อย.ยัน ‘ยาปลุกเซ็กซ์’ ไม่มีจริง ไร้การรับรอง ชี้ผู้ใดขายมีโทษจำคุก โฆษณาทำเข้าใจผิดโทษปรับสูง 1 แสน

ยาปลุกเซ็กซ์ไม่มีจริง / เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แถลงข่าวกรณีมีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ว่า มีการขายยาปลุกอารมณ์ทางเพศทางออนไลน์ที่มีการแอบอ้างว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองจาก อย.และมีการแชร์โฆษณาออกไปเป็นจำนวนมากว่า

จากการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีการจำหน่ายยาปลุกเซ็กซ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ทั้งนี้ อย.ขอชี้แจงว่า ยาที่อวดอ้างว่าหากรับประทานไปแล้วจะมีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นยาที่ชื่อว่า Girly Sex ขอยืนยันว่า อย.ไม่เคยขึ้นทะเบียนยาตำรับใดๆ ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

เพราะปัจจุบันไม่มียาที่ออกฤทธิ์ดังกล่าวได้ การอวดอ้างนี้จึงเกินจริง และยาไม่สามารถโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต หรือขายทั่วไปได้ ยกเว้นร้านยาที่มีการควบคุม และยากลุ่มนี้ก็ห้ามขาย เพราะไม่ได้รับการรับรอง ส่วนที่ผู้ขายนำไปอ้างนั้น เป็นใบเสียภาษีนำเข้าสินค้าที่ออกโดยกรมศุลกากรมาแสดง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผ่านการตรวจมาตรฐานจาก อย.ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใดนั้น

การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นี้ เข้าข่ายเป็น “ยา” ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ตามมาตรา 4 (4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผล แก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ดังนั้น ผู้นำเข้า/ ขาย มีความผิด ฐานนำเข้า/ ขายซึ่งยาที่ไม่ได้ ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาขายยาที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท” นพ.สุรโชค กล่าว

นพ.สุรโชค ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้การกระทำผิดดังกล่าวยังเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 อีกด้วย ซึ่ง อย. ได้ประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอความร่วมมือในการระงับซึ่ง การเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์และ Social Media ดังกล่าวด้วยแล้ว

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น และหากต้องการโฆษณาขายยาต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งกฎหมายยังกำหนดประเภทของยาไว้ชัดเจน เช่น ห้ามโฆษณาขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การขายยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยกเว้นเฉพาะ การขายยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จึงต้องมีเภสัชกรประจำร้าน ในการซักถามประวัติ การแพ้ยา เป็นต้น จึงขอเตือนประชาชนว่า ยามีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต หรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน