จากกรณีมีการเผยเรื่องราวสะเทือนสังคมกรณีเด็กหญิงวัย 7 ขวบ นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ถูกเด็กชายวัย 7 ขวบ 2 คน และเด็กชายวัย 10 ขวบ 1 คน รุมทำอนาจาร แล้วมีการว่าจ้างให้เด็ก ป.5 กดหัวให้จมน้ำบริเวณแอ่งน้ำในสระน้ำสาธารณะกลางหมู่บ้านหวังฆ่าปิดปาก เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด นางสาวกุลจิรา โฉมไสว หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จากการสอบถามเด็กหญิงที่ถูกกระทำและกลุ่มเด็กชายที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ยืนยันว่าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าว โดยเฉพาะเรื่องของการข่มขืน แต่เป็นการหยอกล้อกัน ส่วนเด็กชายชั้นป.5 ที่ถูกระบุว่าได้รับการว่าจ้างจากเด็กชายชั้นป.3 ให้กระทำเด็กหญิงนั้น ก็เป็นเพียงแต่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่าคุณยายอาจจะเข้าใจผิดจากภาพที่ได้เห็น และคาดว่าเด็กน่าจะทำเลียนแบบจากสื่อที่เคยเห็นมาก่อน

ด้าน ตำรวจ สภ.กระสัง เปิดเผยความคืบหน้าทางคดีว่า จากการสอบปากคำเด็กทั้ง 2 ฝ่าย เด็กหญิงยืนยันว่าไม่ได้ถูกล่วงละเมิดและไม่ได้ถูกกดน้ำ ซึ่งตรงกับคำให้การของเด็กชาย แต่ขัดกับคำให้การของคุณยาย ขณะที่ผลการตรวจสอบไม่พบร่องรอยการข่มขืนแต่อย่างใด

สภาพบ้านเด็กหญิงป.1 ยากจนมาก

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้อยากให้สังคมค่อยๆ พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เชื่อว่ายังมีรายละเอียดอีกมาก แต่สิ่งแน่นอนคือได้เกิดความรุนแรงระหว่างเด็กขึ้นแล้ว และมีเด็กเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็นผู้กระทำ โดยคำว่า ข่มขืน หรือ จ้างวาน ล้วนเป็นคำพูดของผู้ใหญ่ ที่นำมาใส่ในเด็ก ต้องเข้าใจข้อเท็จจริง เรื่องสรีระของเด็กด้วยว่า ในเด็กผู้ชายอวัยวะเพศจะแข็งตัวเมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป หรือเป็นวัยรุ่น ฉะนั้น เด็กป.5 จะทำการข่มขืนได้ต้องมีร่างกายโตกว่าเด็กทั่วไป ส่วนการจ้างวาน เชื่อว่า ยังเร็วเกินไปที่เด็กวัยประถมจะคิดได้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีรายละเอียดอีกมาก

โดยตามปกติในการพิจารณาคดี ของศาลเยาวชน และครอบครัว มักให้ความเห็นว่า ความรุนแรงในเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไข ไม่สามารถยอมความหรือกลบเกลื่อน หรือให้แล้วต่อกันได้ เพื่อให้ความรุนแรงในเด็กลักษณะนี้ได้รับการแก้ไข ทั้งตัวผู้กระทำความรุนแรง และผู้ถูกกระทำต้องได้รับการเยียวยาบาดแผลในจิตใจ การยอมความ จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะในส่วนของผู้กระทำความรุนแรง หากเป็นเด็ก เติบโตไปก็อาจก่อความรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่มีการปรับแก้ไขแต่ต้น ส่วนคนที่ถูกกระทำ ก็มีบาดแผลในใจกลายเป็นปมด้อย ดังนั้น เรี่องราวในช่วงวัยเด็กจึงเป็นรากฐานสำคัญในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สังคมควรให้ความสนใจ จากข่าวนี้ เริ่มแรกหยุดดราม่า พิจารณาข้อเท็จจริง เพราะถ้อยคำจากข่าว ทั้งข่มขืน , จ้างวาน อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะคำพูดเหล่านี้ เป็นคำของผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก และต้องเข้าใจว่าความรุนแรงระหว่างเด็กมีทุกยุคทุกสมัย มีความรุนแรงหลายระดับ เช่น เด็กแกล้งกันในโรงเรียน , นักเรียนตีกัน แต่ปัญหาเหล่านี้ ต้องมีการแก้ คนก่อความรุนแรง ต้องปรับพฤติกรรม , คนถูกกระทำต้องได้รับการช่วยเหลือ ในประเทศญี่ปุ่น มีเด็กที่ถูกเพื่อนรังแก เริ่มแรกไม่ไปโรงเรียน จนท้ายที่สุดฆ่าตัวตาย ดังนั้น ต้องมีการฝึกให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา ตั้งแต่ ฝึกการขอความช่วยเหลือ พ่อแม่ต้องรับฟัง อย่ามองเป็นเรื่องของเด็ก , และไปพูดคุยกับครูประจำชั้น ร่วมกันฝึกให้เด็กเข้มแข็ง แต่ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ ส่วนเด็กที่ก่อความรุนแรง หากทางโรงเรียนแจ้งผู้ปกครองมา อันดับแรก พ่อแม่อย่าเข้าข้างปกป้องลูก ยอมรับความจริงให้ได้ และวางแผนแก้ไข ปรับพฤติกรรม

cr.ช่อง3

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน