงานตลอด ซึ่งตนไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่ขอความร่วมมือว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาลจะทำให้รถติด ช่วงนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้วและเกรงว่าจะทำให้ประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนช่วงเวลาเดินขบวนรู้สึกไม่ดี เราจึงพยายามให้ข้อมูล และชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลกิจกรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามว่าจะใช้วิธีการบล็อกผู้ชุมนุมตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ในภาพรวมขอความร่วมมือให้เคลื่อนไหวภายใต้กรอบกฎหมาย ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม

ตร.รับมีกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์จ้องป่วน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. พร้อมด้วยรองผบช.น.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค. ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า มีการยื่นเรื่องขออนุญาตจัดการชุมนุมมาที่ตำรวจ แต่คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่สามารถอนุญาตได้ ซึ่งต้องขออนุญาตทางกองทัพ และคสช. เพราะเป็นการขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง เบื้องต้น ประเมินสถานการณ์การข่าวพบว่าจำนวนผู้ชุมนุมจะมีประมาณหลักร้อยไม่ถึงหลักพันตามที่อ้าง และยอมรับว่ามีข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง เตรียมเข้ามาสร้างสถานการณ์โดยมีการใช้อาวุธ จึงเตรียมจัดกำลังตำรวจ 3-20 กองร้อย ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ พร้อมสั่งเตรียมรถควบคุม ผู้ต้องหาและรถพยาบาลเฝ้าระวัง และยืนยันว่าไม่อนุญาตให้เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบเพราะอยู่ในเขต 150 เมตร รอบเขตพระราชฐาน หากฝ่าฝืนจะดำเนินการจับกุมทันที

รองผบ.ตร. กล่าวว่า นอกจากนี้ ผบ.ตร.ยังมีคำสั่งให้ผบช.น. ออกประกาศตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อให้พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล 50 เมตรเป็นพื้นที่ควบคุม หากฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายจับกุมทันที

“โรม”เน้นเจรจา-เชื่อไร้ปะทะรุนแรง
ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ว่า เรายังพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เพื่อยันยันสิทธิการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการแจ้งขอชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเขาพยายามไม่ให้มีการเคลื่อนขบวนการชุมนุม แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้เราทำได้ตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจขัดขวางไม่ให้เราเคลื่อนขบวน จึงขอให้ผู้มีอำนาจเคารพในกฎหมายด้วย ส่วนกลุ่มประชาชนที่จะเข้าร่วมชุมนุมนั้น ตนยังไม่ได้ประเมินจำนวนแต่คาดหวังไว้ระดับหนึ่งว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชุมนุม

นายรังสิมันต์กล่าวว่า การทำกิจกรรมของเรา เป็นเรื่องยากมาตลอด เช่น การเคลื่อนขบวนไปยังกองทัพบก แต่เราก็ทำได้ และครั้งนี้จะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล น่าจะทำได้เช่นกัน และหากไปดูการชุมนุมของกลุ่มอื่น อาทิ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เขาก็ทำได้ ส่วนสถานที่ที่เราจะไปปักหลักชุมนุมนั้น ขอให้ติดตามในวันที่ 22 พ.ค. ทั้งนี้ เชื่อว่าการชุมนุมมีโอกาสสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้น แต่ทางกลุ่มมีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ให้เกิดการปะทะโดยเน้นใช้วิธีการเจรจา ทั้งนี้กลุ่มไม่ต้องการบุกเข้าไปในทำเนียบ แค่อยากให้คนที่มีอำนาจได้ยินเสียงของประชาชน ซึ่งข้อเรียกร้องที่ผ่านมายังไม่ได้มีการตอบรับจากรัฐบาล ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมจะใช้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลักในการเฝ้ารักษาความปลอดภัย เชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น

ลั่นบล็อกแกนนำผิดกฎหมาย
ส่วนที่โฆษกรัฐบาลระบุประชาชน เอือมระอากับการเคลื่อนไหวของม็อบ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตลอด 4 ปีของรัฐบาล คสช. เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือว่ามีความเคลื่อนไหวของประชาชนน้อยมาก แต่ปัญหาหลายอย่างยังคงมีอยู่

แกนนำคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า หากมีการบล็อกแกนนำถึงบ้านเพื่อไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม เท่ากับเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมาย ในเมื่อชอบพูดเรื่องกฎหมาย ก็ต้องเคารพกฎหมายด้วยกันทั้งหมด และการจะบล็อกแกนนำไม่สามารถทำได้ เพราะตามกฎหมายจะต้องให้เราทำความผิดก่อน จึงจะมีอำนาจจับกุม นอกจากนี้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหวมาตลอด แต่ยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ ออกมา ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสันนิษฐานว่ากลุ่มพวกเรายังบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำอะไรผิด ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาก็แจ้งไป และเราไม่ถึงขนาดต้องมีเซฟเฮาส์ในการป้องกันถูกจับกุมตัว

ลั่นไม่กังวลหากถูกดำเนินคดีอีก
ส่วนการเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลอาจส่งกระทบต่อการจราจรนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราต้องแยกระหว่างผลกระทบกับสิทธิ ซึ่งวันนี้เรายืนยันว่าเรามีสิทธิเรียกร้อง ยอมรับว่าการจราจรอาจมีการกระทบบ้าง แต่ยืนยันว่าทางกลุ่มได้ติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การจัดกิจกรรมไม่ใช่การปิดถนน แต่เดินขบวนโดยใช้ 1 ช่องจราจร มั่นใจว่าการจราจรไม่เป็นอัมพาตแน่นอน และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังไม่คิดไปถึงการชุมนุมที่ยืดเยื้อแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวันที่ 21 พ.ค. และวันที่ 22 พ.ค. รวมถึงปัจจัยอื่นด้วย แต่ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของกลุ่มคือการแสดงพลังเพื่อทวงสัญญา

เมื่อถามถึงคสช.จะดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยที่วิจารณ์ผลงานรัฐบาล มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า คิดว่าไม่กระทบ เพราะที่ผ่านมาทางกลุ่มโดนดำเนินคดีมาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แต่จะส่งผลกระทบต่อคสช. ที่ไม่เปิดให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองได้อภิปรายแสดงความเห็น อย่างไรก็ตาม ตนไม่กังวลหากจะโดนดำเนินคดีอีก เพราะถูกดำเนินคดีมาแล้วกว่า 8 คดี ถ้าเทียบกับพรรคเพื่อไทยก็อาจจะ โดนเป็นคดีเเรกๆ หากพูดติดตลกก็คือ ขอต้อนรับพรรคเพื่อไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก

“ปิยบุตร”จี้คสช.เร่งจัดเลือกตั้ง
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงการปิดกั้นการแสดงความเห็นของพรรคการเมืองว่า 12 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2549 เราอยู่กับความไม่ปกติมาตลอด แม้จะมีโรดแม็ปการเลือกตั้งปี 2562 แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังใช้กฎหมายที่มาจากประกาศหรือคำสั่งคสช. ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การเลือกตั้งที่จะถึงอาจมีแต่ชื่อ การเลือกตั้งจะเป็นจริงตามระบอบประชาธิปไตยได้ จะต้องให้พรรคเก่าและพรรคใหม่ รวมถึงประชาชนได้แสดงความคิดเห็นด้วย ส่วนจะกระทบต่อการดำเนินการของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่กระทบ วันที่ 27 พ.ค.จะจัดประชุมนัดแรก ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

เมื่อถามว่าจะเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ครบรอบ 4 ปี คสช.ใน วันที่ 22 พ.ค. หรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า ยิ่งเลือกตั้งช้า พรรคใหม่จะยิ่งได้เปรียบ ขณะที่คสช.จะดิ่งลงเรื่อยๆ แต่นี่เป็นข้อดีที่ตนพึงรับไม่ได้ เพราะประเทศจะเสียหาย ดังนั้น การเลือกตั้งจึงต้องเร็ว การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็คงมีความคิดแบบนี้ซึ่งไม่ใช่แค่นี้ แต่ยังมีนักธุรกิจ ข้าราชการ ที่อยากเลือกตั้ง นี่เป็นเรื่องปกติ ส่วนตนไปชุมนุมไม่ได้ เพราะตั้งพรรคแล้ว แต่ยืนยันว่าข้อเรียกร้องนี้ถือเป็นเสรีภาพอันสูงสุดของคนไทย

4 ปีคสช.ได้แค่ 5.42 จากเต็มสิบ
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ จำนวน 1,346 คน ระหว่างวันที่ 15-19 พ.ค. เกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.จะครบ 4 ปีในวันที่ 22 พ.ค.นี้ พบว่า สิ่งที่ประชาชน “สมหวัง” ใน 4 ปีรัฐบาล คสช. ร้อยละ 56.45 ระบุบ้านเมืองสงบ ไม่มีการชุมนุมประท้วงที่รุนแรง ร้อยละ 30.88 การใช้กฎหมายเด็ดขาด เช่น ปราบปรามการทุจริต ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 24.65 จัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 18.20 พัฒนาระบบคมนาคม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ร้อยละ 17.05 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพิ่มเบี้ยยังชีพ ขึ้นค่าแรง

สิ่งที่ประชาชน “ผิดหวัง” ใน 4 ปีรัฐบาล คสช. ร้อยละ 41.78 เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น สินค้าแพง ประชาชนเดือดร้อน ร้อยละ 34.22 มีการทุจริตในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ร้อยละ 19.66 แก้ไขปัญหาล่าช้า ทำงานช้า ร้อยละ 15.31 ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม เช่น การใช้มาตรา 44 ร้อยละ 13.23 ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาล คสช. ก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปีหน้า ร้อยละ 32.02 จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว หาแนวทางป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง ร้อยละ 27.23 ตั้งใจทำงาน ซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ร้อยละ 23.91 แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ร้อยละ 15.38 แก้ปัญหาทุจริตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร้อยละ 11.23 ใช้อำนาจอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ไม่แทรกแซง

คะแนนเต็ม 10 ประชาชนให้รัฐบาล คสช. 5.42 คะแนน

โพลชี้คนไทยสุขน้อยลงกว่าปีก่อน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง 4 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,253 หน่วยตัวอย่าง โดยพบว่า ร้อยละ 46.85 ระบุ มีความสุขเท่าเดิม เพราะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจและค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม ร้อยละ 27.69 มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองสงบมากขึ้น คสช.มีความมุ่งมั่นและตั้งใจทำงาน ทำให้ปัญหาการทุจริตลดลง และร้อยละ 25.46 มีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย

เมื่อเทียบกับผลสำรวจ 3 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่สำรวจเมื่อเดือนพ.ค. 2560 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง จากเดิมร้อยละ 32.64 เป็นร้อยละ 27.69 ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิม มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 42.00 เป็นร้อยละ 46.85 เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากเดิม ร้อยละ 21.76 เป็นร้อยละ 25.46

เหตุแก้เศรษฐกิจปากท้องไม่ได้
ด้านการบริหารครบรอบ 4 ปี คสช. ในประเด็นต่างๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 52.99 ระบุเป็นเรื่องบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 16.76 ระบุไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 9.66 การมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ร้อยละ 6.15 การจัดระเบียบสังคม ร้อยละ 4.95 การแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 3.11 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 2.23

ส่วนประเด็นที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข ร้อยละ 30.81 ระบุเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 15.08 การแก้ปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 11.89 การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 11.49 การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ร้อยละ 10.93 ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 10.22 การที่ยังไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 3.11 การแก้ปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.63 การมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน

ปชป.ติง 4 ปีคสช.มีแค่พิธีกรรม
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ 4 ปี คสช.ว่า ขอเรียกร้องให้ คสช.เปิดใจกว้างรับฟัง นำข้อเสนอที่ดีมีประโยชน์ไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม อยากเห็น คสช.มุ่งเดินหน้าแก้ปัญหามากกว่าแก้ตัวไปวันๆ ซึ่งตลอด 4 ปี เราเห็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างน้อยมาก ทำให้เสียโอกาสไปพอสมควร การทำงานที่พอสัมผัสได้คือ 1.ความตั้งใจและความพยายามแก้ปัญหา 2.ยุติการเผชิญหน้าของกลุ่มต่างๆ ช่วยลดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความสงบ ขึ้นในบ้านเมือง 3.ยุติรัฐบาลที่ฉ้อฉลอำนาจ ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

นายองอาจกล่าวว่า ส่วนการทำงานที่ยังไม่สัมผัสได้คือ 1.เรื่องการปฏิรูป คสช.ต้องยอมรับความจริงว่าตลอด 4 ปีคสช.ได้ตั้งสภา คณะกรรมการ คณะทำงานมากมายหลายชุด แต่ไม่สามารถจุดประกายให้ประชาชนสัมผัสได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2.การปรองดอง เป็นอีกหนึ่งคำสัญญาที่ประชาชนไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมจนสัมผัสได้อย่างชัดเจน อาจเห็นเพียงพิธีกรรมผ่านกลไกภาครัฐบางส่วนเท่านั้น

นายองอาจกล่าวว่า 3.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะเห็น คสช.ฟิตในช่วงแรกๆ แต่พอมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับคนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ก็เกิดกรณีเลือกปฏิบัติ 4.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และ5.การแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ซึ่งขณะนี้ คสช.ยังมีเวลาเหลืออยู่อีกเกือบหนึ่งปีที่จะทำงานแก้ปัญหาให้ลุล่วงจนประชาชนสัมผัสได้ จึงอยากให้ คสช.ทุ่มเทความรู้ความสามารถแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมต่อไปในเวลาที่เหลือจากนี้

พท.โวยสุขคนไทย”ทรงกับทรุด”
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผลสำรวจของนิด้าโพลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.85 ระบุมีความสุขเท่าเดิม ร้อยละ 25.46 มีความสุขลดลง เพราะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง สวนทางราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย ไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไปและขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย สะท้อนว่ากว่าร้อยละ 70 ไม่เห็นว่าการคืนความสุขของคสช.นั้น ประชาชนได้รับความสุขมากขึ้น

นายอนุสรณ์กล่าวว่า 4 ปีหลังรัฐประหาร ความสุขคนไทยมีแต่ทรงกับทรุดหรือไม่ อยากให้คสช.รับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ หรือแม้แต่นักการเมือง ไม่ควรมีทัศนคติเป็นลบว่าเป็นความเห็นจากฝ่ายที่เป็นศัตรูกัน หรือมองความเห็นเหล่านั้นอย่างมีอคติ อย่างน้อยเวลาที่เหลือ 8-9 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าได้ฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้นำไปปรับปรุงการทำงาน เปิดพื้นที่ เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สถานการณ์การเมืองควรคลี่คลายเพื่อเตรียมการและก้าวไปสู่การเลือกตั้ง เปิดใจให้กว้างและปรับทัศนคติตัวเองใหม่ว่าคนไทยอยากเห็นการนำประเทศไปสู่สภาพบ้านเมืองปกติ เปิดพื้นที่เสรีภาพ ปลดล็อกทางการเมือง คนไทยที่มีความปรารถนาดีต่อกันจะได้ออกมาช่วยกันนำบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

สับคสช.แทรกแซงทรัพยากร
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม Social Science Forum ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ จัดกิจกรรมในงาน “D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน” เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ของสังคมในมิติต่างๆ ภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช.

ในช่วงเช้าเป็นงานเสวนาวิชาการ “สถานการณ์สิทธิชุมชน เกษตร และทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันและอนาคต” โดยนางเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ใช้อำนาจแทรกแซงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และจัดแจงชีวิตคนในสังคมแทบทุกด้าน ทั้งการควบคุมผู้คน ควบคุมดินแดน ควบคุมพื้นที่ เพราะทหารนิยามว่าป่าคือเรื่องความมั่นคงของชาติ จึงส่งผลให้มีการเอาคนออกจากป่าทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกิดขึ้นมานานแล้ว มีการใช้เครื่องมือและกฎหมายต่างๆ มาดำเนินการกับประชาชน เอื้อนักธุรกิจ ทั้งนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องการเมือง หากเราจะรักษาผลประโยชน์ประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็คือระบบการเมืองที่ดี ที่ให้สิทธิของประชาชน

น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้ คสช.จะอ้างว่าอนุรักษ์ทรัพยากร แต่อีกทางหนึ่งกลับมีการยกเว้นระเบียบและขั้นตอนต่างๆ เพื่อทำให้การใช้ทรัพยากรในการพัฒนาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการใช้คำสั่ง คสช.ตามอำนาจมาตรา 44 อาทิ ผังเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษ การเอาพื้นที่ส.ป.ก.ไปใช้ทำธุรกิจอื่น ดังนั้น หากเราจะปกป้องทรัพยากรต้องยกเลิกคำสั่งและประกาศต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน รวมถึงออกกฎหมายที่รับรองและคุ้มครองสิทธิของประชาชน รัฐบาลใหม่ควรทำเรื่องเหล่านี้

โพลนักศึกษา19มหา”ลัยยี้ 4ปีคสช.
ต่อมาเวลา 13.30 น. มีการจัดแถลงข่าวและอภิปรายผล “การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย” ของ คนส. จากกลุ่มตัวอย่าง 2,175 คน จาก 19 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรี อยุธยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยอุบลราช ธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผลสำรวจแบ่งเป็น 3 หมวด 1.รัฐประหารและ คสช. เริ่มจาก “การติดตามรายการคืนความสุข” พบว่านักศึกษาร้อยละ 72.7 ไม่ติดตาม/ติดตามน้อย และร้อยละ 27.3 ติดตาม ส่วนคำถามคิดว่าการรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ ร้อยละ 72.6 ตอบว่าไม่ได้ และร้อยละ 27.4 เห็นว่าได้

ผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปี ร้อยละ 70.6 เห็นว่า แย่/แย่มาก ร้อยละ 29.4 เห็นว่าดี/ดีเยี่ยม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบถึงทหารที่ยึดอำนาจสามารถบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 86.2 บอกไม่เห็นด้วย ร้อยละ 13.8 เห็นด้วย

ไม่เห็นด้วยนายกฯคนนอก
2.รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มจากคำถามถึงความเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ด้าน คือ ปราบโกง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แก้การซื้อเสียง แก้คอร์รัปชั่น ปกป้องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมสวัสดิการ พบว่านักศึกษาเกินครึ่งไม่เชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ปัญเหล่านั้นได้ ส่วนความเชื่อมั่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้หรือไม่ ร้อยละ 70.8 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 29.2 เชื่อมั่น

3.ความหวังและการเลือกตั้ง เริ่มจากความหวังสำหรับอนาคตประชาธิปไตย พบว่า หมดความหวังถึงร้อยละ 75.4 มีความหวังเพียงร้อยละ 24.6 ส่วนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีนายกฯ คนนอก ร้อยละ 75.2 บอกไม่เห็นด้วย มีเห็นด้วยเพียงร้อยละ 24.8

ใครก็ได้เป็นนายกฯที่ไม่ใช่”บิ๊กตู่”
ส่วนในอนาคตมีการเลือกตั้งจะไปหรือไม่ ร้อยละ 72.9 ระบุไป ร้อยละ 4.2 ไม่ไป และร้อยละ 21.6 ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนจะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด พบว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.7 พรรคทางเลือกใหม่ ร้อยละ 21.6 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 20.3 พรรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 8.6 พรรคทหาร ร้อยละ 2.5 และไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 14.4

สำหรับคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรก พบว่าร้อยละ 70.6 ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร แต่ในส่วนนี้ร้อยละ 35 ระบุใครก็ได้ที่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ ถัดมาร้อยละ 6.8 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 5.7 นายทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 4.1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 1.9 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.6 นายอุดม แต้พานิช ร้อยละ 1.3 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร้อยละ 1.1 นายอาทิวราห์ คงมาลัย และนายชูวิทย์ กลมวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.9

“หน่อย”ซัดคสช.ใช้ม.116 ปิดปาก
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงคสช.แจ้งความดำเนินคดี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยจากกรณีแถลงข่าวเรื่อง “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล.-คสช.” ว่า รัฐบาลทำงาน ประชาชนรับผล แม้พรรคการเมืองยังทำอะไรไม่ได้ แต่ความที่เคยเป็นตัวแทนประชาชนก็ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อส่วนรวมได้ การคุยด้วยเหตุผลหรือแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรมีความผิด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือประชาชน ส่วนการใช้มาตรา 116 แจ้งความนั้น อยากให้ใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เช่น การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจเพื่อคุ้มครองตนเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สามัคคีตามมา

นัดให้กำลังใจ 8 แกนนำเพื่อไทย
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวอาจนำไปสู่การยุบพรรค คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ตนเป็นคนสมัยไทยรักไทย เคยโดยยุบมาแล้วหลายรอบ การยุบพรรคเป็นเครื่องมือที่มีพลังสำหรับผู้มีอำนาจ แต่ถามว่า ยุบแล้ว จะเลิกศรัทธาของประชาชนที่มีกับพรรคได้หรือไม่

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ในช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. อดีตส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ได้นัดกันไปให้กำลังใจ 8 แกนนำพรรค ที่จะไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองปราบปราม ซึ่งการรวมตัวดังกล่าวไม่ใช่การระดมพลไปกดดันแต่อย่างใด

8 แกนนำพร้อมรับทราบข้อหา
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการไปรับทราบข้อกล่าวหาว่า คงเป็นขั้นการรับทราบข้อหาและขอรับทราบข้อเท็จจริงที่ไปที่มาว่ามีอะไรถึงได้แจ้งข้อหาเช่นนั้น เท่าที่ทราบจากหมายเรียก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกแกนนำ 5 คน มีข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ส่วนอีก 3 คน เพิ่มข้อหาตามมาตรา 116 ความผิดต่อความมั่นคงเข้าไปด้วย ในขั้นนี้เข้าใจว่าทุกคนคงไปรับทราบข้อหาและให้การปฏิเสธ โดยจะขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรม นูญ ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ความผิดตามมาตรา 116 นั้นเชื่อมั่นว่าไม่เข้าองค์ประกอบ เพราะมิใช่การทำอะไรนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ การวิจารณ์รัฐบาลโดยสุจริต ไม่มีการยุยงปลุกปั่นให้ใครมาล้มรัฐบาล ก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง จึงมีความเห็นเบื้องต้นว่าคสช.ใช้อุปกรณ์เครื่องมือของรัฐเพื่อปกป้องป้องกันอำนาจของตนเป็นหลัก มาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน โดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบตามกฎหมายของมาตรา 116 โดยแท้จริงเลย

ชทพ.เตือนรัฐอย่าโยนฟืนเข้ากองไฟ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงคสช.จะดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ร่วมกันวิจารณ์ผลงานรัฐบาลในรอบ 4 ปี ว่า วันนี้บรรยากาศกำลังดี การเมืองกำลังเข้าสู่ช่วงจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปเดือนก.พ. 2562 ตามที่นายกฯ ประกาศไว้ รัฐบาลควรเปิดกว้างให้ประชาชนและพรรคการเมือง ได้แสดงความเห็น แม้พรรคยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ แต่ควรเปิดกว้างให้ทุกพรรคได้แสดงความเห็น บางเรื่องอาจถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็ควรยอมรับความเป็นจริง อย่าโยนฟืนโหมเข้าไปในกองไฟแล้วทำให้บรรยากาศทางการเมืองร้อนขมุกขมัวไปด้วยการเผชิญหน้ากันอีก เพราะไม่เกิดประโยชน์

นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลคสช.กำลังเข้าสู่ปีที่ 4 ถ้าเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย หากเห็นว่าการเข้าสู่ปีที่ 3-4 แล้วยังได้รับความยอมรับจากประชาชน ก็มักชิงยุบสภาไปเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเลือกกลับมาอีก ดังนั้น หากรัฐบาลเชื่อมั่นว่าที่ผ่านมาทำดีมาตลอด และถ้าไม่ดีจริง 4 ปีอยู่ไม่ได้ ตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ระบุ รัฐบาลก็ไม่ต้องหวาดกลัวอะไร และควรเปิดกว้างทำให้บรรยากาศของประชาธิป ไตยเกิดขึ้นจะดีกว่า

“บิ๊กตู่”เลื่อนเยือนเบลเยียม-ยุโรป
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวนายกฯ มีกำหนดเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 24-26 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อียู กรีน วีก (EU Green Week) จัดโดยสหภาพยุโรป (อียู) ว่า แม้เคยมีการพูดถึงการประชุมดังกล่าวและนายกฯอาจจะเดินทางไปต่างประเทศ แต่สุดท้ายยังไม่มีการจัดทำกำหนดการอย่างเป็นทางการใดๆ อีกทั้งทีมงานไม่ได้ประชุมเตรียมการด้านต่างๆ หรือเนื้อหาสาระสำหรับการเข้าการประชุมดังกล่าวเลย

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังเตรียมการสำหรับนายกฯ ที่จะเดินทางเยือนประเทศในยุโรปและสำนักงานใหญ่ของอียู ซึ่งเดิมจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ แต่ต้องปรับกำหนดการ คาดว่าการเยือน ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งหลายประเทศพร้อมให้นายกฯไปเยือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อหาช่วงเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายสะดวก เพราะมีภารกิจต่างๆ อยู่มาก หลังจากอียูประกาศปรับความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความสัมพันธ์มีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี

รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า การทำงานด้านต่างประเทศของไทยขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าด้วยดี และมีพัฒนาการเชิงบวก ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนไทย จึงควรรักษาความเชื่อมั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้มีความต่อเนื่อง แม้การเดินหน้าตามโรดแม็ปอาจล่าช้าเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องภายในประเทศ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไม่เกิดปัญหาสั่นคลอนใดๆ ขึ้น

“ดอน”วอนอย่าสร้างแรงกระเพื่อม
เมื่อถามว่าการนัดชุมนุมคนอยากเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งครบ 4 ปีคสช. ถูกจับตามองจากต่างประเทศหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า จะให้ดีที่สุดคือไม่มีอะไรมาสร้างแรงกระเพื่อมต่อบ้านเมือง การเดินขบวนถ้าไม่เกิด จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะต้องช่วยกันไม่ให้เกิดผลกระทบ เมื่อประเทศสงบเรียบร้อย จะเป็นประโยชน์กับทุกคนและทุกวงการ ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติที่อยู่ในไทย เราเชื่อว่าไทยเป็นมิตรกับนานาประเทศ ผู้ที่เข้ามาอยู่ในไทยก็ควรมีความปรารถนาดีต่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางทำเนียบรัฐบาลได้แจ้งเจ้าหน้าที่และคณะสื่อมวลชนที่เตรียมความพร้อมติดตามคณะของนายกฯว่า ยกเลิกกำหนดการดังกล่าวไว้ก่อนโดยไม่ระบุถึงเหตุผลของเรื่องนี้

สภาปรับลดไมค์เหลือแค่8หมื่น
วันที่ 20 พ.ค. นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อท้วงติงของรัฐบาลต่อการจัดซื้ออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งสูงเกินจริงว่า ยืนยันพร้อมปรับลดตัวเลขงบประมาณอุปกรณ์ด้านไอทีลง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นได้พิจารณาปรับลดงบประมาณและสเป๊กของไมโครโฟนเหลือเพียงตัวละ 80,000 บาท จากเดิมที่เสนอพร้อมเทคโนโลยีส่วนประกอบ 135,915 บาท โดยได้ปรับกลับไปใช้ระบบเดิมที่ไม่มีแผงการอ่านบัตรและแผงอ่านลายนิ้วมือ ขณะที่นาฬิการาคาเรือนละ 70,000 บาท ได้เสนอจัดซื้อเพียง 2 เรือน เพื่อใช้ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่านั้น แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงมา อาจกลับไปใช้นาฬิกาตามท้องตลาดที่ใช้ระบบอนาล็อกแทน ทั้งนี้การพิจารณาปรับลดงบฯ ครั้งนี้จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันกับการปิดฝ้าของผู้รับเหมา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมได้

นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวตำหนินายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ที่โยนปมปัญหาที่ครม.ให้ทบทวนการจัดงบฯ 8 พันกว่าล้านบาท ในการจัดทำระบบไอทีของอาคารรัฐสภาใหม่ ให้เป็นความรับผิดชอบของเลขาธิการสภา โดยอ้างไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบว่า เท่าที่ทราบระบบรัฐสภาไทย เมื่อเสนองบประมาณผ่านคณะกรรมการสภามาแล้ว จะต้องให้ประธานสนช. เป็นผู้ตรวจสอบและเซ็นลงนาม ก่อนส่งให้ครม. ดังนั้น การออกมาแถลงของนายพรเพชรเช่นนี้ ตนคิดว่าประธานสนช.ควรแสดงความรับผิดชอบให้มากกว่านี้ เพราะประเทศไทยต้องการผู้นำที่ซื่อสัตย์ สุจริต และมีความรับผิดชอบ

“เรื่องนี้ผมคิดว่าควรให้ครม.เข้าตรวจสอบการใช้งบฯ อย่างจริงจัง เพราะมีการเลื่อนขยายซ้ำแล้วซ้ำอีก เรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่ลดสเป๊กลงเพื่อให้ถูก แต่อาจใช้สเป๊กเดิมแล้วทำให้ถูกลง หรือลดทั้งสเป๊ก ลดทั้งรายจ่ายที่ปูดจาก 3 พันล้าน เป็น 8 พันล้าน จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ ช่วยตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย” นพ.ระวีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน