ทลายแก๊งเงินกู้เครือข่ายใหญ่ ยึดทรัพย์สินได้กว่า 150 ล้านบาท ดีเอสไอสั่งอายัดรถหรู-มอเตอร์ไซค์อีกนับร้อยคัน เปิดตู้เซฟ 2 ตู้พบเงินสด-ทองคำ-พระเครื่องอื้อ แฉมีลูกหนี้ทั่วประเทศถึง 1.7 แสนราย ยอดเงินหมุนเวียนกว่า 4 พันล้านบาท คิดดอกเบี้ยวันละ 20-25 บาท พร้อมเครือข่ายลูกน้องกว่า 3 พันคน แถมมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปช่วยเคลียร์คดีบังคับจ่ายหนี้ สาวพบเสี่ยใหญ่ในปทุมธานีเป็นหัวหน้าใหญ่ เดินทางไปต่างประเทศก่อนที่จะบุกค้นแค่ 1 วัน เตรียมสอบขยายผลเอาผิดทั้งขบวนการ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ธ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยพ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ และพล.ต.ต. ถาวร ขาวสอาด ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี พ.ต.อ. วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 รักษาพระองค์ฯ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ร่วมกันแถลงผลบุกค้นจับกุมกลุ่มขบวนการปล่อยหนี้นอกระบบรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเครือข่าย ผู้ร่วมขบวนการการกระทำความผิดมากกว่า 2,000 ราย และมีประชาชนที่เป็นลูกหนี้ประมาณ 170,000 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดกว่า 150 ล้านบาท

พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าวว่า การตรวจค้นจับกุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย คือ นายไชยวุฒิ วิวัฒนอารีกุล ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านไอที และดูแลระบบการจัดเก็บเงินกู้ที่เชื่อมโยงทั้งส่วนกลางและภูมิภาค อีกทั้ง จากการจับกุมผู้ต้องหารายดังกล่าว สามารถสอบสวนขยายผลไปยังตัวการสำคัญได้อีกหลายราย ส่วนผู้ต้องหาอีกราย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่อยู่ระดับบนสุดที่เจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนสอบสวนไปถึง คือ นายวิชัย ปั้นงาม ซึ่งเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัวเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจค้นที่บ้านพักภายในหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. สำหรับการเดินทางไปดังกล่าว ตรวจสอบพบว่านายวิชัยได้มีการจองตั๋วเครื่องบินไว้ล่วงหน้าแล้ว คาดว่าไม่ได้เป็นการรู้ล่วงหน้าว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจค้น ซึ่งจะดำเนินการติดตามตัวและออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายดังกล่าวทั่วประเทศ กว่า 2,000-3,000 คนต่อไป

พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าวต่อว่า สำหรับขบวนการดังกล่าวรู้จักกันดีในชื่อแก๊งหมวกกันน็อก ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้รับการแจ้งเบาะแสทั้งการข่าวเปิดและทางลับ จึงได้สั่งการให้ดีเอสไอไปดำเนินการ โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาสืบสวนนานกว่า 2 ปี แต่จากการสืบสวนพบข้อมูลย้อนหลังของเครือข่ายดังกล่าว เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 มีเครือข่ายสาขาย่อย 86 สาขาทั่วประเทศ และมีเงินหมุนเวียนในเครือข่ายกว่า 4,000 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ดีเอสไอได้มีมติเห็นชอบให้กรณีขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นคดีพิเศษ โดยขบวนการดังกล่าวมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 20 ต่อ 25 วัน ดอกเบี้ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 300 หากใครตกเป็นเหยื่อโอกาสในการหลุดออกมาจากวงจรทำได้ยากมาก ทั้งนี้ เรากำลังดำเนินการหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเอาผิด หากผู้เสียหายหรือลูกหนี้ให้ขอนำข้อมูลมาให้กับทางดีเอสไอ หากนำไปสู่การจับกุมจะมีรางวัลนำจับให้ด้วย

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า คดีดังกล่าว เราจะต้องดำเนินการกับผู้ที่ยังคงเก็บเงินอยู่ ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดังกล่าว หากมีพยานหลักฐานก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้นพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกว่า 1,000 ราย โดยพฤติการณ์จะทำหน้าที่เข้าไปไกล่เกลี่ย โดยใช้อำนาจบังคับลูกหนี้ให้จ่ายเงิน แต่ยังไม่มีรายละเอียดการได้รับเงินค่าดำเนินการในส่วน ดังกล่าวว่าได้จำนวนเท่าไร แต่ตรวจสอบทราบจากหมายเลขโทรศัพท์และตัวเจ้าหน้าที่แล้ว ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เราจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และปปง. เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเครือข่ายนี้ รวมถึงหาแนวทางในการเยียวยาให้กลุ่มลูกหนี้ด้วย

พ.ต.ต.สุริยากล่าวว่า สำหรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ได้บูรณาการกับหลายฝ่ายจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ ซึ่งได้รับข้อมูลทั้งทางการข่าว และการใช้กฎหมายพิเศษของดีเอสไอในการหาข้อมูล ซึ่งพบว่าเครือข่ายดังกล่าวเป็นรายใหญ่ของประเทศ และจากการตรวจสอบยังพบว่ามีการปกปิดแอบเปิดบริษัทประกอบกิจการอื่นๆ บังหน้า บางบริษัทก็ปิดกิจการไปแล้ว และบางบริษัทก็จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ประกอบกิจการตามที่ระบุไว้ อีกทั้งยังพบว่ามีองค์กรต่างๆ ในการสนับสนุน ทั้งกลุ่มไอที กฎหมาย และผู้มีอิทธิพล โดยมีส่วนกลางในการควบคุมขยายไปทั่วประเทศ

พ.ต.ต.สุริยากล่าวต่อว่า ปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นเป้าหมายสถานที่และการเข้าจับกุม ผู้ต้องหามีทั้งหมด 26 จุด ทั้งในพื้นที่จ.ปทุม ธานี, เชียงใหม่, สงขลา และขอนแก่น สามารถยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ได้แก่ รถยนต์ 26 คัน, จักรยานยนต์ 86 คัน, ตู้นิรภัย 14 ตู้, ธนบัตรไทยและสกุลเงินต่างประเทศ, อุปกรณ์สื่อสาร และของมีค่าอีกหลายรายการ รวมถึงอายัดบัญชีเงินฝาก 28 เล่ม, อาวุธปืน 4 กระบอก, ลูกกระสุนปืน 309 นัด โฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5 แปลง รวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังการแถลงข่าวดังกล่าว พ.ต.อ.ดุษฎี และพ.ต.อ.ไพสิฐ ได้ให้เจ้าหน้าที่เปิดตู้เซฟของกลางที่ยึดได้ในวันที่เข้าตรวจค้น 2 ตู้ พบเงินสดรวมกันนับล้านบาท พร้อมเอกสารหลักฐาน อาวุธปืนและเครื่องกระสุน รวมถึงพระเครื่อง และผ้ายันต์ของพระพรหมมังคลาจารย์หรือเจ้าคุณธงชัย สโมสร เลสเตอร์ซิตี้ด้วย จากนั้นได้พาสื่อไปดูรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เป็นของกลาง ซึ่งดีเอสไอได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่บริเวณด้านหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน