รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ-ถวายพร

“7ชนเผ่า5จว.” มูลนิธิโครงการหลวง

สักการะบรมศพ-ทูลเกล้าฯผลผลิต

ในหลวงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเพิ่มองคมนตรีอีก 2 คน คือ วิรัช ชินวินิจกุล-จรัลธาดา กรรณสูต นายกฯปรารภในครม. ขอให้ประชาชน หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมปีใหม่ในลักษณะเทิดทูนสำนึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ขอให้ทรงพระเจริญ ด้านมูลนิธิโครงการหลวงนำชาวเขา 7 ชนเผ่าจาก 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเกือบ 2 พันคน เดินทางมาสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมนำพืชผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกทดแทนฝิ่นมาทูลเกล้าฯถวาย และมอบให้สำนักพระราชวังนำไปประกอบอาหารเลี้ยงพสกนิกรท้องสนามหลวงที่มาถวายบังคมพระบรมศพด้วย

โปรดเกล้าฯศิริราช-มส.เจ้าภาพ

วันที่ 13 ธ.ค. ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นวันที่ 61 นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ

โดยเมื่อเวลา 07.00 น. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ และถวายภัตตาหารแด่พระพิธีธรรม 8 รูปจากวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร และวัดราชสิทธารามราชวรวิหาร ที่สวดพระอภิธรรมมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 12 ธ.ค. รวมถึงหน่วยงานที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ได้แก่ คณะแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ด้วย

ปนัดดา-สำนักนายกฯเจ้าภาพร่วม

ต่อมาเวลา 10.30 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานถวายภัตตาหารเพลแด่พระพิธีธรรม จำนวน 8 รูป จากวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่สวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ซึ่งมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นวันที่ 44 ที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้ตั้งแต่เวลา 08.00-21.00 น. (ยกเว้นช่วงมีพระราชพิธีบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) โดยมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศสวมชุดไว้ทุกข์สุภาพเรียบร้อยเดินทางมาสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกันนี้ สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. หลังสำนักพระราชวังปิดไม่ไห้ประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อขึ้นกราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 22.33 น. จากกำหนดเดิมเวลา 21.00 น. เนื่องจากยังมีประชาชนเข้าแถวรอเข้ากราบพระบรมศพในมณฑลพิธีท้องสนามหลวงเป็นจำนวนมาก ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 45,329 คน รวม 43 วัน มี 1,623,954 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นยอดเงิน 4,291,272.50 บาท รวม 43 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 124,922,863.75 บาท

คุณย่า 85 ขออยู่เห็นพระเมรุมาศ

นางน้อย ส่งศิริพร อายุ 85 ปี พสกนิกรที่เดินทางมาจาก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มาสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 เล่าย้อนให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมายังนครสวรรค์หลายครั้ง โดยตนได้มีโอกาสเฝ้าฯรับเสด็จ ในหลายๆ ครั้ง ซึ่งมีครั้งหนึ่งตนจำได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดา ตนยังจำได้ดี ตอนนั้นมีชาวนครสวรรค์มาเฝ้าฯรับเสด็จจำนวนมาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแย้มพระโอษฐ์ให้แก่ราษฎร และมีรับสั่งต่างๆ นานา สร้างความปีติแก่พวกเราชาวนครสวรรค์เป็นอย่างยิ่ง

นางน้อยกล่าวด้วยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ตนก็มาด้วยความคิดถึงพระองค์ท่าน อยากมากราบใกล้ๆ อยากเห็นพระบรมโกศ ได้เห็นแล้วก็ปลาบปลื้มและตื้นตันใจ สวยงาม สมพระเกียรติ ตนอายุมากแล้ว ได้มาถึงที่แห่งนี้ก็นับว่าเป็นบุญมาก ได้เห็นราชประเพณีโบราณ ซึ่งทำให้ตนนึกถึงว่าสมัยพ่อตนท่านเล่าให้ฟังว่าได้มากราบพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ 8 ตนในฐานะลูกก็ได้มา กราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และตนก็อยากจะเห็นพระเมรุมาศ แต่รู้ตัวว่าแก่แล้ว ไม่รู้อยู่ได้นานอีกเท่าไหร่ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็อยากมาเห็นสักครั้ง

อยู่ใกล้ตำหนักทักษิณฯสักการะ

นางถนอมศรี ขวัญนาคม วัย 56 ปี เดินทางมาจาก จ.นราธิวาส โดยเช่ารถตู้มาพร้อมกับญาติและเพื่อนบ้านรวม 13 คน เผยว่า ออกเดินทางมาตั้งแต่ตี 3 วันที่ 11 ธ.ค. แล้วมาพักที่บ้านญาติกระทั่งตี 4 วันนี้จึงมาต่อแถวเข้าสักการะพระบรมศพ และเข้ากราบสักการะประมาณ 9 โมงเช้าซึ่งถือว่าไม่นานนัก

นางถนอมศรีกล่าวด้วยว่า บ้านของพวกเราอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่ จ.นราธิวาส จึงมีโอกาสได้รับเสด็จหลายครั้ง ประทับใจพระองค์ท่านมากเพราะบ้านเราอยู่ไกลถึงใต้สุดของประเทศแต่พระองค์ท่านก็ไปถึงทุกตรอกซอกซอย วันนี้จึงตั้งใจจะมากราบพระองค์ท่านให้ได้ ตอนได้ขึ้นไปบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันจนน้ำตาไหล ความเหนื่อยหายไปจนหมดกลายเป็นความปลื้มปีติเข้ามาแทน พร้อมอธิษฐานขอให้พระองค์ไปสู่นิพพาน ส่วนตัวเองจะขอน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาใช้ตลอดไป โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำมาตลอดด้วยการปลูกผักปลอดสารเคมีไว้กินเอง

7 ชนเผ่า 5 จว.ถวายสักการะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันมีพสกนิกรจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาสักการะพระบรมศพ อย่างต่อเนื่อง โดยคณะโรงเรียนรุ่งอรุณ ย่านพระราม 2 กรุงเทพฯ ได้นำแม่ชีน้อยจำนวน 41 คน ในโครงการสามเณรน้อย-แม่ ชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข ถวายเป็นพระราชกุศล มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพ

ด้านนางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และท่องเที่ยวมูลนิธิโครงการหลวง ได้เปิดเผยว่า ได้นำคณะชาวเขาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณภายใต้โครงการหลวงจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน และจ.พะเยา รวม 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ปาหล่อง จีนยูนนาน ปกาเกอะญอ ลีซอ อาข่า และม้ง พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการหลวง 200 คน รวมทั้งสิ้น 1,741 คน เดินทางโดยรถบัสโดยสาร 31 คัน และรถตู้ 9 คัน รวมตัวกันออกเดินทางจาก จ.ลำปาง ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ของวันที่ 13 ธ.ค. ถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. และตั้งขบวนเพื่อเข้าสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลา 04.00 น.

โครงการหลวงเผยทรงป็นที่พึ่งพิง

นางพรนันทน์กล่าวด้วยว่า ชาวเขาทุกชนเผ่าทางภาคเหนือมีอยู่ 38 ดอย กว่า 1.7 แสนคน ทุกคนรู้สึกเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ที่ผ่านมาทุกชนเผ่าได้มีพิธีของแต่ละเผ่าเพื่อแสดงความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นที่รักยิ่งของทุกคน โดยมีคนสูงอายุจำนวนมากที่อยากเดินทางมา แต่ไม่สะดวกในการเดินทาง ครั้งนี้จึงเป็นตัวแทนชาวเขาที่สามารถเดินทางมาได้ มาด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระราชทานโครงการหลวง จนทำให้พวกเขามีอาชีพมั่นคงมีรายได้ จากการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่น โดยชาวเขาจะนำพืชผลจากแปลงของตนเองที่เป็นผลจากการส่งเสริมของโครงการหลวงมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เพื่อที่สํานักพระราชวังจะได้นําไปทําอาหารให้แก่ประชาชนที่มากราบสักการะพระบรมศพต่อไป

นายกฯขอให้จัดรำลึกร.9ตลอดไป

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้ปรารภในที่ประชุมครม.ถึงกรณีการจัดกิจกรรมปีใหม่ว่า ขณะนี้มีหลายภาคส่วนสนใจว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่จะจัดกิจกรรมอะไรได้บ้าง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงปีใหม่ควรจัดกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมทางศาสนา ที่ทุกศาสนาปฏิบัติร่วมกันได้เพื่อประโยชน์ของประเทศ อาทิ การสวดมนต์ การทำความดี หรือ จะเป็นกิจกรรมการทำสาธารณประโยชน์ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและส่วนรวม ส่วนกิจกรรมงานบันเทิงถ้าจะจัดขอให้เป็นกิจกรรมที่มีอัตลักษณ์แสดงถึงวัฒนธรรมของประเทศไทย และการจัดกิจกรรมต่างๆ นั้นต้องเน้นถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 รวมถึงเป็นการถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ด้วย

พ.อ.หญิงทักษดากล่าวว่า สืบเนื่องจาก พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานผลการจัดงานร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2559 ที่สะพานภูมิพล เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.เพื่อถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 นายกรัฐมนตรีจึงระบุว่าไม่อยากให้ลืมพระองค์ท่าน โดยมอบหลักการให้แต่ละกระทรวงมีกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึง จนกว่าจะถึงช่วงเวลาถวายพระเพลิงพระบรมศพ เช่น กิจกรรมสวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติต่างๆ และให้กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่กิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ในต่างประเทศด้วย

16พิพิธภัณฑ์จัดเฉลิมพระเกียรติ

พ.อ.หญิงทักษดาแถลงด้วยว่า ในที่ประชุมครม.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รายงานว่าคณะกรรมการบูรณาการงานด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ จัดโครงการ ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม เพื่อเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมยามค่ำคืนเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. 2559 (08.00-22.00 น.) โดยมีพิพิธภัณฑ์เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 16 พิพิธภัณฑ์ด้วยกัน ได้แก่ มิวเซียมสยาม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์เหรียญ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนสัตว์ดุสิต ท้องฟ้าจำลอง อนุสรณ์สถานแห่งชาติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ภาพวาด 3 มิติ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แหล่งเรียนรู้ 3 ศิลป์รัตนโกสินทร์และพิพิธภัณฑ์อาคารสุทธานภดม(มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) พิพิธภัณฑ์ตำรวจวังปารุสกวัน

ครูศิลปะมอบพระบรมสาทิสลักษณ์

วันเดียวกัน นายสนิท มณีรัตน์ ครูศิลปะ โรงเรียนปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมกลุ่มครูศิลป์ มอบพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กลุ่มครูศิลป์ร่วมกันวาดจากผืนผ้าลายเส้นสีทอง มอบให้นายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากช่อง เพื่อไว้เป็นที่รำลึก ภายในงานจุดเทียนถวายความอาลัยสถิตในดวงใจไทยนิรันดรสนามสวนสาธารณะเขาแคน เทศบาลเมืองปากช่อง

นายสนิทกล่าวว่า นำนักเรียนฝ่ายศิลป์ จำนวน 267 คน ทั้งหญิงและชาย ศิษย์เก่า มาร่วมกิจกรรมวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งเสด็จฯสถานีรถไฟปากช่อง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2498 รวมทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์เสด็จฯยังสถานที่ต่างๆ จำนวน 89 ภาพ เพื่อรำลึกพระมหากรุณาธิคุณแด่พระองค์ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล พร้อมทั้งการแสดงนิทรรศการกิจกรรมพระบรมสาทิสลักษณ์ เพื่อเป็นการรำลึก และให้พสกนิกรทั่วไปได้ชม หลังจากนี้จะนำพระบรมสาทิสลักษณ์ ไปจัดแสดงที่หอศิลป์ ภายในโรงเรียนปากช่อง รวมทั้งภาพเสด็จฯทรงประกอบพระราชกรณียกิจตามถิ่นต่างๆ กว่า 1,000 ภาพ จัดแสดงให้เข้าชมได้ตลอด

สำหรับนายสนิท มณีรัตน์ ได้รับคัดเลือกจากนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ให้เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของจังหวัดนครราชสีมาด้วย

สำนักนายกฯเจ้าภาพช่วงเย็น

เวลา 16.30 น. ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระพิธีธรรมจากวัดบวรนิเวศวิหารและวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร รวม 8 รูป สวดพระอภิธรรม ในการนี้มีมหาเถรสมาคม, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

เวลา 19.00 น. นายอนุสนธิ์ ชินวรรณโณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นประธานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระพิธีธรรม จากวัดอนงคารามวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร รวม 8 รูป สวดพระอภิธรรม ในการนี้มีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมเป็นเจ้าภาพพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

อาหารพระราชทานครบทั้ง 4 มื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่เต็นท์หน่วยแพทย์พระราชทานและอาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ที่ตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวงด้านทิศเหนือ ฝั่งศาลฎีกา มีหน่วยแพทย์และพยาบาลมาตั้งโต๊ะบริการดูแลรักษาตรวจโรคเบื้องต้น รวมถึงการปฐมพยาบาลอุบัติเหตุเล็กน้อย ให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. โดยจะมีให้บริการทุกวันกระทั่งครบ 100 วัน สำหรับวันนี้มีทีมแพทย์ พร้อมพยาบาล และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธและโรงพยาบาลตรัง รวม 18 คน มาคอยตรวจรักษาและให้บริการทางการแพทย์

ส่วนที่เต็นท์อาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ เยื้องกับพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติ โดยรวมอยู่ภายในศูนย์อาหารบริการประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราช ทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน ประกอบด้วย มื้อเช้าเวลา 07.00 น. ก๋วยเตี๋ยวหลอดทรงเครื่อง 1,500 ถ้วย, กาแฟสดบาเรสต้า 2,500 แก้ว, นมหนองโพ 2,000 กล่อง และน้ำดื่ม

มื้อกลางวันเวลา 11.00 น. กระเพาะปลา 1,000 ถ้วย, มักกะโรนีซอสหมู 1,000 จาน, ข้าวยำไก่แซ่บ 1,000 จาน และข้าวอบจักรพรรดิ 1,000 จาน ราดหน้าหมูนุ่ม 4,000 จาน มื้อบ่ายเวลา 16.00 น. ขนมไทย 1,000 กล่อง, ขนมว่าง 1,000 กล่อง,เฉาก๊วยชากังราว 1,000 ถุง, มื้อเย็นเวลา 18.00 น. ปลาทะเลผัดพริกขิง 1,000 จาน, ปลาทะเลผัดขิง 1,000 จาน ไก่ทอด-หมูทอดสมุนไพร 1,000 จาน และน้ำดื่มจิตรลดาและน้ำสมุนไพร 700 ลิตรให้บริการประชาชนตลอดทั้งวัน

ปลื้มทุกส่วนร่วมทำจดหมายเหตุ

น.ส.นันทกา พลชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้บันทึก จดหมาย เหตุแห่งชาติ เนื่องในงานพระบรมศพใน ทุกวัน และได้มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ช่างภาพอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพและบันทึกเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการบันทึก ทั้งยังจะมีความสมบูรณ์ในทุกเหตุการณ์ สำหรับภาพที่ส่งมาที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ขอให้เป็นภาพเหตุการณ์จริงเป็นหลัก และระบุบข้อมูลของเหตุการณ์ และข้อมูลของผู้ถ่ายภาพ

นอกจากการบันทึกจดหมายเหตุฉบับประชาชนที่มีการจัดทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีจดหมายเหตุที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของ การเตรียมการโดยได้นำต้นแบบการบันทึกจดหมายเหตุงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 มาเป็นต้นแบบ

ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่าขณะนี้มีช่างภาพที่จะบันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทั้งหมด 480 คน ทั้งนี้มีจำนวนภาพส่งเข้ามายังกระทรวงวัฒนธรรมกว่า 40,000 ภาพ และได้จัดส่งภาพจำนวนดังกล่าวให้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกภาพเพื่อใช้ในการจัดทำจดหมายเหตุและได้คัดเลือกภาพถ่ายจากจำนวนดังกล่าวมาจัดนิทรรศการ “ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” และได้นำภาพไปจัดแสดงตามภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งในต่างประเทศ

โปรดเกล้าฯตั้งเพิ่ม 2 องคมนตรี

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่าตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 6 ธ.ค. 2559 แล้วนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควร แต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 12 และมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายวิรัช ชินวินิจกุล เป็น องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต เป็น องคมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศวันที่ 12 ธ.ค. 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

‘ขวัญชัย’ไม่เข้าข่ายอภัยโทษ

รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ สำหรับนายชูวิทย์ กมล วิศิษฎ์ พร้อมด้วย พ.ท.หิมาลัย ผิวพรรณ และ พ.ต.ธัญเทพ ธรรมธร ผู้ต้องขังในคดีรื้อบาร์เบียร์ ที่ต้องโทษจำคุกคนละ 2 ปี ทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำในล็อตแรก เนื่องจากเหลือโทษจำคุกไม่นาน โดยนายชูวิทย์เหลือโทษจำคุก 6 เดือน พ.ต.ธัญเทพ เหลือ 26 วัน ซึ่งนับจากการได้ลดวันต้องโทษในครั้งนี้แล้ว ทั้งนี้ สำหรับผู้ต้องขังในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เช่น นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ เนื่องจากยังเป็นผู้ต้องขังชั้นกลาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน