“ดีเอสไอ” เร่งสอบ “เจ้าหน้าที่รัฐ” นับพันชื่อ เอี่ยวแก๊งปล่อยเงินกู้เถื่อนรายใหญ่สุดของประเทศหลังมีข้อมูลเข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเคลียร์คดี-บังคับจ่ายหนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุ หากพยานหลักฐานเกี่ยวพันเชื่อมโยงก็ต้องดำเนินคดี ขณะที่เลขาฯ ป.ป.ท.ชี้หาก ดีเอสไอส่งเรื่องมาให้ก็พร้อมดำเนินการตรวจสอบทันที ส่วนรองปลัดยุติธรรมเผย เสี่ยวิชัยติดต่อขอมอบตัวแล้ว ส่งทนายแจ้งพนักงานสอบสวนให้ไปรับตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจค้นจับกุมกลุ่มขบวนการปล่อยหนี้นอกระบบรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการกระทำความผิดมากกว่า 2,000 ราย และมีประชาชนที่เป็นลูกหนี้ประมาณ 170,000 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดกว่า 150 ล้านบาท และจากข้อมูลยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอีกกว่า 1,000 คน
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพราะบางคนเป็นชื่อเล่น หรือชื่อที่ในวงการเรียกขานกัน เช่น จ่าดำ จ่าแดง ตามที่ชาวบ้านเรียก แต่บางครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะเป็นเจ้าหน้าที่จริง ซึ่งบางคนอาจจะเคยเกณฑ์ทหารหรือเคยรับราชการมานานมากแล้ว ดังนั้น ทุกอย่างต้องตรวจสอบให้แน่ชัด หากพยานหลักฐานเกี่ยวพันเชื่อมโยงก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ออกมา ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งโทรศัพท์มาเจรจาเรื่องการดำเนินคดีกับนายวิชัย ปั้นงาม นั้นดีเอสไอมีข้อมูลส่วนนี้หรือไม่ พ.ต.อ. ไพสิฐกล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลส่วนนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ กำลังตรวจสอบข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ที่ได้จากการตรวจค้นจับกุม เพื่อดูว่าแต่ละบริษัทที่เครือข่ายนี้มีการเปิดประกอบกิจการอื่นๆ บังหน้าอะไรบ้าง รวมทั้งมีหัวหน้าสาย คู่สาย และฝ่ายดูแลบัญชีการเงินเป็นใครบ้าง ก่อนจะนำไปสู่การออกหมายจับต่อไป ซึ่งจากการตรวจสอบเซิร์ฟเวอร์เบื้องต้นพบว่ามีการตั้งยูสเซอร์เนมและรหัสเพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบ และยังมีการจัดทำเป็นตารางเพื่อรายงานผลการทวงหนี้แต่ละวันของแต่ละสำนักงาน หรือภาษาในวงการเรียก “ออฟฟิศ” สามารถเก็บเงินได้เท่าไหร่ และลูกหนี้คนไหนยังไม่ได้จ่ายให้ตามสัญญาบ้าง ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะมีการอัพเดตวันต่อวัน เพื่อส่งต่อมายังศูนย์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกำลังไล่ตรวจสอบไฟล์ข้อมูล ที่ได้จากการจากตรวจยึดโดยพบว่า มีประมาณ 500,000 ไฟล์ นอกจากนี้จะเร่งดำเนินการปูพรมสนธิกำลังตรวจค้นเป้าหมายและสาขาที่เหลือของขบวนการปล่อยเงินกู้

วันเดียวกัน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ป.ป.ท.ยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลจากดีเอสไอ แต่ถ้าดีเอสไอมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วอยากให้ป.ป.ท.เข้าไปดำเนินการตรวจสอบในกลุ่มของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็ขอให้ส่งข้อมูลทั้งหมดมาได้ทันที ซึ่งป.ป.ท.พร้อมที่จะดำเนินการตรวจสอบ

นายประยงค์กล่าวต่อว่า หากได้รับข้อมูลแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดูว่าพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเข้าไปกระทำความผิดหรือไม่ และยังต้องดูด้วยว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ท.หรือไม่ หากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป แต่ถ้าพบว่ามีมูลความผิดจริงและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ท. ตามขั้นตอนแล้วก็จะต้องเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการอีกครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการป.ป.ท.สั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบต่อไป

นายประยงค์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้เรายังไม่ได้ทราบข้อมูล อีกทั้ง ดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่อยู่ในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สามารถประสานข้อมูลผ่านทางนี้ก็ได้ ตนรู้สึกกังวลกับตัวเลขกว่า 1,000 รายชื่อ ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐต้องดูแลประชาชน แต่กลับไปรังแกประชาชนอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

ขณะที่ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานจากพนักงานสอบสวนว่า นายวิชัย ปั้นงาม ผู้ต้องหาแก๊งเงินกู้นอกระบบ ได้ติดต่อพนักงานสอบสวนเพื่อขอมอบตัวแล้ว โดยให้ทนายความทำหนังสือประสานมา พร้อมทั้งให้พนักงานสอบสวนจัดเจ้าหน้าที่ไปรับตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากขณะนี้นายวิชัยอยู่ระหว่างการเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกว่า 1,000 รายนั้น ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ตนจะนำข้อมูลและรายชื่อดังกล่าวส่งให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอต.) เพื่อจะได้รับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ศอตช.ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน